ข้อคิดสําหรับรัฐบาลใหม่เรื่อง เศรษฐกิจและความเชื่อมั่น | บัณฑิต นิจถาวร

ข้อคิดสําหรับรัฐบาลใหม่เรื่อง เศรษฐกิจและความเชื่อมั่น | บัณฑิต นิจถาวร

รัฐบาลใหม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ถือเป็นข่าวดีสำหรับตลาดการเงิน เพราะประเทศจําเป็นต้องมีรัฐบาลเข้ามาบริหาร ปล่อยให้ว่างเว้นไม่ได้

แม้บางส่วนจะกังขากับความเหมาะสมของผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลใหม่ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่มองเลยเรื่องนี้ไปแล้ว เห็นได้จากตลาดหุ้นที่ปรับสูงขึ้นเหนือระดับ 1400

มุ่งไปที่ผลงานและสิ่งที่รัฐบาลใหม่จะทําในแง่นโยบายเศรษฐกิจว่า จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้หรือไม่ และนโยบายจะอยู่ในร่องในรอยที่จะรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนหรือไม่

วันนี้จึงอยากฝากข้อคิดถึงรัฐบาลใหม่ในประเด็นเหล่านี้ คือสิ่งที่รัฐบาลควรทําเพื่อแก้ปัญหาและรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

เศรษฐกิจประเทศขณะนี้ค่อนข้างแย่ในสายตาคนส่วนใหญ่ คนในประเทศไม่มีรายได้หรือกำลังซื้อเพียงพอ ทําให้ธุรกิจจํานวนมากซบเซาและประชาชนทํามาหากินลำบาก

สาเหตุเรื่องนี้มาจากความผิดพลาดของนโยบายในอดีตที่ไม่เน้นให้เกิดการลงทุนทั้งโดยภาครัฐและเอกชน ไม่เน้นการแข่งขัน ไม่ผลักดันให้ธุรกิจในประเทศปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกเพื่อสร้างความสามารถใหม่และโอกาสให้กับเศรษฐกิจ

เน้นแต่การทำซํ้าในสิ่งที่มีอยู่เดิม นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยม และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยใช้ทรัพยากรภาครัฐ

ผลคือ เศรษฐกิจไม่ไปไหน ความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ดีขึ้น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ตํ่าสุดในภูมิภาค การแก้ปัญหาถูกละเลย ไม่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจ เปิดพื้นที่ให้สิ่งที่ไม่ดีต่อเศรษฐกิจงอกเงย

เช่น การทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งผิดกฎหมายที่มากับธุรกิจสีเทา และระบบอุปถัมภ์ทั้งในภาคการเมือง ระบบราชการ และภาคธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ซํ้าเติมความตกตํ่าของประเทศ และเมื่อการเมืองของประเทศมุ่งแต่การแย่งชิงอำนาจและใช้อำนาจหาประโยชน์ การแก้ปัญหาที่ควรเกิดขึ้นก็ยิ่งถูกละเลย

นักลงทุนเข้าใจสถานการณ์เหล่านี้เป็นอย่างดี แต่ก็หวังว่าหลายๆอย่างอาจเริ่มดีขึ้น เพราะทุกการเปลี่ยนแปลง เช่น มีรัฐบาลใหม่ ก็เป็นโอกาสที่อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีเกิดขึ้น

ที่มองแบบนี้เพราะนักลงทุนจํานวนมากไม่ได้มองการเมืองไทยแบบที่คนไทยมอง แต่มั่นใจในศักยภาพระยะยาวของประเทศไทยและเศรษฐกิจ พิจารณาจากที่ตั้งของประเทศ ผลงานที่เป็นที่รับรู้ของความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศในอดีต และพื้นฐานที่เข้มแข็งของปัจจัยทางสังคม

มองว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจและความวุ่นวายทางการเมืองที่มีขณะนี้ เป็นเรื่องของยุคสมัยที่คนในเจเนอเรชันที่ประสบความสำเร็จในอดีตยังไม่ยอมรับการเปลี่ยนผ่านตามเวลา ทําให้ประเทศมีข้อจํากัดมากที่จะปรับตัว

การเปลี่ยนแปลงจึงเกิดขึ้นช้าแม้ศักยภาพของประเทศจะมีมาก แต่บทบาทคนเหล่านี้ก็จะลดลงตามเวลา และเมื่อเวลานั้นมาถึง ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง เศรษฐกิจไทยและประเทศไทยก็จะพุ่งทะยานอย่างที่ควรจะเป็น

ในลักษณะนี้ รัฐบาลใหม่จึงควรใช้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คือการเปลี่ยนรัฐบาล เป็นโอกาสที่จะทําอะไรให้แตกต่างเพื่อให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกําลังเริ่มขึ้นโดยนักการเมืองรุ่นใหม่

และยิ่งสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ยากและความสามารถของบุคลากรในรัฐบาลถูกตั้งคำถาม การคาดหวังเกี่ยวกับผลงานและความสามารถของรัฐบาลในการแก้ปัญหาและบริหารเศรษฐกิจจึงต่ำ

ทําให้เป็นจังหวะที่ดีที่รัฐบาลจะมุ่งหน้าทำงานเต็มที่ ใช้วิกฤติเป็นโอกาส ที่จะแสดงฝีมือเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนและสร้างการยอมรับจากประชาชนและสังคม

ในบริบทนี้ ผมมีข้อคิดเห็นสามข้อในสิ่งที่รัฐบาลควรทําที่อยากฝากไว้เป็นข้อแนะนํา

หนึ่ง รัฐบาลควรทุ่มทรัพยากรเต็มที่ให้กับการแก้ปัญหานํ้าท่วมขณะนี้ทันทีโดยเฉพาะช่วงสองเดือนข้างหน้าที่สถานการณ์จะรุนแรงขึ้น เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนและผลกระทบที่จะมีต่อเศรษฐกิจ

มองสถานการณ์น้ำท่วมเป็นโอกาสที่รัฐบาลทั้งคณะจะแสดงฝีมือในการบริหารจัดการปัญหาให้ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นโดยทําจริงจัง ทําอย่างทั่วถึง และทําด้วยความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นไม่เสแสร้ง

ซึ่งถ้าทําได้ การแก้สถานการณ์น้ำท่วมสามารถทำได้อย่างสำเร็จ อันนี้จะเป็นควิกวินที่รัฐบาลจะได้ใจจากประชาชนทั้งประเทศว่าเป็นรัฐบาลที่พึ่งได้ นําไปสู่การยอมรับและศรัทธาจากประชาชน

สอง รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีควรแสดงปาฐกถาพิเศษเรื่องเศรษฐกิจให้นักลงทุนเข้าใจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเนื้อหาควรสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า

(1) รัฐบาลเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างดีและพร้อมที่จะทํานโยบายที่แตกต่างเพื่อแก้ปัญหา ไม่ใช่ต่อยอดหรือเป็นเชลยกับแนวคิดหรือนโยบายเดิมๆ

(2) รัฐบาลจะยึดถือและรักษาวินัยทางการคลังในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ และหลีกเลี่ยงมาตรการที่จะบั่นทอนความเชื่อมั่นและสร้างปัญหาเพิ่มเติมให้กับประเทศ เช่น ทําสิ่งที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น การพนัน สิ่งเสพติด และการถือครองที่ดินโดยชาวต่างชาติ

(3) ประกาศให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกําลังเกิดขึ้น เช่น คณะรัฐมนตรีมีมติที่จะเริ่มใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีร้อยเปอร์เซนต์ในหน่วยราชการที่ติดต่อตรงกับภาคธุรกิจและประชาชนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดโอกาสการทุจริตคอร์รัปชัน

สาม รัฐบาลควรแสดงให้เห็นถึงภาวะผู้นําที่แตกต่าง ในสายตานักลงทุน การเมืองแบบครอบครัวไม่ไช่ประเด็นเพราะสะท้อนพลวัตของสังคมสูงวัยในโลกที่นักการเมืองรุ่นลูกเข้ามามีบทบาทแทนนักการเมืองรุ่นพ่อ ซึ่งมีให้เห็นในหลายประเทศรวมทั้งในเอเชีย เช่น สิงคไปร์ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย

แต่สิ่งที่นักลงทุนอยากเห็นคือ ภาวะผู้นําโดยคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างที่เป็นตัวของตัวเอง มีอิสระทางความคิด มีนโยบายและวิธีการทํางานที่แตกต่างและทันสมัยที่นําประเทศไปสู่ความสําเร็จ ซึ่งมีตัวอย่างความสำเร็จมากมายให้เห็นโดยผู้นํารุ่นใหม่ไม่ว่าจะเป็น

นายกรัฐมนตรี จัสทีน ทรูโด ของ แคนาดาในเรื่องความโปร่งใสในการสั่งงาน

ประธานาธิบดี มาคอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ ในเรื่องความเป็นตัวของตัวเอง รอบคอบ ไม่ยอมผ่านอะไรง่ายๆ ในที่ประชุม ครม. 

จาซินด้า อาเดน อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ ที่ทุ่มเทและทํางานด้วยใจเพื่อประเทศ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลใหม่สามารถแสดงให้เห็น

ทั้งหมดนี้คือโอกาสที่รออยู่ ที่จะทําให้รัฐบาลใหม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนและมีความยั่งยืน แต่ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่มี เป็นการเมืองแบบเก่าที่รัฐมนตรีมาเพียงนั่งร้านแทนบิดามารดาหรือพี่น้องที่มีปัญหา หรือเข้ามาทําหน้าที่เพียงอยากได้ตำแหน่ง

ประชาชนก็จะเข้าใจชัดเจนว่า คนเหล่านี้ไม่ไช่คนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงแม้จะอายุน้อย และพร้อมจะรอต่อไปจนกว่าเวลานั้นจะมาถึง

ข้อคิดสําหรับรัฐบาลใหม่เรื่อง เศรษฐกิจและความเชื่อมั่น | บัณฑิต นิจถาวร

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]