‘พิชัย’ หวังเห็น กนง.หั่นดอกเบี้ยปีนี้ 0.5% แนะปรับกรอบเงินเฟ้อเป็น 2 – 3%
‘พิชัย’ หวังเห็น กนง.หั่นดอกเบี้ยปีนี้ 0.5% แนะปรับกรอบเงินเฟ้อเป็น 2 – 3% หนุนเศรษฐกิจโต เชื่อหากปรับเงินเฟ้อจะทำให้มีการอีดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเพิ่ม แนะวางข้อกำหนดกฎหมายให้ ธปท.ไปรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่สภาฯตอบคำถาม สส.-สว.เหมือน FED ในสหรัฐฯ
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันนี้ (16 ต.ค.) ว่าตนเองได้พูดมาตลอดว่าอยากเห็นการลดดอกเบี้ยนโยบายลงโดยอยากให้มีการปรับลดดอกเบี้ยลงในการประชุม กนง.ที่เหลืออีก 2 ครั้งในปีนี้ลง 0.5% โดยอาจเป็นการลดลงในครั้งนี้ (16 ต.ค.2567) 0.25% และอีกครั้งในช่วงปลายปีควรลดอีก 0.25%
ทั้งนี้การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายถือว่าเป็นสิ่งที่ธนาคารกลางเข้ามาช่วยดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งธนาคารกลางทั่วโลกก็ต้องมีบทบาทในเรื่องนี้ จะเห็นว่าเมื่อเศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา หรือมีการเติบโตต่ำกว่าที่ควรจะเป็นธนาคารกลางของประเทศต่างๆจะเข้ามาช่วยอัดฉีดมาตรการในการดูแล เช่น ธนาคารกลางของจีนได้มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบเพิ่มอรก 2 ล้านล้านหยวน ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังเติบโตได้ถึง 4% ขณะที่เศรษฐกิจไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้แค่ 1% เศษๆเท่านั้น
ขณะที่ในปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบกับภาคส่งออก ก็เหมือนกับการที่กระทรวงพาณิชย์ที่ผลักดันเรื่องการส่งออกเหมือนกับถูกเตะสกัดขา เพราะเงินบาทที่แข็งค่าทำให้กระทบกับรายได้จากการส่งออก
“จะเห็นผู้ว่าแบงก์ชาติคนนี้เข้ามาเศรษฐกิจไทยโดยรวมยังไม่ขยายตัวเลย เพราะว่าในปี 2563 เศรษฐกิจไทยเจอโควิด-19 เศรษฐกิจติดลบไป 6.1% แต่ปีต่อมาขยายตัวได้ 1.5% ปี 2565 ขยายตัวได้ 2.6% และปี 66 ขยายตัวได้ 1.8% โดยรวมแล้วเศรษฐกิจไทยยังไม่ถือว่าขยายตัวจากช่วงก่อนโควิดเลย ซึ่งข้อมูลแบบนี้แบงก์ชาติก็ต้องทราบข้อมูลและต้องหาทางมาช่วยกันให้เศรษฐกิจดีขึ้นดีกว่า”
สำหรับเรื่องของกรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสมนั้นนายพิชัย กล่าวว่าควรอยู่ที่ประมาณ 2-3% จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1-3% ซึ่งความหมายก็คือหากมีการกำหนดกรอบเงินเฟ้อที่แคบขึ้นก็จะทำให้ต้องมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจก็จะมากขึ้นซึ่งมีผลดีต่อเศรษฐกิจด้วย
นายพิชัยกล่าวด้วยว่าอยากเสนอแนะว่าให้มีข้อกำหนดให้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีหน้าที่ต้องไปแถลงตัวเลขเศรษฐกิจ และตอบคำถามเรื่องเศรษฐกิจที่รัฐสภา เหมือนกับที่ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ต้องมารายงานให้รัฐสภาทราบ และเปิดโอกาสให้ สส.และ สว.ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนได้มีการซักถามแนวคิดและการตัดสินใจต่างๆของธปท.ซึ่งมองว่าหากมีข้อกำหนดแบบนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นการที่การเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของธปท.แต่อย่างใด เพราะคนที่ถามถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชน