คําแนะนำนโยบายเศรษฐกิจล่าสุดจากไอเอ็มเอฟ
เดือนที่แล้ว ทีมจากไอเอ็มเอฟได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจําปี ในฐานะไทยเป็นประเทศสมาชิกและเผยแพร่บทสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับเศรษฐกิจรวมถึงคําแนะนําด้านนโยบาย ซึ่งน่าสนใจมาก
วันนี้จึงขอสรุปความเห็นของทีมไอเอ็มเอฟให้แฟนคอลัมน์ "เศรษฐศาสตร์บัณฑิต" ทราบ รวมถึงความเห็นของผมต่อนโยบายที่ไอเอ็มเอฟแนะนํา นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
ทีมไอเอ็มเอฟมาเยือนประเทศไทยช่วงวันที่ 11-26 พฤศจิกายนเพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยประจําปีตามพันธกิจที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ และได้พบปะหารือกับบุคคลในหลายวงการทั้งในภาคราชการ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลและความเห็นที่ครบถ้วน
ความเห็นของไอเอ็มเอฟและคําแนะนําด้านนโยบายสรุปได้ดังนี้
หนึ่ง เศรษฐกิจไทยกําลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ขยายตัวร้อยละ 2.7 ปีนี้และร้อยละ 2.9 ปีหน้า โดยปัจจัยขับเคลื่อนคือการบริโภคภาคเอกชนที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการลงทุนของรัฐบาลตามงบประมาณรายจ่ายปี 2568
สําหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้น ได้ประโยชน์จากการลงทุนของภาครัฐและเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ทําให้อัตราเงินเฟ้อจะขยับเข้าสู่เป้าของธนาคารแห่งประเทศไทยสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนมีมากและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจเป็นด้านลบ ได้แก่ ความตึงเครียดในการค้าโลก อัตราดอกเบี้ยโลกที่อาจยืนในระดับสูง และหนี้ภาคเอกชนในประเทศที่อาจสร้างปัญหาหนี้เสียที่กระทบอุปทานสินเชื่อและการเติบโตของเศรษฐกิจ
สอง ในภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว โฟกัสของนโยบายควรมุ่งไปที่การสร้างพื้นที่นโยบายโดยลดการใช้จ่ายด้านการคลัง (Fiscal consolidation) และลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
การลดการใช้จ่ายคือลดขนาดการใช้จ่ายเทียบกับวงเงินที่ระบุไว้ในงบประมาณ หรือเปลี่ยนประเภทการใช้เงินจากเงินโอนให้บุคคล (Cash Transfer) มาเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ หรือปฏิรูประบบช่วยเหลือทางสังคมเพื่อให้ผู้ด้อยโอกาสได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่กําลังฟื้นตัว
และในงบประมาณปีหน้า รัฐควรเริ่มลดขนาดการขาดดุลการคลังเพื่อลดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และเพื่อเตรียมพื้นที่นโยบายให้กับการดูแลปัญหาสังคมสูงวัยและภาวะโลกร้อน
สาม เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับสู่การขยายตัวตามศักยภาพ การปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังเป็นสิ่งที่จําเป็นและต้องทํา เพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ
การปฏิรูปควรใช้ประโยชน์ (Leverage) ดิจิทัลเทคโนโลยีและสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่จําเป็นให้กับประเทศ ยกระดับทักษะของกําลังแรงงาน สร้างธรรมาภิบาลให้เข้มแข็ง กระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และดูแลครัวเรือนที่อ่อนแออย่างเพียงพอเพื่อให้สามารถปรับตัวได้กับผลกระทบต่างๆ เพื่อลดที่มาหรือเหตุของความเป็นหนี้ของครัวเรือน
นี่คือข้อสรุปและคําแนะนําอย่างคร่าวๆ ของทีมไอเอ็มเอฟเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยขณะนี้ ซึ่งผมเห็นด้วย และหลายประเด็นที่ไอเอ็มเอฟพูดถึงก็เป็นสิ่งที่ผมเคยให้ความเห็นไว้ในลักษณะเดียวกันในคอลัมน์นี้
ในความเห็นของผม การประเมินของทีมไอเอ็มเอฟตอกยํ้าว่าเศรษฐกิจไทยจะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรการขยายตัวในอัตราที่ตํ่าต่อไป คือเติบโตร้อยละ 2-3 ต่อปี ไม่พุ่งทะยานไปสู่การขยายตัวในระดับที่สูงตามศักยภาพ ถ้าการปฏิรูปเศรษฐกิจซึ่งจําเป็นต่อการเพิ่มผลิตภาพการผลิต ความสามารถในการหารายได้ และความสามารถในการแข่งขัน ไม่เกิดขึ้น ซึ่งน่าเสียดายมาก
เพราะคนส่วนใหญ่ของประเทศจะเสียโอกาสที่จะมีรายได้ที่สูงขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตรงกันข้าม การไม่ปฏิรูปจะทําประเทศเสียโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้ามากกว่าที่เป็นอยู่ ความเหลื่อมลํ้าในประเทศยิ่งจะรุนแรง และความยากจนจะกลับมาเป็นปัญหาอีก
ในแง่นโยบายสาธารณะ การปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นทางเลือกทางนโยบายที่เป็นหน้าที่โดยตรงของรัฐบาลที่ต้องตัดสินใจ แต่เท่าที่ผ่านมา ชัดเจนว่ารัฐบาลเลือกที่จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าปฏิรูปเศรษฐกิจในการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยโครงการช่วยเหลือต่างๆ รวมถึงการแจกเงินช่วยเหลือประชาชนกลุ่มต่างๆ
ที่รัฐบาลเลือกที่จะทำ ที่ต้องตระหนักคือ โครงการในลักษณะนี้จะไม่สามารถแก้ปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่มีได้ คือ ปัญหาการไม่มีรายได้ที่จะใช้จ่ายและการไม่มีงานทํา ทําให้ประเทศจะจมปลักอยู่กับเศรษฐกิจที่โตตํ่าต่อไป
ตัวอย่างที่ดี คือ ปรากฏการณ์ล่าสุด ที่ตัวเลขจีดีพีไตรมาสสามขยายตัวดีขึ้น เป็นร้อยละ 3 ขับเคลื่อนอย่างสําคัญโดยการใช้จ่ายของรัฐบาล แต่ถ้าดูตัวเลขระดับธุรกิจหรือระดับความเป็นอยู่ของประชาชน
ภาพที่ออกมาจะตรงข้าม คือกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจและประชาชน ส่วนใหญ่ไม่ขยายตัวและดูแย่ลง เช่น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไตรมาสสามที่เป็นขาลงแม้จะผงกหัวขึ้นเดือนตุลาคม การขยายตัวของสินเชื่อถดถอยต่อเนื่องและอาจติดลบในเดือนตุลาคม การลงทุนของภาคเอกชนติดลบ อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย
ตัวเลขเหล่านี้ชี้ว่ามีช่องว่างหรือ disconnect มากระหว่างตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคที่ได้ประโยชน์จากการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ กับความเป็นจริงในระดับจุลภาคของเศรษฐกิจทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือน ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ดีและไม่ดีขึ้น ชี้ว่ามาตรการเศรษฐกิจที่รัฐทํายังไม่แก้ไขหรือแตะปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่มี
การแก้ไขหรือแตะปัญหาที่ประชาชนมีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตต่อเนื่องและการเติบโตมาจากโมเมนตัมที่ขับเคลื่อนโดยการลงทุนของภาคเอกชน ที่นํามาสู่การสร้างงาน สร้างโอกาส และสร้างรายได้ให้กับประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ด้วยการกระตุ้นหรือเร่งใช้จ่ายของรัฐบาล
เพราะเศรษฐกิจของประเทศคือภาคเอกชนไม่ใช่ภาครัฐ และกลไกสําคัญที่จะสร้างโมเมนตัมให้การลงทุนของภาคเอกชนเกิดขึ้นก็คือ การปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะสร้างการแข่งขันและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับภาคธุรกิจและคนทั้งประเทศ นําไปสู่นวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และความสามารถในการหารายได้
นี่คือสิ่งที่ควรเกิดขึ้น และนี่คือทางเลือกทางนโยบายที่รัฐบาลควรเลือกเพื่อแก้ปัญหาประเทศ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล