4 กลยุทธ์ ดึง ‘เซมิคอนดักเตอร์’ ปักหลักลงทุนไทย หลังตั้งเป้า 5 แสนล้านใน 5 ปี
เปิด 4 กลยุทธ์ไทยลุยดึงลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ แข่ง 3 ชาติในอาเซียน ตั้งเป้า 5 แสนล้านใน 5 ปี เจาะรายใหญ่ระดับโลกลงทุนในไทย เร่งเตรียมบุคลากรให้มีความพร้อมรองรับการลงทุน 8 หมื่นคน การผลักดันพื้นที่ลงทุนใหม่ๆ การเตรียมไฟฟ้าสะอาดและน้ำให้เพียงพอ และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี
การประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ (บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์) ที่มีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งได้มีการประชุมนัดแรกไปเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมาแม้จะมีการประชุมเป็นนัดแรกแต่ก็มีการประกาศเป้าหมายในการดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาประเทศไทยให้ได้ 5 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 5 ปี
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะเลขานุการของบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์บอกว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของอุตสาหกรรมหากสามารถสร้างฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ โดยเฉพาะที่เป็นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่เป็นต้นน้ำได้จะทำให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นต่อไปอีก 20 – 30 ปี รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศัยภาพในซัพพายเชนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก
ทั้งนี้ในภูมิภาคอาเซียนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์นั้นกำลังแข่งขันกันดึงการลงทุนอย่างเข้มข้นในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ดังนั้นแต่ละประเทศก็ต้องมีการวางกลยุทธ์ในการดึงดูดการลงทุน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเองก็มีการวางกลยุทธ์ 4 ด้าน ในการดึงนักลงทุนระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในไทย ดังนี้
1.การเตรียมความพร้อมด้านบุคคลากร โดยเป็นการเตรียมแรงงานที่มีความรู้ และทักษะที่จะรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งในอุตสาหกรรม เซมิคอนดักเตอร์นั้นต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญแยกไปตามสายของอุตสาหกรรม คือความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบ (IC Design) วิศวกรที่มีความรู้เรื่องเทคโนโลยีขั้นสูง รวมทั้งนักวิศวเคมี โดย
เปิดเผยว่า ที่ประชุม ซึ่ง ได้เห็นชอบกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (National Semiconductor and Advanced Electronics Strategy) และรับทราบแผนยุทธศาสตร์พัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย พร้อมตั้งอนุกรรมการ 2 ชุด กำกับการจัดทำยุทธศาสตร์และขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากร ตั้งเป้าหมายดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2568 – 2572) เพื่อยกระดับไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิสก์ขั้นสูงในภูมิภาค
โดยที่ประชุมได้เห็นชอบคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน มีการกำหนดแผน ในการผลิตบุคลากรเฉพาะทางและนักวิจัยระดับสูง 84,900 คนภายในปี 2573 ผ่านโครงการ Upskill และ Reskill หลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ เช่น Sandbox และโปรแกรมฝึกงานนานาชาติ รวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอบรม 6 แห่ง
พร้อมแผนสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติ เช่น ศูนย์ผลิต Wafer Fabrication และศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อเสริมความเชื่อมั่นและสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย
2.การจัดหาพื้นที่เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับทราบปัญหาการมีพื้นที่อุตสาหกรรมที่ไม่เพียงพอกับการลงทุน รวมทั้งปัญหาที่ที่ดินที่เหมาะสมกับการลงทุน ดังนั้นจึงต้องมีการเปิดพื้นที่ใหม่ๆเพื่อรองรับการลงทุน เนื่องจากในพื้นที่เดิมนั้นมีความหนาแน่นของโรงงาน และมีราคาที่ดินสูงมากจนเป็นอุปสรรคกับการลงทุนใหม่โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแก้ปัญหาในเรื่องนี้แล้ว
3.การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าสะอาด และน้ำที่มีความพร้อมรองรับการลงทุน ซึ่งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ต้องการที่ที่มีไฟฟ้าเข้าถึงที่เสถียร รวมทั้งเป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาด รวมทั้งมีความต้องการใช้น้ำในอุตสาหกรรมมาก ซึ่งเรื่องของควาพร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า และน้ำนั้นถือว่าเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนเข้ามาได้มากขึ้น
และ 4.ด้านการกำหนดสิทธิประโยชน์ ซึ่งประเทศไทยนั้นมีมาตรการที่หลากหลายและยืดหยุ่นในการรองรับการลงทุน แม้ว่าในเรื่องของสิทธิประโยชน์ในเรื่องภาษีนั้นในปี 2568 ประเทศไทย ต้องมีการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย หากเป็นบริษัทที่มียอดขายทั่วโลกเกิน 750 ล้านดอลลาร์ต่อปีในอัตรา 15% เพื่อให้สอดคล้องกับหลักภาษี Pillar2 ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD)
แต่ไทยก็จะมีกลไกในการใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเช่น การใช้เงินจากกองทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่ได้รับการจัดสรรวงเงินจากรัฐบาลมาใช้ในการสนับสนุนให้บริษัทเอกชนที่ต้องจ่ายภาษีเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตซึ่งถือว่าไม่ผิดกฎเกณฑ์และเป็นเรื่องที่ได้รับการสนับสนุนจาก OECD ให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่ไปกับการลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม
ซึ่งมาตรการการอุดหนุนนี้รวมไปถึงการสนับสนุนการตั้งโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำที่จะทำให้อุตสากรรมด้านนี้ของไทยพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง
ทั้งนี้การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ที่ประชุมฯได้ตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง โดยมีเลขาธิการบีโอไอเป็นประธานขึ้นมาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยอนุกรรมการชุดนี้จะมีการการจัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง จัดจ้างที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลกเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งในระดับนโยบาย
ครอบคลุมตั้งแต่การประเมินศักยภาพของประเทศไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน และในระดับปฏิบัติการ ตั้งแต่การจัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนรายสำคัญอย่างน้อย 10 บริษัทชั้นนำระดับโลกให้เข้ามาลงทุนออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับประเทศผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์ เพื่อร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระดับโลกและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าปัจจุบัน อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยเฉพาะการผลิตชิป (Chip) หรือหน่วยประมวลผล ถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยมูลค่าตลาดที่คาดว่าจะพุ่งสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 อันเนื่องมาจากความต้องการใช้งานในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI, Data Center, IoT, ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งต้องใช้หน่วยประมวลผลที่ทำจากเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัยเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น
ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกมายาวนาน โดยในปี 2566 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มียอดส่งออกสูงถึง 2.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25 ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ในจำนวนดังกล่าว
มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ เช่น วงจรรวม (IC) เซมิคอนดักเตอร์ไดโอด และอุปกรณ์ต่างๆ มีมูลค่าสูงถึง 5.1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ ประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตสำคัญในห่วงโซ่อุปทานกลางน้ำและปลายน้ำของอุตสาหกรรม เช่น การประกอบและทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ (OSAT) และการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB)
การเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดในห่วงโซ่อุปทาน เช่น การออกแบบวงจรรวม (IC Design) และการผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความมั่นคงและต่อยอดอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงได้ และการจัดตั้ง "บอร์ดเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ" เพื่อสร้างโรดแมประดับประเทศ จึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคอาเซียน