เปิด 4 โมเดลลดค่าไฟ 3.70 บาท บีบต้นทุน 3 การไฟฟ้า-ปตท.

เปิด 4 โมเดลลดค่าไฟ 3.70 บาท บีบต้นทุน 3 การไฟฟ้า-ปตท.

เปิด 4 โมเดลลดค่าไฟ “ทักษิณ” รีดไขมันลดค่าไฟ 3.70 บาท เรียกค่า “ชอร์ตฟอล” กลุ่มปตท. ย้อนหลังราวหมื่นล้านบาท กดระบบสายส่ง-จัดจำหน่าย ซึ่งต้องแลกกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล

มาตรการลดค่าไฟฟ้า 3.70 บาทต่อหน่วย ถูกตอกย้ำจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อีกครั้งหลังจากขึ้นเวที Chat with Tony: Bull Rally of Thai Capital Market จัดโดย “ข่าวหุ้น” เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2568 โดยได้นำเสนอแนวทางการลดค่าไฟฟ้าด้วยการลดค่าผ่านท่อก๊าซ รวมถึงการลดค่าสายส่งและจัดจำหน่ายของ 3 การไฟฟ้า และการใช้ไฟฟ้าฟรีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า โมเดลการปรับลดค่าไฟฟ้าของนายทักษิณ จะมาจาก 4 ส่วน ประกอบด้วย 

1. ค่าแอดเดอร์ที่จะทยอยหมดสัญญา โดยจะลดค่าไฟฟ้าได้ 15 สตางค์ ดังนั้น หากไม่สร้างภาระเพิ่มจะทำให้ค่าไฟฟ้าเหลือ 3.85 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบันเดือน ม.ค.-เม.ย.2568 ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย ถ้ายกเลิกสัญญาจะเหลือค่าไฟขายส่งเท่าทุน

2. ค่าผ่านท่อของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวม 5 เส้น ทั้งบนบกและกลางทะเล ซึ่งเดิมคิดค่าผ่านท่อตามนโยบายสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะคิดค่าเสื่อมราคา 20 ปี แต่อายุการใช้งานราว 40 ปี ซึ่งจะมีท่อที่เริ่มหมดอายุ ดังนั้น สำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษามาดูว่าการสร้างใหม่หรือใช้ของเดิมอันไหนคุ้มค่ามากกว่ากัน

“เดิมคิดค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ไม่ได้ดูว่าเป็นท่อเก่าหรือท่อใหม่ แต่ต้องพร้อมใช้งานตลอด ดังนั้น ช่วงปี 2551 เมื่อ กกพ.จ้างบริษัทที่ปรึกษามาเทียบใหม่จึงต่อรองว่าควรลดราคาลงมาอีกเพราะต่างประเทศใช้วิธีนี้” แหล่งข่าว กล่าว

ทั้งนี้ ปี 2564 กระทรวงพลังงานปรับเกณฑ์ใหม่เป็นใช้เท่าไหร่จ่ายเท่านั้น โดยอิงจากค่าใช้จ่ายจริงตามคุณภาพของท่อ ไม่ใช้ราคาประกันที่ถือเป็นวิธีตรงไปตรงมา ซึ่งช่วงที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังมีคำถามอยู่ว่า ปตท.ได้กำไรเยอะจากจุดนี้ ซึ่งหากพิจารณารายละเอียดไม่ได้มาจากท่อส่งก๊าซ แต่มาจากเนื้อก๊าซรวมถึงค่าชอร์ตฟอลเพราะได้เงินมาฟรี

ลดต้นทุนผ่านท่อก๊าซเป็นไปได้ยาก

“การจะลดค่าไฟจากท่อมองว่าทำอะไรไม่ได้แล้ว อาจจะแค่นิดหน่อย เพราะดึงค่าใช้จ่ายมาระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งช่วงปี 2565 กกพ.ทบทวนอัตราค่าบริการทั้ง 2 ส่วนทำให้ค่าผ่านท่อของผู้ใช้ก๊าซลดลง และส่งผลให้ลดต้นทุนค่าผ่านท่อทั้งหมดในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 5,900 ล้านบาทต่อปี ทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้กว่า 3 สตางค์ต่อหน่วย” แหล่งข่าว กล่าว

“รัฐบาลก็ต้องคุย ปตท.เป็นรัฐวิสาหกิจ และแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ตรงๆ ซึ่งชอร์ตฟอลสมัยการเรียกเก็บค่าชอร์ตฟอลรอบแรก 4.3 พันล้านบาท นายสุพัฒนพงษ์ ก็ทราบถึงตัวเลขนี้ดี และรู้ว่าไม่ใช่ว่าจะขอเงินจากปตท.ได้ง่าย ๆ จึงเปลี่ยนวิธีการขอเงินก้อนดังกล่าวเป็นเงินบริจาคแทน” แหล่งข่าว กล่าว

รีดไขมันระบบสายส่งแลกเงินส่งเข้าคลัง

3. ค่าระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะอยู่ที่ 20 สตางค์ ถือเป็นตัวเลขที่ยังสูง ส่วนค่าระบบสายส่งของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมกันอยู่ที่ 55 สตางค์ โดย กฟภ.มีต้นทุนเดินสายมากกว่าเพราะพื้นที่ชุมชนน้อยทำให้จุดคุ้มทุนต่ำ ดังนั้น ถ้าตัดงบลงทุนจุดนี้อาจทำให้การเข้าถึงไฟช้าลง หรืออาจปรับลดวิธีคิดค่าใช้จ่ายเหมือนท่อก๊าซก็ได้

4.ค่าใช้ไฟฟ้าฟรีของราชการส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นอีกจุดที่ทำได้ ซึ่งจะอยู่ในส่วนต้นทุนสายจำหน่ายเช่นกัน ซึ่งระบบสายจำหน่ายของการไฟฟ้าถ้าจะลดจะมีค่าใช้จ่ายพอสมควร เพราะต้องให้บริการไฟสาธารณะ การสูญเสียในระบบต่างๆ การโดนขโมยใช้รวม 10% เช่น คิดไฟหน่วยผลิตที่ 100 หน่วย จะมาถึงผู้ใช้ไฟจริงๆ 90 หน่วย หากตัดตรงนี้จะไม่มีไฟสาธารณะ ถ้าถนนไม่ให้ไฟสาธารณะก็ไม่ให้วางสายไฟ หรือหากจะวางสายได้ก็จะต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบัน กทม.ไม่ให้วางสายแล้ว ต้องลดความสะดวกสบายอื่นๆ ลง

“ถ้ายำรวมกันก็น่าจะได้ 3.7 บาทกว่าๆ แต่ต้องแลกด้วยความสะดวกสบายที่ลดลง โดยเฉพาะการลงทุนในต่างจังหวัด บางส่วนและผลตอบแทนการลงทุนของการไฟฟ้าที่ลดลง คือเงินเข้ากระทรวงการคลังก็ลดลงเช่นกัน ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่ากระทรวงการคลังจะยอมหรือไม่ ทุกอย่างทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบความร่วมมือ” แหล่งข่าว กล่าว

ระบุไม่ควรแตะค่าความพร้อมจ่าย

ส่วนค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) อยู่ที่ราว 7-8 สตางค์ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ควรไปแตะ เพราะโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นเพราะรัฐเชิญมาลงทุน หากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่เดินเครื่อง จะเสี่ยงเกิดไฟดับ ในช่วงโควิดแก้ปัญหาด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาเพิ่ม ซึ่งต้องมีค่าความพร้อมจ่ายมาเพิ่มด้วย รัฐไม่ควรยกเลิกสัญญาโรงไฟฟ้าใหญ่ๆ เพราะมีการกู้เงินจากต่างประเทศเยอะ จะเสียเครดิต

สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP เมื่อหมดอายุก็ไม่ควรต่อ เหลือแต่โรงไฟฟ้าใหญ่ๆ กับ RE ซึ่งโดยข้อเทจจริงทำยากถึงเวลามีคนมาวิ่งเต้นนโยบาย หรือหากต่อแล้วจ่ายประมาณ 2 บาท ให้ถูกกว่าราคาก๊าซฯ แต่ก็ต้องดูว่าโรงไฟฟ้าหลายโรงเดินเครื่องบ้างไม่เดินเครื่องบ้าง เพราะไม่มีค่าความพร้อมจ่าย ดังนั้น หากเอกชนรวมตัวกันจะเสียหายไม่เหมือนโรงไฟฟ้า IPP หากไม่เดินเครื่องจะโดนปรับตามการเตรียมค่าความพร้อมจ่าย ดังนั้น โรงไฟฟ้า IPP ควรหาวิธีบริหารโดยการเจรจาดีกว่า

“พลังงาน” ย้ำไทยต้องสำรองไฟเพื่อความมั่นคง

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าสำรอง เนื่องจากต้องคำนึงถึงความมั่นคงและการให้บริการกับประชาชนและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ปัจจุบันจะมีตัวเลขสำรองไฟฟ้า หรือ Reserve Margin อยู่ที่ 25.5%

แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากสถานการณ์โควิดที่ส่งผลให้แผนการผลิตไฟฟ้าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่เกิดโควิดจนถึงปัจจุบัน สังเกตได้จากดัชนีมวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ก็ไม่เป็นไปตามคาด แต่ใน PDP2024 ก็ได้ปรับแผนโดยจะใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้น อีกทั้งราคาต้นทุนปัจจุบันเริ่มลดลง คาดว่าราคาค่าไฟฟ้าอนาคตจะลดลง

นอกจากนั้น ดัชนีแสดงค่าเฉลี่ยความถี่ที่ระบบเกิดไฟฟ้าขัดข้อง (SAIFI) ของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างเสถียรเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศในอาเซียน หรืออยู่ที่ระดับ 0.88 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามและ สปป.ลาว ซึ่งมีค่าไฟฟ้าถูกกว่าเนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำ แต่ดัชนี SAIFI สูงถึง 3.23 และ 18.35 ครั้งต่อผู้ใช้ไฟฟ้าต่อปีตามลำดับ

แจงสาเหตุ “ค่าพร้อมจ่าย”

ทั้งนี้ ต้องชี้แจงก่อนว่า โรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่องแต่รัฐยังคงต้องจ่ายเงินให้ มีต้นทุนมาจาก 2 ส่วนสำคัญ คือ 

1. ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment : AP) ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าของเอกชน ครอบคลุมตั้งแต่ค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าผลิต ค่าซ่อมบำรุง ค่าประกันภัย โดยเอกชนจะต้องเตรียมโรงไฟฟ้าให้พร้อมใช้ตลอดเวลาและสามารถผลิตไฟฟ้าตามความต้องการประชาชนและภาคอุตสาหกรรมโดยไม่สะดุด

การกำหนดค่า AP เป็นแนวปฏิบัติในทางสากลสำหรับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่สะท้อนต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่เอกชนต้องจ่ายไปก่อน และเอกชนต้องยอมรับความเสี่ยงในการบริหารด้านต้นทุนเองทั้งหมด ซึ่งรัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้ จริงๆ แล้วค่าพร้อมจ่ายมีอยู่ในเกือบทุกโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า แต่อาจจะจัดเก็บในรูปแบบที่แตกต่างกัน

2. ต้นทุนเชื้อเพลิง (Energy Payment : EP) เป็นค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายผันแปรในการผลิตและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าจะได้รับค่า EP ตามปริมาณเชื้อเพลิงที่ กฟผ. สั่งการให้ทำการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเท่านั้น 

รวมทั้ง กระทรวงพลังงานก็ได้มีการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงตามสถานการณ์ โดยเลือกใช้เชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่ต่ำที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับค่าไฟฟ้า ดังนั้น โรงไฟฟ้าสำรองเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิด Peak และพลังงานแสงอาทิตย์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้