ชี้ช่องทางรวย แบบท้องถิ่นญี่ปุ่น
จ.โออิตะ แห่งเกาะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของแนวคิด หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์
ซึ่งเป็นต้นฉบับของนโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่ไทยนำมาประยุกต์
ผมได้มีโอกาสท่องเที่ยวในภูมิภาคคิวชู ซึ่งเป็นเกาะที่มีความสวยงามทางตอนใต้ของญี่ปุ่นอันมีชื่อเสียงเรื่องของผลิตผลทางการเกษตร ดอกไม้ ภูมิประเทศที่สวยงาม และแหล่งน้ำพุร้อนซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถานที่ยอดนิยมที่คนญี่ปุ่นเองจะเดินทางมาพักผ่อน แต่น้อยคนนักจะทราบว่า โออิตะ ซึ่งเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ในเกาะคิวชูนี้เองคือต้นกำเนิดของแนวคิดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์อันเป็นแม่แบบให้แก่การพัฒนาชุมชนทั้งทางด้านอัตลักษณ์ และการดึงดูดรายได้สู่ชุมชนอันเป็นต้นน้ำของการสร้างชุมชนที่เข้มแข็ง
ความคิดการพัฒนาหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์นี้แท้จริงเกิดขึ้นที่หมู่บ้านโอยามา จ.โออิตะ และไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ซึ่งตรงกับไทยในยุคที่มีจอมพลสฤษฎิ์เป็นนายกฯ เพื่อแก้ปัญหาจุดอ่อนของหมู่บ้านที่มีพื้นที่ทางการเกษตรที่จำกัด ห่างไกลจากความเจริญในตัวจังหวัด ที่ทำให้คนหนุ่มสาวละทิ้งบ้านเกิดและความยากจนสู่เมืองใหญ่
จุดอ่อนและข้อจำกัดล้วนส่งผลให้เกิดการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและในที่สุดเกิดเป็นความคิดใหม่หรือนวัตกรรมในที่สุด ที่หมู่บ้านโอยามานี้เองที่คนในหมู่บ้านเห็นตรงกันว่าควรจะเปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาเป็นบ๊วยและเกาลัดแบบใหม่เพราะเหตุผลทางด้านภูมิประเทศภูมิอากาศและผลตอบแทน
ผลจากแนวคิดใหม่นี้ ไม่ได้โฟกัสแต่เพียงผลิตภัณฑ์ซึ่งมีความยั่งยืนน้อย แต่ยังเน้นในการพัฒนาคนและหมู่บ้าน โดยส่งคนหนุ่มสาวออกดูงานต่างประเทศเพื่อเปิดโลกทัศน์ซึมซับข้อดีเพื่อกลับมาปรับใช้กับบ้านเกิด และท้ายที่สุดคือการพัฒนาหมู่บ้านให้น่าอยู่อาศัย มีความน่าสนใจ เช่นมีศูนย์วัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลเพื่อการเรียนรู้ โดยระยะในการพัฒนาคนและชุมชนให้น่าอยู่ขึ้นนี้รวมกับการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์นั้นก็กินเวลาเกือบ 20 ปี จนเป็นที่มาของบันได้ก้าวแรกแห่งความสำเร็จของหมู่บ้าน
หมู่บ้านที่เคยยากจนที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค จนคนหนุ่มสาวต้องเดินทางออกจากหมู่บ้านเพื่อแสวงหาอาชีพและความมั่งคั่งนั้นกลับเปลี่ยนไปเมื่อรายได้กลับสู่ท้องถิ่นจนเกิดเป็นความสำเร็จและเป็นโมเดล หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Village, One Product - OVOP) ซึ่งแนวคิดนี้ก็ถูกนำไปประยุกต์ใช้ทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย
สิ่งที่ผมพบเห็นระหว่างการเดินทางทำให้ผมอัศจรรย์ใจว่า นี่หรือคือหมู่บ้านที่เคยยากจนติดอันดับ เพราะปัจจุบัน ในจังหวัดนี้และจังหวัดรายรอบในภูมิภาคที่นำแนวคิดนี้ไปปรับใช้เพื่อหาอัตลักษณ์ บ่มเพราะความโดดเด่นแตกต่างจากแหล่งอื่น ๆ กลับเป็นหนึ่งในจุดหมายของนักท่องเที่ยว ซึ่งนอกเหนือจากภูมิประเทศที่สวยงามแล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่มาเยือนก็คือผลิตภัณฑ์เฉพาะที่ทำและขายในท้องถิ่นเหล่านี้
การเดินทางจากเมืองสู่เมืองทำให้ทราบว่าแต่ละหมู่บ้านหรือเมืองนั้นจะมีผลิตภัณฑ์เด่นซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นซึ่งแตกต่างกัน และไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผลิตผลทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลิตผลปศุสัตว์แปรรูป อย่างเนื้อม้าและครีมไขมันจากม้า และเนื้อชั้นวัวดีในภูมิภาคภูเขาอาโซะเพราะเป็นทุ่งราบสูงกว้างใหญ่ และมีการทำปศุสัตว์ทั้งม้าและวัวอยู่มาก กระเบื้องเคลือบชั้นดีต้องที่หมู่บ้านอาริตะ เป็นต้น
ความมีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนี้เองทำให้ท้องถิ่นมีมิติที่น่าสนใจ นอกเหนือจากในเชิงความสวยงามของภูมิประเทศ เพราะมีเรื่องเล่าความเป็นมาของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ว่าทำไมผลิตภัณฑ์นี้จึงเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ และถือเป็นแม่เหล็กชั้นดีในการดึงดูดนักท่องเที่ยว
ยังมีเรื่องราวอีกมาก ที่ท้องถิ่นไทยสามารถเรียนรู้จากภูมิภาคนี้ ฉบับหน้าผมจะมาเล่าต่อถึงกลยุทธ์ทางการตลาดของภูมิภาคนี้ที่น่าสนใจและดึงดูดรายได้มหาศาลสู่ภูมิภาค