"ความหลากหลาย"ของกรรมการบริษัทในสหรัฐ/ทวีปยุโรป

"ความหลากหลาย"ของกรรมการบริษัทในสหรัฐ/ทวีปยุโรป

ผู้เขียนเคยเขียนเกี่ยวกับแนวคิดและแนวโน้มความหลากหลายของคณะกรรมการบริษัทในญี่ปุ่นและไทย ในบทความนี้จะนำเสนอประเด็นเดียวกันในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศในทวีปยุโรป

ตามที่อธิบายในบทความก่อนหน้านี้ ความหลากหลาย (diversity) ของกรรมการในคณะกรรมการของบริษัท หรือ ที่เรียกว่า board diversity เป็นหัวข้อสำคัญที่หลายประเทศให้ความสนใจในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 
    “ความหลากหลาย” นั้นก็มีหลายความหมาย ทั้งความหลากหลายของ เชื้อชาติ เพศ อายุ รวมถึงความหลากหลายขององค์ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมีจุดที่ให้ความสนใจแตกต่างกันออกไป

เช่น ในสหรัฐอเมริกา ความหลากหลายทางเชื้อชาติและจำนวนกรรมการที่มีเชื้อชาติประชาชนกลุ่มน้อยในคณะกรรมการนั้นเป็นประเด็นที่สำคัญและถูกพูดถึงมากกว่าประเทศอื่น

ในขณะที่กฎเกณฑ์เพื่อส่งเสริมความหลากหลายของคณะกรรมการในประเทศส่วนใหญ่ยังใช้เป็นการแนะนำให้ปฏิบัติตามใน corporate governance code แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการบังคับ แต่ในสหรัฐอเมริกาเริ่มมีการออกกฎเกี่ยวกับความหลากหลายของกรรมการในคณะกรรมการในลักษณะเชิงบังคับ 
    ตัวอย่างเช่น รัฐแคลิฟอร์เนียกำหนดให้บริษัทที่มีสำนักงานหลักของผู้บริหาร (principal executive office) ในรัฐแคลิฟอร์เนียต้องมีกรรมการผู้หญิงอย่างน้อย 1 คน ภายในปลายปี 2019 และ ภายในปี 2021 ให้มีกรรมการผู้หญิง อย่างน้อย 2 คน ถ้าคณะกรรมการมี 5 คน และ อย่างน้อย 3 คน หากคณะกรรมการมีจำนวนกรรมการ 6 คนขึ้นไป 
    กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ สำนักงานเลขาธิการรัฐแคลิฟอร์เนีย (The office of the California Secretary of State) เปิดเผยรายงานการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ เลขาธิการรัฐแคลิฟอร์เนียยังมีอำนาจในการปรับ 100,000-300,000 เหรียญสหรัฐ ต่อความผิดภายใต้กฎหมายนี้อีกด้วย ซึ่งเป็นที่น่าจับตาดูต่อไปว่าหลังจากปลายปี 2021 จำนวนกรรมการผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นมากขนาดไหน
    นอกจากรัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐนิวยอร์ก รัฐโคโลราโด รัฐแมริแลนด์และรัฐอิลลินอยส์ ฯลฯ ก็มีความพยายามที่จะออกกฎเกณฑ์คล้าย ๆ กัน แต่ในขณะนี้กำลังมีการฟ้องร้องเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าวหลายคดี 
  

หนึ่งในประเด็นหลัก คือ กฎหมายดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะหลักการที่พลเมืองทุกคนจะได้รับการคุ้มครองที่เท่าเทียมภายใต้กฎหมาย (Equal Protection) ภายใต้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่สิบสี่ (the 14th Amendment) หรือไม่ เนื่องจากการบังคับเรื่องจำนวนกรรมการผู้หญิงนั้น อาจถูกมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางเพศ

ประเทศในทวีปยุโรปเองก็มีความพยายามที่จะเพิ่มส่วนของกรรมการผู้หญิงเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในปลาย ๆ ประเทศ อาทิ เยอรมนีก็ได้ออกคำแนะนำขอให้มีการปรับปรุงในเรื่องความหลากหลายของคณะกรรมการ ในประเทศสเปนก็ได้มีการออกกฎหมายในปี 2007 กำหนดให้บริษัทมหาชนและบริษัทใน IBEX-35 เพิ่มสัดส่วนกรรมการผู้หญิงเป็น 40% ภายในปี 2015 แต่กฎหมายนี้ไม่ได้มีบทลงโทษเหมือนกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย
    จากข้อมูลของ The European Voice of Directors ประเทศในยุโรปที่มีจำนวนกรรมการผู้หญิงเป็นสัดส่วนสูงที่สุดในปัจจุบัน คือ ประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีกรรมการผู้หญิงร้อยละ 46 รองลงมาจะเป็นประเทศอิตาลี ประเทศอังกฤษ ประเทศเบลเยี่ยม ประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่จะมีจำนวนกรรมการหญิงอยู่ประมาณร้อยละ 36 ถึง 38 
    นอกจากจำนวนกรรมการแล้วสถิติที่น่าสนใจในยุโรปอีกประการหนึ่งก็คือตัวเลขสัดส่วนผู้บริหารบริษัทที่เป็นผู้หญิงยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยอยู่ บริษัทใน STOXX Europe 600 Average มี CEO ผู้หญิงอยู่เพียงร้อยละ 7 และสัดส่วนของพนักงานระดับบริหารระดับสูงที่เป็นผู้หญิงอยู่ที่ราวร้อยละ 20 
    หากมาดูในเรื่อง skills matrix หรือ ความหลากหลายทางด้านความเชี่ยวชาญที่ได้อธิบายไปในบทความที่แล้ว ประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น อังกฤษและเยอรมนีก็มีการพูดถึง skills matrix และความพยายามในความหลากหลายทางด้านความเชี่ยวชาญในทางเดียวกับประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่น
    แนวโน้มเกี่ยวกับความหลากหลายของกรรมการของบริษัทในประเทศส่วนใหญ่นั้น ก็มีแนวโน้มไปทางเดียวกันถึงแม้จะช้าบ้าง เร็วบ้างแตกต่างกัน หรือจะมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณาในส่วนของประเทศไทยเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ถือว่าบริษัทจดทะเบียนไทยมีจำนวนกรรมการผู้หญิงไม่น้อยหน้าชาติอื่น 
    แต่ยังไงก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่าบริษัททั่วโลกจะปรับโครงสร้างของคณะกรรมการบริษัทไปในทิศทางใด ภายใต้กระแส ESG (Environmental, Social, and Governance) และความยั่งยืนซึ่งเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก.