โควิด"ปกปิด" ภาวะตายผ่อนส่ง | ไสว บุญมา
เป็นเวลา 2 ปีที่ไวรัสโควิด-19ก่อให้เกิดวิกฤติทั่วโลก ในขณะที่เขียนบทความนี้เมื่อคืนวันอังคาร รายงานของ Worldometer บ่งว่า ชาวโลกป่วยด้วยเชื้อโรคตัวนี้แล้วเกือบ 400 ล้านคนและเสียชีวิต 5.5 ล้านคน
วิกฤติโควิดส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตทั่วโลก ขณะนี้มีรายงานอย่างต่อเนื่องที่นำไปสู่การคาดการณ์ว่า หลังจากกลายพันธุ์มาหลายครั้ง ตัวล่าสุดชื่อโอมิครอนอาจทำให้ชาวโลกเกิดภูมิคุ้มกันหมู่และต่อไปโควิด-19 จะมีลักษณะคล้ายไข้หวัดใหญ่ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงนัก
หากอนาคตเป็นไปตามการคาดการณ์ดังกล่าว ชาวโลกจะกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้กับแนวเดิมเร็วบ้างช้าบ้างต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละประเทศ ในขณะที่เตรียมเขียนบทความนี้ มีพาดหัวข่าวของสื่อ 2 เรื่องที่ทำให้สะกิดใจว่าเมืองไทยอาจยากจะกลับมาใกล้กับแนวเดิมได้
นั่นคือ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตำรวจปลิดชีวิตตนเองบ่อย ๆ ได้แก่ภาระหนี้สิน และกระทรวงศึกษาธิการจะเร่งแก้ปัญหาหนี้สินของครู
ทั้งนี้เพราะก่อนนั้นมีรายงานว่าโดยเฉลี่ยเงินเดือนครูราว 70% ถูกหักไว้ชำระหนี้ คงเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปแล้วว่า ไม่เฉพาะข้าราชการตำรวจและครูเท่านั้นที่เผชิญกับภาระหนี้สินถึงกับหาทางออกไม่ได้
ครอบครัวไทยโดยทั่วไปก็เป็นเช่นนั้นเนื่องจากดัชนีชี้วัดหนี้สินครัวเรือนก็บ่งว่ามันเพิ่มขึ้น ในช่วง 2 ที่สังคมไทยประสบวิกฤติจากโควิด-19 ภาระหนี้ยิ่งหนักขึ้นอีกเนื่องจากรายได้ในครอบครัวจำนวนมากลดลง
รัฐบาลดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้วิกฤติรวมทั้งการทุ่มเงินลงไปในภาคต่าง ๆ เนื่องจากรัฐไม่สามารถเก็บภาษี หรือมีรายได้พอกับรายจ่าย รัฐบาลจึงปิดงบประมาณด้วยการกู้ยืม ส่งผลให้ภาระหนี้สินภาครัฐพุ่งขึ้นตามไปด้วย
สภาพดังกล่าวนี้มีสิ่งที่ชวนคิดต่อไปเป็นพิเศษคือ ในมาตรการต่าง ๆ นั้น จำนวนหนึ่งมีลักษณะของประชานิยมแบบเลวร้ายแฝงอยู่เนื่องจากรัฐบาลต้องการซื้อความนิยมให้ตนและประชาชนเสพติดสิ่งที่รัฐบาลหยิบยื่นให้อย่างเข้มข้นขึ้นและกว้างขวางขึ้น
หลังจากวิกฤติจากโควิด-19ผ่านไป ความกดดันที่จะให้รัฐบาลดำเนินมาตรการจำพวกนั้นต่อไปจะยังคงอยู่ แม้เราจะไม่สามารถหยั่งรู้ได้ล่วงหน้าว่ารัฐบาลจะทำตามคาดหรือไม่ แต่ประวัติศาสตร์ให้บทเรียนที่น่าใส่ใจยิ่ง จึงขอทบทวนบางส่วนที่อยู่ในหนังสือชื่อ “ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ” (ดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา www.bannareader.com และฟังเสียงอ่านของคุณสมลักษณ์ หุตานุวัตรได้จาก YouTube)
เมื่อเอ่ยถึงความหายนะอันเกิดจากการใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย อาร์เจนตินามักจะเป็นตัวอย่างที่ถูกนำมาเสนอ ซึ่งก็ไม่ผิดเพราะอาร์เจนตินาประสบปัญหาหนักหนาสาหัสถึงขั้นล้มละลายหลายครั้งหลังประชาชนเสพติดประชานิยม อย่างไรก็ดี ยังมีกรณีน่าศึกษาอีกมากโดยเฉพาะเรื่องของเวเนซุเอลาเนื่องจากประเทศนี้มีน้ำมันปิโตรเลียมปริมาณมหาศาลซึ่งอาร์เจนตินาไม่มี และผลของประชานิยมทำให้ชาวเวเนซุเอลาทำมาหากินไม่เป็น จึงอดอยากกันอย่างแพร่หลายกว่าชาวอาร์เจนตินามาก
อาร์เจนตินาใช้เวลา 40 ปีก่อนที่จะล้มละลายหลังวันเริ่มใช้ประชานินมแบบเลวร้าย เวเนซุเอลาล้มละลายช้ากว่าเนื่องจากรายได้จากการขายน้ำที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดหลายครั้งช่วยไว้ อย่างไรก็ตาม กระบวนการคล้ายกัน นั่นคือ เมื่อประชานิยมแนวเลวร้ายเข้มข้นขึ้น รัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอ จึงปิดงบด้วยการกู้ยืม ใช้เงินสำรอง และพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำได้ในวงจำกัด เมื่อทำต่อไปไม่ได้ รัฐบาลต้องขอพักชำระและปรับหนี้ หรือเศรษฐกิจประสบภาวะล้มละลาย
ไทยนำประชานิยมแบบเลวร้ายเข้ามาใช้แล้ว 20 ปี ในขณะนี้ ไทยมีลักษณะคล้ายอาร์เจนตินามากกว่าเวเนซุเอลาตอนก่อนล้มละลายในด้านการผลิตอาหารและการมีทุนสำรองกองใหญ่
ไทยคล้ายทั้งสองประเทศนั้นในด้านการมีทหารเข้ามาจุ้นจ้านในด้านการเมือง แต่ต่างกับทั้งสองประเทศนั้นในด้านการมีวิกฤติแนวโควิด-19 ที่เป็นกำแพงสำหรับแฝงการเพิ่มมาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายที่ทำให้ประชาชนเสพติดอย่างกว้างขวางเร็วขึ้น มองโดยรวม ไทยน่าจะคล้ายสองประเทศนั้นในด้านการประสบภาวะล้มละลายแบบตายผ่อนส่งนอกจากจะลดมาตรการประชานิยมได้ในเร็ววัน