Restart ครั้งใหม่ โรงแรมไทยพร้อมหรือยัง? | แจงสี่เบี้ย
โควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงแรมถูกกระทบ อัตราการเข้าพัก (Occupancy Rate: OR) ลดลงมากและผันผวนโดยในช่วงล็อคดาวน์ OR เฉลี่ยลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 10%
แต่หลังจากการแพร่ระบาดเริ่มบรรเทาลง ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ และการเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2564 ธุรกิจโรงแรมกลับมาฟื้นตัวได้ราวครึ่งหนึ่งของช่วงก่อนโควิด
สะท้อนจาก OR เฉลี่ยกลับมาอยู่ที่ 30% จากปกติอยู่ที่ระดับ 60-70% แต่การฟื้นตัวนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความท้าทายใหม่เท่านั้น
ในระยะถัดไป การแข่งขันในภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก นักท่องเที่ยวลดลงมาก หลายประเทศปรับตัวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว
การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะกลับไปเท่าระดับก่อนการแพร่ระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนปะทุขึ้น และทำลายบรรยากาศการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว
๐ ที่ผ่านมาภาครัฐและธุรกิจโรงแรมมีการปรับตัวอย่างไร?
จากการหารือกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับภาคธุรกิจ (BLP) และการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมที่ ธปท. จัดทำร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย
พบว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคธุรกิจต่างร่วมมือกันและปรับตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจให้ยังสามารถเดินต่อไปได้ รัฐได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ลดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง และยังทยอยปรับเงื่อนไขมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เริ่มต้นจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษตามเงื่อนไขที่กำหนดผ่าน “Special Tourist Visa” ตามมาด้วย “Phuket Sandbox” ที่ต้องกักตัว 14 วัน จนมาเป็น “Test & Go” ที่ไม่ต้องกักตัว
และล่าสุดมีการผ่อนคลายมาตรการคัดกรองผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยตรวจ RT-PCR เหลือเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นให้ตรวจ ATK ตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 ซึ่งเป็นสัญญาณการเริ่มต้นที่ดี
ธุรกิจโรงแรมเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงมาก และเปลี่ยนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติมาพึ่งพิงนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปน้อยลง แนวทางปรับตัวเพื่อประคับประคองธุรกิจ
ทั้ง (1) การปรับตัวด้านรายได้มีทั้งการออกโปรโมชั่นลดแลกแจกแถม การปรับแพ็คเกจห้องพักให้สอดรับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป เช่น กลุ่ม Staycation กลุ่ม Workation เป็นต้น และหารายได้จากช่องทางอื่น เช่น เน้นขายอาหาร ปรับเป็นสถานที่กักตัวทางเลือก (Alternative Quarantine) หรือหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) และ
(2) การปรับตัวด้านการบริหารจัดการต้นทุน อาทิ (2.1) การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานและปรับเปลี่ยนจำนวนแรงงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยใช้นโยบายต่าง ๆ เช่น ลดวันหรือชั่วโมงทำงาน เน้นจ้างพนักงานชั่วคราว รวมถึงพนักงานที่มีทักษะการใช้เทคโนโลยีและ Multi-tasking มากขึ้น (2.2) การลดต้นทุนในการบริหารจัดการ เช่น เปิดให้บริการบางส่วน หรือปิดกิจการชั่วคราว
(2.3) การเปิดรับเทคโนโลยีสำหรับดำเนินธุรกิจ โดยชำระค่าบริการผ่านแอปเป๋าตัง เพื่อให้ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ รวมถึงขยายช่องทางการรับจองห้องพักผ่านแพลตฟอร์มใหม่ เช่น Google’s Free Booking Links หรือ Robinhood ซึ่งช่วยลดต้นทุนและข้อจำกัดในการเข้าถึง โดยเฉพาะ SMEs
๐ Landscape การท่องเที่ยวเปลี่ยนไป โรงแรมไทยยกระดับอย่างไร
ภาครัฐและเอกชนต่างตระหนักว่า การเดินทางและท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปในยุคหลังโควิด ทิศทางการท่องเที่ยวไทยจะเปลี่ยนไปเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ใช้เทคโนโลยีในการท่องเที่ยวมากขึ้น และส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวทางดึงดูดนักท่องเที่ยวต้องปรับตัวมากขึ้นใน 3 ด้านหลัก ดังนี้
(1) ความสะดวกจะต้องมีตั้งแต่ก่อนการเดินทาง ระหว่างการท่องเที่ยว จนถึงการเดินทางกลับ ทั้งแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว ที่ใช้ง่ายรวมทุกเรื่องในแพลตฟอร์มเดียว เพื่อเป็นช่องทางการตลาดและเป็นฐานข้อมูลที่ครอบคลุมแหล่งท่องเที่ยวทุกภูมิภาค ระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกและครบวงจร ที่สำคัญ คือ ต้องนำเสนอในราคาที่เหมาะสมและแข่งขันได้ งานบริการของภาครัฐต้องเป็นแบบ One-stop service อยู่บนแพลตฟอร์มเดียวกัน ซึ่งยังไม่เกิดอย่างเป็นรูปธรรม
(2) ความปลอดภัย ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อลดอุบัติเหตุและปัญหาอาชญากรรม รวมถึงความปลอดภัยด้านสุขภาพ โรงแรมที่พักต้องมีมาตรฐานด้านสุขอนามัย แหล่งท่องเที่ยวต้องไม่แออัด ภาครัฐต้องผลักดันด้วยการเริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง
(3) ความน่าอยู่ ต่อไปสถานที่ท่องเที่ยวรวมถึงเมืองท่องเที่ยวต้องมีความน่าอยู่ด้วย ไม่ใช่แค่น่าเที่ยวเพียงอย่างเดียว กระแส Work from anywhere ช่วยให้นักท่องเที่ยวพักอยู่นานขึ้น โรงแรมจะต้องเป็นมากกว่าสถานที่สำหรับการพักผ่อน แต่ต้องมีพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำงาน รวมถึงพื้นที่สำหรับเรียนรู้ของเด็กเมื่อออกไปท่องเที่ยว
บรรยากาศของเมืองก็มีความสำคัญ ต้องสะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่มีมลภาวะ นอกจากนี้ อาจสร้างมูลค่าเพิ่มผ่าน Storytelling บนพื้นฐานของประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังเมืองรองและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน (ASEAN journey)
๐ ถ้า “Restart ครั้งใหม่ โรงแรมไทยพร้อมหรือยัง?
จากการสัมภาษณ์ภาคธุรกิจและติดตามภาวะธุรกิจท่องเที่ยว พบว่า โรงแรมขนาดใหญ่เริ่มปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจไปสู่โลกหลังโควิดแล้ว แต่โรงแรม SMEs บางกลุ่มอยู่ระหว่างแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ผ่านพ้นไปได้ก่อน และส่วนหนึ่งยังขาดเงินทุน ขณะเดียวกันยังไม่มีความชัดเจนของนโยบายด้านการท่องเที่ยวของภาครัฐ อันเป็นจุดเริ่มต้นให้ธุรกิจตระหนักและปรับตัวเชิงโครงสร้าง
อีกทั้งยังมีความไม่แน่นอนจากทั้งโควิด-19 และปัญหาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งยิ่งกดดันให้ภาคการท่องเที่ยวต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด และขอฝากคำถามส่งท้ายให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า “Restart ครั้งใหม่ โรงแรมไทยพร้อมหรือยัง? ” เพื่อการตระหนักรู้ แก้ไข เพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยยั่งยืนในระยะยาว.
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.
คอลัมน์ แจงสี่เบี้ย
ณัฐอร เบญจปฐมรงค์
ชุติกา เกียรติเรืองไกร
เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)