CAL Forum#2ผู้นำขับเคลื่อน ลดผลโลกเปลี่ยนทำภูมิอากาศป่วน
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change กำลังเป็นภัยคุกคามในทุกๆภาคส่วนทั้ง เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ ความมั่นคงด้านอาหาร และสถานการณ์ความสงบในสังคมด้วย ดังนั้น ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมกันทำงานไม่ใช่เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง
แต่ยังต้องร่วมกันทำงานในเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบด้วย
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO โดย สถาบันวิทยาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (CAA) จัดเวทีผู้นำ “Climate Action Leaders Forum รุ่น 2” หรือ CAL Forum #2 ครั้งที่ 6 ซึ่งมีผู้ให้เกียรติเข้าร่วมเวทีผู้นำ CAL Forum รุ่น 2 จำนวน 63 ท่านจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา สื่อมวลชน และองค์กรอิสระ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ การมีส่วนร่วมลดโลกร้อน ตลอดจนสร้างเวทีสื่อสาร เพื่อนำไปสู่บทบาทการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน พร้อมสื่อสารสู่สังคมไทยและต่างประเทศ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนของประเทศไทยเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศของประเทศ ประกอบด้วย การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การค้าและการลงทุน การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต การเพิ่มช่องการดูด และกักเก็บคาร์บอน การใช้กลไกเชิงกฎหมาย การสร้างความตระหนักรู้ในสังคม
ภายใต้แนวทางดังกล่าว มีการกำหนดเป้าหมายการทำงาน เช่น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ได้ระบุถึงการใช้ประโยชน์จากการกักเก็บคาร์บอน หรือ Carbon Capture Utilization and Storage หรือ CCUS มาใช้ในเชิงพาณิชย์ภายในปี ค.ศ. 2040 ส่วนด้านการค้าและการลงทุน ก็กำหนดการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม สิทธิประโยชน์ทางภาษี สนับสนุน Green Procurement ภาครัฐ ส่งเสริมกลไกภาครัฐ-เอกชน เช่น Green taxonomy
นอกจากนี้ ยังพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต ในครบทั้งระบบ ได้แก่ แนวทางและกลไกบริหารจัดการ ระเบียบว่าด้วยหลักการและเกณฑ์การขึ้นทะเบียน แพลตฟอร์มการซื้อขาย เป็นต้น
ส่วนการเพิ่มแหล่งกักเก็บ ดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ได้กำหนดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ 55%ภายในปี พ.ศ. 2580 การออกระเบียบส่งเสริมการปลูกป่า และแบ่งปันคาร์บอนเครดิต สัดส่วนร้อยละ 90/10 และการให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมปลูกป่า ซึ่งปี 2565 ที่ผ่านมาดำเนินการได้ 650,000 ไร่
"ขณะเดียวกันได้เร่งผลักดัน ร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ..... และการจัดตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมเชื่อว่าการให้วัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อวิกฤติสภาพอากาศก็คือความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน”
จตุพร บุรษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.....มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฎิรูประเทศ ในประเด็นที่ 3 การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นที่ 8 คือ การปฎิรูปกฎหมายสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักการและเหตุผล ให้เป็นกฎหมายส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านการดำเนินงานร่วมกับนานาชาติ สำหรับร่างกฎหมายนี้ประกอบด้วย 8 หมวด 59 มาตรา เช่น หมวดคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติ หมวด ข้อมูลก๊าซเรือนกระจก แผนการปรับตัว เป็นต้น
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวในประเด็น Way Forward โดยเน้นเรื่องการเผาในการทำเกษตรกรรมในประเทศไทยที่ส่งผลก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 และระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย พร้อมเดินหน้าสนับสนุนตามแนวทางการพัฒนาและการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
โดยมีข้อเสนอการลดฝุ่นดังนี้ 1 จัด investigative forensics reports เรื่องพิกัด และรูปแบบจุด hotspots ทั้งภูมิภาค ย้อนหลัง5ปี แล้วเชื่อมเส้นทางของผลผลิตจากที่ดิน และทุนสนับสนุน 2. ทบทวนนโยบายประกันราคาผลผลิต ที่มาจากการเผา 3. เร่งการประกาศพระราชกฤษฎีกา ตามพรบ.อุทยานเรื่องคนอยู่กับป่าอย่างพึ่งพิง โดยกระทรวงมหาดไทย 4. แก้ไขกติกาภาษีที่ดิน ที่กำหนดให้มีไม้ยืนต้น 30 ต้น/ไร่ ไม่ใช่ 100 ต้น 5. ยกเว้นภาษีที่ดิน ที่มีนิเวศป่าชายเลนทั่วประเทศ 6.ส่งเสริมการปลูกพืชดูดซับคาร์บอน 7 ทำคาร์บอนเครดิตในประเทศให้สูงขึ้น
เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ได้กล่าวว่าโครงการ Climate Action Leaders Forum หรือ CAL Forum ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1. Climate Action Literacy สร้างความเข้าใจ เกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติสภาพภูมิอากาศ และความสำคัญของการดำเนินงานลดโลกร้อน ด้วยความรับผิดชอบร่วมในระดับที่แตกต่าง และ 2. Climate Action Communication สร้างเวทีสื่อสาร แลกเปลี่ยนแนวคิด และประสบการณ์ เพื่อนำไปสู่บทบาทการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ
การเปิดเวทีให้ผู้นำจากทุกภาคส่วน นับรูปแบบใหม่ ที่สร้างโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ การมีส่วนร่วมลดโลกร้อน ตลอดจนสร้างเวทีสื่อสาร เพื่อนำไปสู่บทบาทการลดก๊าซเรือนกระจก สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน และบรรลุตามเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Greenhouse Gas Emission ของประเทศต่อไป