รู้จัก "กรม Climate Change" หน่วยเคลื่อนเมืองไทยสู่เป้าหมาย Net Zero
ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรง ส่งผลให้ไทยต้องเผชิญและรับมือกับปัญหาที่ตามมาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นเหตุผลที่ไทยต้องเดินหน้าพัฒนาศักยภาพของประเทศเพื่อรับมือกับความเสี่ยงและดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศในฐานะรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พิธีสารโตเกียว และความตกลงปารีส เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ และความร่วมมือกับประชาคมโลกในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปีพ.ศ. 2593 ( ค.ศ. 2050) และ Net Zero ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065)
ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มีการปรับปรุงภารกิจและโครงสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อจัดตั้ง “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” (Department of climate change and environment : CCE)
ให้สอดคล้องกับภารกิจที่เกิดขึ้น และเหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย
จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กรม CCE เป็นการรวมกันของ กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) บทบาท คือการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการลดก๊าซเรือนกระจก อาทิ ร่วมกันกำหนดนโยบายและกฎหมาย ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนในการลดก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม รวมถึง สนับสนุนการภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งเงินในรูปแบบต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการลงทุนโครงการที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายทั้ง 76 จังหวัด ดำเนินการผ่านสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด แก้ปัญหาในระดับพื้นที่ และมีสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคเป็นส่วนกลางช่วยทำงานเสริม โดยมีเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมเข้าไปในแต่ละพื้นที่ ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยมองทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และมีจังหวัดเป็นศูนย์กลาง
“สาระสำคัญของการตั้งกรมใหม่ คือ ต้องไม่กระทบกับงบประมาณระบบราชการ ต้องไม่มีคนเพิ่ม แต่ปรับโครงสร้างการทำงานให้ตอบโจทย์ต่อปัญหาของโลก นี่คือโจทย์สำคัญ นำปัญหาของปัจจุบันมาสู่การปรับโครงสร้างการทำงานภายในกระทรวง และยกระดับเป็นกรม แยกการทำงานชัดเจน และตอบโจทย์ในการแก้ปัญหา”
ทั้งนี้ ความคืบหน้าล่าสุด กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ..... และร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่..) พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะที่ ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ..... อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อโปรดพิจารณาต่อไป คาดจัดตั้งได้ภายในปีนี้
จตุพร กล่าวอีกว่า อยากเห็นภาพการทำงานที่เข้มข้น ลงไปถึงพี่น้องประชาชน และเชื่อมโยงภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด การแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยความร่วมมือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จะเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ช่วยตอบโจทย์ตรงนี้ ปัจจุบัน มีการจัดทำโครงสร้างแล้วเสร็จ ขณะที่ การจัดการต้องอาศัยทุกภาคส่วนช่วยกันในการแก้ปัญหา เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้