ญาญ่า-อุรัสยา เยี่ยมชมฟาร์มแซลมอนนอร์เวย์ที่ยั่งยืนอันดับต้นๆ ของโลก
เยี่ยมชมฟาร์มแซลมอนแบบดั้งเดิมของนอร์เวย์ เพื่อดูนวัตกรรมและเทคโนโลยีการประมงของประเทศ และมีความยั่งยืนติดอันดับต้นๆ
ญาญ่า-อุรัสยา เสปอร์บันด์ นักแสดงลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์ พรีเซนเตอร์คนแรกของ Seafood from Norway ในประเทศไทย ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมฟาร์มแซลมอนแบบดั้งเดิมในมหาสมุทร ที่สะท้อนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการประมงแบบยั่งยืน ที่เมืองเวสเตอโรลน์ ประเทศนอร์เวย์ ภายใต้แคมเปญ‘The Story from the North’
การเดินทางไปครั้งนี้ เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนอร์เวย์ ทำให้คนไทยได้เข้าใจความเป็นอยู่ วิถีทางทะเล และธรรมชาติของคนนอร์เวย์มากยิ่งขึ้น
นอร์เวย์ขึ้นชื่อว่า มีสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นมาก ยากต่อการอยู่อาศัยของผู้คน แต่กลับกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบสำหรับปลา
นี่คือเหตุผลว่าทำไมนอร์เวย์ถึงดำรงชีพด้วยการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่และยั่งยืนที่สุดในโลก
เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการประมงของนอร์เวย์ ประเทศแห่งอาหารทะเลที่เชี่ยวชาญทางชีววิทยาทางทะเล สั่งสมเทคโนโลยีและมาตรการที่เข้มงวด เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร โดยคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
ระบบฟาร์มแซลมอนในนอร์เวย์
ภายในสถานปฏิบัติการติดตามสถิติและควบคุมระบบการเพาะเลี้ยงปลาที่นอร์เวย์ ฟาร์มเลี้ยงปลาตั้งอยู่ในทะเลเปิด รายล้อมไปด้วยน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาดในน่านน้ำที่ไหลมาจากธารน้ำแข็งฟยอร์ด ห่างไกลจากพื้นที่สัญจรทางทะเล
แซลมอนถูกเลี้ยงในกระชังที่มีพื้นที่กว้างขวางเติบโตในสภาพแวดล้อมที่สะอาด พื้นที่ในน้ำ 97.5% ต่อปริมาณแซลมอน2.5%ในทุก ๆ กระชัง
มีการใช้เลเซอร์ที่ควบคุมโดยเทคโนโลยี AI เพื่อกำจัดเหาทะเลโดยไม่เป็นอันตรายต่อปลา ด้วยระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถระบุและติดตามปลาที่มีร่องรอยของเหาทะเลเกาะบนร่างกายได้อย่างแม่นยำปลาทุกตัวได้รับการดูแลอย่างดี เพื่อลดความเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อรสชาติได้
ระหว่างการทำฟาร์มแต่ละรอบ จะมีการพักให้ระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่นั้น ๆ ได้ฟื้นฟู และมีการติดตามดูสภาพท้องทะเลอย่างใกล้ชิด จำนวนฟาร์มถูกจำกัดอยู่ที่ 750 แห่งต่อพื้นที่ชายฝั่งระยะทาง 28,953 กิโลเมตร
อย่างไรก็ตามบริษัทที่ต้องการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะต้องผ่านขั้นตอนการขอใบอนุญาตที่เข้มงวด ในแต่ละปีผู้ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาจะต้องมีงบประมาณกว่าหกพันล้านบาท (นอกเหนือจากงบประมาณของรัฐบาล) ในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการประมง
นั่นทำให้นอร์เวย์สามารถส่งออกแซลมอนสดจากกระชังในน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิที่กรุงเทพฯ ได้ภายใน 48 ชั่วโมง
เทคโนโลยีฟาร์มในมหาสมุทร
หนึ่งในบริษัททำฟาร์มแซลมอนของนอร์เวย์ได้มีการสร้างฟาร์มในมหาสมุทรขนาดเท่าสนามฟุตบอลสี่สนาม สิ่งก่อสร้างที่ลอยอยู่กลางทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ออกแบบให้มีอายุการใช้งานถึง 25 ปี และเป็นบ้านของแซลมอนกว่าสองล้านตัว
ฟาร์มในมหาสมุทรแห่งนี้ ใช้เซ็นเซอร์ Internet of Things (IoT)เพื่อตรวจสอบ วิเคราะห์ และให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ โดยนำข้อมูลเหล่านั้นมารันเป็นโมเดลแฝดของเรือแบบดิจิทัลด้วยโซลูชันบนคลาวด์
วิธีนี้ช่วยให้ผู้ควบคุมฟาร์มสามารถตรวจสอบและบำรุงรักษาพื้นที่สำคัญ ๆ ประเมินโครงสร้างภายใต้สภาพอากาศและทะเลที่ไม่เอื้ออำนวยต่างๆ
ในขณะที่แผนที่ความร้อนใช้ตรวจสอบการให้อาหารปลาในแต่ละกระชัง เพื่อให้แน่ใจว่าการให้อาหารในแต่ละครั้งจะไม่ส่งผลกระทบอย่างถาวรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นไปตามกฎระเบียบที่เข้มงวดของอุตสาหกรรมอาหารทะเลนอร์เวย์