‘ดิน’ ใน ‘ออสเตรเลีย’ ปล่อย ‘ก๊าซคาร์บอน’ ภัยคุกคามใหญ่ ตัวการทำ ‘โลกร้อน’
การศึกษาใหม่พบว่า ความร้อนและความแห้งแล้งที่รุนแรงขึ้นเนื่องจาก “วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” จะทำให้ดินของ “ออสเตรเลีย” กลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขนาดใหญ่ ที่จะทำให้ “ภาวะโลกร้อน” แย่ลงกว่าเดิม
KEY
POINTS
- ดินในออสเตรเลียอาจกลายเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุด และไม่สามารถกักเก็บ “ก๊าซคาร์บอน” ได้ภายในสองทศวรรษข้างหน้า โดยจะทำให้เกิดมลภาวะคาร์บอนประมาณ 8.3% ของมลพิษทั้งหมด
- การที่ดินปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศจะทำให้เกิดความร้อนทั่วโลกสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียคาร์บอนในดินรุนแรงขึ้น และถ้าหากสถานการณ์โลกร้อนรุนแรงขึ้น ดินก็อาจปล่อยคาร์บอนออกมาได้เช่นกัน และจะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแย่ลง
- การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน สามารถปรับปรุงสุขภาพดินได้อย่างมาก และเป็นการช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดิน พร้อมเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศอีกด้วย การปฏิบัติเหล่านี้สามารถนำไปสู่ดินที่มีสุขภาพดีขึ้น มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นและสามารถกักเก็บน้ำได้ดีขึ้น
แผ่นดินเป็นหนึ่งใน “แหล่งกักเก็บคาร์บอน” ที่สำคัญของโลก แต่เมื่อสภาพอากาศอุ่นขึ้น ดินก็สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ลดลง และในบางกรณี ดินก็เริ่มปล่อยคาร์บอนบางส่วนกลับคืนสู่อากาศ ส่งผลให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะดินใน “ออสเตรเลีย”
“ดิน” คาย “ก๊าซคาร์บอน” ที่กักเก็บมานาน
การศึกษาใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Portfolio Journal เตือนว่า ดินในออสเตรเลียอาจกลายเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุด และไม่สามารถกักเก็บ “ก๊าซคาร์บอน” ได้ภายในสองทศวรรษข้างหน้า โดยจะทำให้เกิดมลภาวะคาร์บอนประมาณ 8.3% ของมลพิษทั้งหมด แม้ว่าเราจะสามารถควบคุม “ภาวะโลกร้อน” ได้อย่างดีที่สุดแล้วก็ตาม
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคอร์ติน ทำการจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อทำนายวิถีการเปลี่ยนแปลงในออสเตรเลีย โดยพบว่า ภายในปี 2588 ดินจะคายคาร์บอนมากกว่า 14% หากโลกยังคงปล่อยมลพิษคาร์บอนออกมาในปริมาณปัจจุบัน
ดินในออสเตรเลียกักเก็บคาร์บอนไว้ประมาณ 28 กิกะตัน โดย 70% ถูกเก็บไว้ในพื้นที่ราบอันกว้างใหญ่ แม้ว่าในตอนนี้ พื้นที่เหล่านี้บางส่วนสามารถกักเก็บคาร์บอนต่อไปได้ แต่การศึกษาพบว่าการชดเชยปริมาณคาร์บอนที่สูญเสียไปจากดินในพื้นที่ที่ไวต่อสภาพอากาศที่ร้อนกว่านั้นไม่เพียงพอ โดยสาเหตุหลักมาจากการทำการเกษตรกรรม และความอ่อนไหวในดินเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้น เช่น พื้นที่ชายฝั่งทะเลและพื้นที่ราบสูง
จากแนวทางการจัดการที่ดินในปัจจุบัน รายงานคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2563-2588 พื้นที่เกษตรกรรมจะสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 0.19 ตันต่อเฮกตาร์ต่อปี
“ถ้าหากเราหาทางทำให้ดินในพื้นที่เกษตรกรรมมีประสิทธิภาพการกักเก็บคาร์บอนเพิ่มขึ้น อัตราการปล่อยคาร์บอนของดินก็จะลดน้อยลง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับภาวะโลกร้อนด้วยว่าจะรุนแรงขึ้นหรือไม่ ซึ่งถ้าหากสถานการณ์โลกร้อนรุนแรงขึ้น ดินก็อาจปล่อยคาร์บอนออกมาได้เช่นกัน และจะทำให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแย่ลง” ศาสตราจารย์ราฟาเอล วิสคาร์รา รอสเซล ผู้นำการวิจัย ทีมกล่าวว่า
หากการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ยังคงดำเนินต่อไปในอัตราปัจจุบัน อุณหภูมิของโลกจะสูงกว่า อุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรมมากกว่า 2 องศาภายในศตวรรษนี้ และจะส่งผลร้ายแรงและอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อโลก
การที่ดินปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศจะทำให้เกิดความร้อนทั่วโลกสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียคาร์บอนในดินรุนแรงขึ้น “ถ้าเราไม่ฟื้นฟูดิน โลกของเราจะอุ่นขึ้น และเราจะสูญเสียคาร์บอนเพิ่มมากกว่าเดิม มันเลวร้ายมาก เราต้องทำทุกวิถีทางที่ทำได้ เพื่อลดการสูญเสีย คาร์บอนจากในให้น้อยที่สุด” ศ.วิสคาร์รา รอสเซล กล่าว
แก้ปัญหาดินปล่อย “ก๊าซคาร์บอน”
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการคาดการณ์ที่เลวร้ายเหล่านี้ การศึกษาได้เสนอแนวทางแก้ไขบางอย่างที่อาจบรรเทาผลกระทบมที่เกิดจากการปล่อยคาร์บอนในดินได้ด้วย “การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดายหญ้า และปลูกพืชพรรณพื้นเมืองเพิ่มขึ้นในพื้นที่ราบ
การจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน สามารถปรับปรุงสุขภาพดินได้อย่างมาก และเป็นการช่วยเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในดิน พร้อมเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศอีกด้วย การปฏิบัติเหล่านี้สามารถนำไปสู่ดินที่มีสุขภาพดีขึ้น มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นและสามารถกักเก็บน้ำได้ดีขึ้น
นอกจากนี้จำเป็นต้องให้ความรู้กับชนเผ่าพื้นเมือง ให้สามารถจัดการการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และสามารถนำมาปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่น โดยเฉพาะ “การเผา” ที่เป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน แต่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพดิน ทำให้เกิดฝุ่นควัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ
การเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน นับเป็นการทำเกษตรกรรมช่วยปรับปรุงและฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน แนวทางนี้สามารถทำได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชคลุมดิน ลดการไถหน้าดิน การทำปุ๋ยหมัก และการปลูกพืชหมุนเวียนที่หลากหลาย ทั้งหมดนี้มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน สามารถผลิตอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ลดการพึ่งพาปัจจัยการผลิตทางเคมี และทนทานต่อความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ
เกษตรกรที่ใช้เทคนิคเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการลดสภาพภูมิอากาศ โดยเปลี่ยนการเกษตรจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิไปสู่การกักเก็บสุทธิที่อาจเกิดขึ้น ด้วยการมุ่งเน้นไปที่บริการด้านสุขภาพดินและระบบนิเวศ
“เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าดินในพื้นที่ราบของออสเตรเลียสามารถรักษาปริมาณคาร์บอนไว้ได้ การจับและกักเก็บคาร์บอนจะต้องอาศัยวิทยาศาสตร์แบบสหวิทยาการ นวัตกรรม ความตระหนักรู้ทางวัฒนธรรม และนโยบายที่มีประสิทธิผล” ศ.วิสคาร์รา รอสเซล กล่าว
นอกจากวิธีข้างต้นแล้ว ในตอนนี้ออสเตรเลียมีที่เกี่ยวกับการชดเชยคาร์บอนในดินที่ลงทะเบียนภายใต้หน่วยงานกำกับดูแลพลังงานสะอาด จำนวน 530 โครงการ นับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา แต่มีเพียง 7 โครงการเท่านั้นที่มีการขายคาร์บอนเครดิต โดยสามารถทำยอดขายรวมกันไปได้ 254,913 หน่วย มูลค่ามากกว่า 8 ล้านดอลลาร์ ขณะที่อีก 10 โครงการถูกเพิกถอนโดยสมัครใจ
กำไรจากการกักเก็บดินยังถูกนำมาใช้เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์ม หรือเรียกว่า “คาร์บอนอินเซ็ต” (carbon insetting) อีกทั้งยังมียังมีการประมูลวัวสายพันธุ์ดี 700 ตัว ถูกประมูลแบบปลอดคาร์บอน
ขณะที่ โฆษกจากกรมสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า “การจัดทำบัญชีเรือนกระจกระดับชาติ” สามารถวัดการเปลี่ยนแปลงของคาร์บอนในดิน อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและปริมาณน้ำฝนได้ ถูกนำใช้ในการติดตามและวัดความคืบหน้าการเข้าสู่ Net Zero ของออสเตรเลีย
นอกจากนี้รัฐบาลได้ลงทุน 40 ล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีต้นทุนต่ำ สำหรับการตรวจวัดคาร์บอนในดินได้อย่างแม่นยำ
ที่มา: Earth, Science Daily, The Guardian, The Independent