ประธานกรรมการและคณะกรรมการบริษัท กับบทบาทในการสร้างแรงขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน
ประธานกรรมการควรต้องมีบทบาทเป็นผู้นำในการจัดการกับความคาดหวังที่หลากหลายของผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน พนักงาน และลูกค้า ต่างให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น
ประธานคณะกรรมการในปัจจุบันต้องเผชิญกับความผันผวนต่างๆอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ พวกเขาเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมในการรักษาสมดุลระหว่างการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน และการสร้างความสำเร็จในระยะยาวให้กับองค์กร ความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศในหลายแง่มุม ต้องอาศัยความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องจากคณะกรรมการ โดยประธานกรรมการมีบทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าคณะกรรมการ พันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับฝ่ายบริหาร และเป็นตัวแทนและผู้กำหนดทิศทางให้กับองค์กร
ผลสำรวจผู้นำองค์กรทั่วโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2023 ของดีลอยท์ แสดงให้เห็นว่า องค์กรต่างๆ ในหลายอุตสาหกรรมได้เริ่มดำเนินการที่เป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตคาร์บอนต่ำ ผลการสำรวจโดยรวมเน้นย้ำถึงความต้องการความเร่งด่วนและความรับผิดชอบที่มากขึ้น เพื่อช่วยผลักดันวาระการประชุมเกี่ยวกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ
เพื่อทำความเข้าใจอุปสรรคต่อความก้าวหน้าและบทบาทสำคัญที่ประธานกรรมการสามารถมีส่วนร่วมในการเร่งรัดความก้าวหน้าด้านสภาพภูมิอากาศ โครงการ Deloitte Global Boardroom ได้สัมภาษณ์ประธานกรรมการ 230 คน จากบริษัทขนาดใหญ่ระดับโลก ซึ่งรวมถึงทั้งบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ข้อมูลและความเห็นต่างๆ รวบรวมผ่านการสัมภาษณ์ การประชุม และการสำรวจระหว่างปี 2022 ถึง 2024
ผลการวิจัยเผยให้เห็นว่า ท่ามกลางความสำคัญอันดับต้น ๆ ที่แข่งขันกัน ประธานกรรมการยังคงต้องให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนควบคู่ไปกับเป้าหมายระยะยาว ในด้านต่างๆอาทิ การบริหารจัดการความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียหลากหลายกลุ่ม ติดตามกฎระเบียบในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้านที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และช่วยให้คณะกรรมการมีความรู้และทักษะที่เหมาะสมในการรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
ประธานกรรมการที่ดีลอยท์สัมภาษณ์ เห็นว่าวิกฤตสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในสามประเด็นสำคัญอันดับต้น ๆ ขององค์กร และตระหนักถึงความเร่งด่วนของวิกฤตสภาพภูมิอากาศและเชื่อว่าการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน ควรเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร ผลสำรวจผู้นำองค์กรทั่วโลกด้านความยั่งยืน ประจำปี 2023 ของดีลอยท์ พบว่าร้อยละ 42 ของผู้ตอบแบบสอบถามจัดอันดับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งใน “สามประเด็นสำคัญอันดับต้น ๆ” ขององค์กร และร้อยละ 61 คาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลกระทบต่อกลยุทธ์และการดำเนินงานของบริษัทภายในสามปีข้างหน้า
การรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ ต้องอาศัยการลงทุนระยะยาว การวัดผล และความรับผิดชอบ ประธานกรรมการหลายท่านได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการสร้างความรับผิดชอบและความโปร่งใสต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงวิธีการวัดผลประสิทธิภาพของกิจกรรมด้านสภาพภูมิอากาศในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว อย่างไรก็ตามประธานกรรมการหลายท่านพบว่า การแปลผลการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศให้เป็นผลตอบแทนทางธุรกิจนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งเพิ่มความท้าทายในการพูดคุยกับคณะกรรมการบริษัท ฝ่ายบริหาร และนักลงทุน
อย่างไรก็ดี การที่องค์กรไม่ดำเนินการใดๆ ในด้านสภาพภูมิอากาศอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อองค์กร รายงาน Global Turning Point report ของดีลอยท์ ระบุว่า การไม่ดำเนินการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจโลกถึง 178 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2070 ในทางกลับกัน เศรษฐกิจโลกสามารถเติบโตได้ถึง 43 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในอีกห้าทศวรรษข้างหน้า ถ้าเร่งให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เร็วขึ้น
อีกเหตุผลที่องค์กรควรให้ความสำคัญกับการผนวกกลยุทธ์ด้านสภาพภูมิอากาศเข้ากับกลยุทธ์ทางธุรกิจ คือ การยอมรับว่าการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ไม่ใช่แค่เป็นประเด็นเพื่อการพูดคุย
เมื่อถามถึงวิธีการในการทำงานร่วมกับฝ่ายบริหาร ประธานคณะกรรมการมองว่าเป็นหน้าที่ของตนในการเตือนฝ่ายบริหารให้คำนึงถึงความคาดหวังของสังคมโดยรวม ระมัดระวังเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่อาจถูกมองว่าเป็นการฟอกเขียว และอาจเพิ่มความเสี่ยงทางกฎหมาย รวมถึงให้การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านสภาพภูมิอากาศ
ประธานกรรมการควรต้องมีบทบาทเป็นผู้นำในการจัดการกับความคาดหวังที่หลากหลายของผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งหน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุน พนักงาน และลูกค้า ต่างให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น และคาดหวังให้บริษัทมีการดำเนินการในด้านนี้ ผู้ถือหุ้นบางรายเรียกร้องให้บริษัทพยายามมากขึ้นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ธุรกิจสามารถแข่งขันและเติบโตต่อไปได้ ในขณะที่พนักงานให้ความสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน พนักงานให้ความสนใจอย่างมากต่อนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศและความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่เน้นหลักจริยธรรม ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจ 2023 Gen Z and Millennial Survey ของดีลอยท์ที่ระบุว่า การรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศของบริษัทเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดและรักษาพนักงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ คนรุ่นใหม่เชื่อว่าธุรกิจควรมีบทบาทในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำไปจนถึงความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
บทบาทของประธานกรรมการในการขับเคลื่อนโครงการด้านความยั่งยืนและการรับมือกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งในภูมิทัศน์ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน คำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยให้ประธานกรรมการมีแนวทางในการรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ
- สร้างเครือข่ายกับเพื่อนร่วมวงการ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น
- หาพันธมิตรและร่วมมือกันผลักดันการเปลี่ยนแปลง และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ปรับตัวไปพร้อมกับระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ และสื่อสารเกี่ยวกับความตั้งใจและการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศ
- เชื่อมโยงวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ และการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงให้มีความสอดคล้องกัน
- สนับสนุนแนวคิดริเริ่มใหม่ๆ
- เป็นผู้นำในการผลักดันวาระด้านสภาพภูมิอากาศ
- ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดอยู่เสมอ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความ “ประธานกรรมการในอนาคต” ปี 2024 จัดทำโดย Deloitte Global Boardroom Program โดยทำการสัมภาษณ์เชิงลึกกับประธานกรรมการบริษัททั่วโลกกว่า 200 ท่าน