‘เมษายน’ ทุบสถิติ เป็นเดือนที่ร้อนที่สุดในโลก ภายในศตวรรษนี้ร้อนขึ้น 3°C
“เมษายน” ที่ผ่านมา ทุบสถิติเดือนที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์กังวลว่ามนุษย์จะไม่สามารถคุมอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาได้ หากยังไม่เห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน
องค์กรติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของสหภาพยุโรป หรือ C3S เปิดเผยข้อมูลน่ากังวล เดือนเมษายนที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกพุ่งสูงทำลายสถิติอีกครั้ง นับเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันแล้วที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยข้อมูลใหม่นี้ นักวิทยาศาสตร์บางคนเตือนว่ามีโอกาสสูงที่ปี 2024 จะเป็นปีที่อบอุ่นที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2023
เมษายน 2024 มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนเมษายน ในยุคก่อนอุตสาหกรรม 1.58 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าเฉลี่ยเดือนเมษายน ระหว่างปี 1991-2020 ถึง 0.67 องศาเซลเซียส
ในเดือนที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับ “คลื่นความร้อน” หลายประเทศสั่งปิดโรงเรียนทำให้ เด็กกว่า 40 ล้านคน ต้องหยุดเรียน นาข้าวในเวียดนามแห้งตาย ชาวอินเดียต้องออกไปเลือกตั้งในวันที่ร้อนกว่า 40 องศาเซลเซียส และคนไทยเสียชีวีต "ฮีทสโตรก" 30 ราย เพิ่มขึ้น 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2023
ขณะที่ ทางตอนใต้ของบราซิล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศในแอฟริกาตะวันออกอย่างเคนยา และแทนซาเนียต้องเจอน้ำท่วมร้ายแรง ส่วนปากีสถานบันทึกปริมาณน้ำฝนรายเดือนปกติสองเท่าในเดือนเมษายน ทำให้เป็นเดือนที่มีฝนตกชุกที่สุดในประเทศในรอบกว่า 60 ปี
เช่นเดียวกับ พื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปมีฝนตกชุกกว่าปกติในเดือนเมษายน แต่ทางตอนใต้ของสเปน อิตาลี และคาบสมุทรบอลข่านตะวันตกกลับแห้งแล้งกว่าค่าเฉลี่ย ขณะเดียวกัน ทางตะวันออกของออสเตรเลียก็ประสบฝนตกหนัก แม้ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศจะแห้งแล้งกว่าปกติ เช่นเดียวกับทางตอนเหนือของเม็กซิโก
ส่วนอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรในเดือนเมษายน อยู่ที่ 21.04 องศา แม้จะลดลงกว่าเดือนมีนาคม เล็กน้อย แต่ก็ยังคงเป็นสถิติสูงสุดของเดือนเมษายน นับตั้งแต่เคยบันทึกมา และสร้างผลกระทบต่อระบบทางทะเลอย่างรุนแรง ในเดือนที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ “ปะการังฟอกขาว” ทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่านี่อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์
อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก เกิดขึ้นจาก “ภาวะโลกร้อน” จากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลของมนุษย์ อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจาก “ปรากฏการณ์เอลนีโญ” แม้ว่าในตอนนี้จะเริ่มอ่อนกำลังลงแล้วก็ตาม
“แม้ว่าวัฏจักรสภาพภูมิอากาศตามธรรมชาติอย่างเอลนีโญจะเกิดขึ้น และผ่านไป ความเข้มข้น และปริมาณของก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นจะทำอุณหภูมิโลกสูงขึ้นจนทำลายสถิติ” คาร์โล บูออนเทมโป ผู้อำนวยการ C3S กล่าว
ซีค เฮาส์ฟาเธอร์ นักวิทยาศาสตร์การวิจัยของ Berkeley Earth องค์กรวิเคราะห์ข้อมูลอุณหภูมิสำหรับวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ กล่าวว่า หลังจากที่เอลนีโญถึงจุดพีคแล้ว จะเข้าสู่ช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้น และจากข้อมูลที่บันทึกได้พบว่า จำนวนอุณหภูมิที่สูงขึ้นในแต่ละเดือนในปี 2024 นั้นเพิ่มจากปี 2023
เฮาส์ฟาเธอร์ กล่าวว่าโอกาสประมาณ 66% ที่ปี 2024 จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ และโอกาส 99% จะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสอง แต่ที่แน่ๆ คือ ในปีนี้จะมีอุณหภูมิจะสูงกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 1.5 องศาเซลเซียส
ประเทศต่างๆ ได้ตกลงที่จะจำกัดความร้อนของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศา เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม แม้ว่าข้อตกลงนี้หมายถึงภาวะโลกร้อนในระยะยาวในช่วงหลายทศวรรษ ไม่ได้หมายถึงระยะเวลาเพียงเดือนเดียวหรือปีเดียว แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า อุณหภูมิที่เกิน 1.5 เซลเซียสในปัจจุบัน ก็เป็นสัญญาณที่ชัดเจน และน่าตกใจของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เร็วขึ้น
อุณหภูมิตลอดทั้งปี 2024 จะเป็นตัวชี้วัดว่าอุณหภูมิของโลกจะไปในทิศทางใด สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2023 เป็นเพราะโลกได้รับแรงหนุนจากเอลนีโญ หรือเป็นสัญญาณบอกว่าโลกของเราร้อนเร็วเกินไปกว่าที่คิด
“หากในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า อุณหภูมิโลกลดลง เราก็อาจจะสบายใจได้เปราะหนึ่งว่าสภาพอากาศยังคงเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้” ทั้งนี้ เฮาส์ฟาเธอร์ เตือนว่า ถึงแม้อุณหภูมิจะลดลง แต่โลกก็ยังคงมีแนวโน้มจะร้อนขึ้น 3 องศาเซลเซียส ซึ่งอาจจะทำให้โลกเข้าสู่ “หายนะ” อย่างแท้จริง
สอดคล้องกับการสำรวจความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ที่จัดทำโดย The Guardian พบว่า นักวิทยาศาสตร์เกือบ 80% คาดว่าอุณหภูมิโลกจะสูงขึ้นอย่างน้อย 2.5 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ มีเพียง 6% เท่านั้นที่คิดว่าจะคุมให้อุณหภูมิไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
นักวิทยาศาสตร์หลายคิดว่าในอนาคตโลกของเราจะเข้าสู่ยุค “กึ่งดิสโทเปีย” ที่มีแต่ความอดอยาก และความขัดแย้ง เกิดการอพยพย้ายถิ่นฐานจำนวนมาก เพราะเกิดคลื่นความร้อน ไฟป่า น้ำท่วม พร้อมเจอพายุที่มีความรุนแรง และเกิดบ่อยกว่าเดิม
ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก กล่าวว่า พวกเขารู้สึกสิ้นหวังเคืองรัฐบาลที่ไม่ยอมดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แม้ว่าจะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนก็ตาม เกือบ 3 ใน 4 ของนักวิทยาศาสตร์ที่ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าเป็นเพราะพวกเขาไม่เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และไม่เห็นว่าประเด็นนี้จะช่วยให้นักการเมืองได้คะแนนเสียงมากขึ้น รวมถึงยังมองว่ารัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญเพราะกลัวขัดผลประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล
หลายคนยังกล่าวถึงความไม่เท่าเทียมกัน และเหลื่อมล้ำของโลกใบนี้ ประเทศที่ยากจนจะได้รับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศมากกว่าประเทศที่ร่ำรวย แม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะไม่ได้สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากเท่าประเทศร่ำรวยก็ตาม
“ฉันคิดว่าในโลกกึ่งดิสโทเปียจะทำให้ผู้คนในซีกโลกใต้ได้รับความเจ็บปวด และทุกข์ทรมาน ในปัจจุบันเราแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้แย่มาก เรากำลังติดอยู่แห่งความโง่เขลา” นักวิทยาศาสตร์ชาวแอฟริกาใต้กล่าวกับ The Guardian
ที่มา: Aljazeera, CNN, Euro News, The Guardian
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์