กรมประมง 'ลงแขกลงคลอง' จับจริง 'ปลาหมอคางดำ' กำจัดเอเลี่ยนสปีชีส์
กรมประมงและประมงจังหวัดสมุทรสงคราม จัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” ครั้งที่ 3 เดินหน้าต่อเนื่องแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำและลดผลกระทบต่อสัตว์น้ำพื้นถิ่นให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนในชุมชนและเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า กรมประมง เดินหน้าต่อเนื่องในการจัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” กำจัดปลาหมอคางดำ เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2567 ตามนโยบายของ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำและพร้อมยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการดำเนินงานอย่างเป็นระบบด้วยการผนึกกำลังความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน ให้การดำเนินงานอย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด
ในวันนี้ เป็นการจัดกิจกรรม ลงแขก-ลงคลอง ครั้งที่ 3 ณ คลองหมื่นหาญ หมู่ 6 ตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม มีเป้าหมายในการหยุดวงจรการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำสาธารณะในจังหวัดตลอดจนช่วยลดผลกระทบต่อระบบนิเวศและลดการทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่น โดยมีการเลือกใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำอย่างเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจังหวัดสมุทรสงครามตั้งเป้าจะจัดกิจกรรมนี้เป็นประจำทุกเดือนตลอดปี 2567
“การลดปริมาณปลาหมอคางดำในจังหวัดนำร่อง 5 จังหวัด คือ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร"
โดยเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มอบหมายให้กรมประมงขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และให้ระดมสรรพกำลังมาร่วมกันแก้ไขให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากที่สุด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ ช่วยฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ให้กับคืนสู่แหล่งน้ำในระยะยาว
นายบัณฑิต กล่าวว่า จากการจัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” 2 ครั้งที่ผ่านมา สามารถจับปลาได้เกือบ 700 กิโลกรัม โดยส่งต่อไปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น ปุ๋ยชีวภาพ เมนูอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ข้าวเกรียบ ไส้อั่ว น้ำปลา ปลาแดดเดียว
ทั้งนี้ เพื่อเป็นต้นแบบการส่งเสริมให้ชุมชนจับและแปรรูปปลาหมอคางดำนำไปสร้างเป็นรายได้ ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนเรียนรู้วิธีจัดการและอยู่ร่วมกับปลาหมอคางดำได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดการแพร่ระบาดไปในพื้นที่ต่าง ๆ
สำหรับมาตรการในการลดและควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ประกอบด้วย
1.พัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอคางดำ
2.ปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพง ปลาอีกง ต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 มีเป้าหมายปล่อยปลาผู้ล่า 154,000 ตัว
3.นำปลาหมอคางดำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เช่น ผลิตปลาป่น นำไปเป็นเหยื่อสำหรับเลี้ยงปลากะพงขาวและทำน้ำหมักชีวภาพ
4. สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอคางดำในพื้นที่เขตกันชนที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด
5.สร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับชุมชนสร้างความพร้อมในการป้องกันและรับมือการแพร่ระบาด
6.ติดตาม ประเมินผล และบริหารโครงการ เพื่อนำสู่การพัฒนาแผนการกำจัดปลาหมอคางดำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด