'น้ำโขงแล้ง น้ำเค็มรุก' ตัดอนาคตทุเรียนเวียดนาม
“เวียดนาม” ต้องต่อสู้กับคลื่นความร้อนและภัยแล้ง เช่นเดียวกับหลายประเทศ หากแต่เบื้องลึก มีปัญหาแม่น้ำโขง เป็นความเสี่ยงระหว่างประเทศควบคุมยาก
"โหว ฮุย โถย" ผู้อำนวยการสถาบันผลไม้ทางตอนใต้ของเวียดนามกล่าวกับชาแนลนิวส์เอเชียว่า ปัญหาสำคัญในฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนปีนี้คือ ภัยแล้งที่ยืดเยื้อและน้ำเค็มจากทะเลส่งผลให้ “ทุเรียนเวียดนาม มีคุณภาพลดต่ำลง”
“ปัญหาคุณภาพผลผลิตตกต่ำ และจะเลวร้ายลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า หากแก้ไขไม่เร็วพอ” โถยย้ำ
นับตั้งแต่จีนทำข้อตกลงนำเข้าทุเรียนเวียดนามอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน ก.ค.2565 ส่งผลให้ยอดส่งออกทุเรียนไปจีนในปี 2566 พุ่งสูงขึ้น มีมูลค่าถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า
ล่าสุด เวียดนามส่งออกทุเรียนแซงไทยแล้ว หลังไทยยืนหนึ่งส่งออกทุเรียนไปจีนนานกว่าทศวรรษ
เป้าส่งออกใหญ่ ไปให้ถึง
คนเวียดนามจำนวนมากเรียกทุเรียนเป็น “ผลไม้ทองคำ” เพราะทำให้รายได้ให้ประมาณ 70,000 ดอลลาร์ เมื่อเทียบกับข้าว หรือกาแฟที่สามารถสร้างรายได้ประมาณ 6,000 ดอลลาร์ต่อปี
จีนเป็นตลาดนำเข้าทุเรียนที่ใหญ่ที่สุด และคาดว่าปีนี้จะนำเข้าทุเรียนเวียดนามเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 พันล้านดอลลาร์
ขณะนี้ไม่ใช่แค่ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แต่ยังรวมถึงได้รับผลกระทบจากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่สร้างขึ้นทางต้นแม่น้ำของแม่น้ำโขง
ภัยคุกคาม เกินคาดจากแม่น้ำโขง
ความจริงคือ เกือบครึ่งหนึ่งของผลผลิตทุเรียนเวียดนามมาจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา น้ำเค็มไหลรุกล้ำกินเข้ามาในพื้นที่เพาะปลูก เป็นความเลวร้ายและภัยคุกคามสวนทุเรียน
“การทำสวนทุเรียนกำลังยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่เพาะปลูก กำลังเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุด” ทาน ฟาน เหงีย หนึ่งในเกษตรกรกลุ่มแรกที่นำเข้าต้นทุเรียนหมอนทองจากประเทศไทยประมาณ 20 ปีที่แล้ว เพื่อนำมาปลูกพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งติดริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยตอนนี้กลายเป็นศูนย์กลางการปลูกทุเรียนในประเทศ
เหงียและเกษตรกรอีกมาก กำลังทนทุกข์จากผลกระทบพลังน้ำที่สร้างขึ้นในบริเวณต้นน้ำของแม่น้ำโขง เพื่อกักเก็บน้ำจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำลดลง ทำให้น้ำทะเลสูงกว่าและไหลเข้ามาแทนที่ รุกล้ำพื้นที่สวนทุเรียนเกษตรกรเวียดนาม
น้ำทะเลไหลเข้าสู่แม่น้ำโขง กินพื้นที่ขยายไปไกลถึง 120 กม. ทำให้น้ำที่ใช้เพาะปลูกเค็มเกินไปโดยเฉพาะในช่วงแล้ง ที่สำคัญต้นทุเรียนอ่อนไหวมากกับภัยคุกคามนี้
“ปีนี้ ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลงมาก เพราะอ่างและเขื่อนเก็บน้ำที่บริเวณต้นน้ำในจีน และลาว” ทาน ปา ฮวง ผู้อำนวยการสถาบันทรัพยากรน้ำภาคใต้ของเวียดนามกล่าวและเสริมว่า เป็นความเลวร้ายกว่าเดิม เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนิโญ่
หน่วยงานด้านชลประทานของเวียดนามพยายามขยายเครือข่ายเส้นทางประตูระบายน้ำ และระบบชลประทานที่เชื่อมกับแม่น้ำโขง เพื่อป้องกันปัญหาน้ำเค็ม
สถานการณ์ฉุกเฉิน มาเหนือภัยแล้ง
หลายจังหวัดทางตอนใต้ของเวียดนามประกาศภาวะฉุกเฉินจากภัยแล้ง โดยมีประชาชนหลายหมื่นคนทนทรมานกับการขาดแคลนน้ำจืดอย่างรุนแรง เพราะภัยแล้งยืดเยื้อจากคลื่นความร้อน
ความจริงคือ ฝนไม่ตกในรอบ 4 เดือน ทำชาวบ้านในจังหวัด Tien Giang ต้องพึ่งพาน้ำจากรถบรรทุกน้ำแจกของทางการ นี่ไม่รวมถึงความต้องการใช้น้ำเพื่อเพาะปลูกของเกษตรกร
ทุเรียนทะลัก ขยายพื้นที่ปลูกเร็ว
เกษตรกรทุเรียนเวียดนามขยายสวนรวดเร็ว เนื่องจากเห็นว่าเป็นพืชเศรษฐกิจทำรายได้สูง สิ่งนี้สร้างความกังวลให้หน่วยงานทางเกษตรในเรื่องอุปทานส่วนเกิน และทุเรียนมีคุณภาพหรือไม่
“เกษตรในหลายพื้นที่ได้เปลี่ยนจากการปลูกข้าวและกาแฟ มาปลูกทุเรียน” สถาบันผลไม้ทางตอนใต้เวียดนามระบุ
รายงานกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามบอกไว้ว่า เวียดนามมีพื้นที่ทุเรียนกว่า 9 แสนไร่ทั่วประเทศ ซึ่งสูงกว่าตั้งไว้ 4.5 แสนไร่ หรือกว่าครึ่งหนึ่ง นั่นหมายถึงเวียดนามต้องหาตลาดระบายสินค้า
ตอนนี้ ทุเรียนเวียดนามประมาณครึ่งหนึ่งกำลังออกลูก โดยเมื่อปีที่แล้วเวียดนามมีผลผลิตสูงถึง 1.2 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในไม่กี่ปีข้างหน้า
ปัจจุบันหน่วยงานด้านการเกษตรเวียดนามพยายามหยุดการขยายทำสวนทุเรียน เพราะกังวลทุเรียนล้นตลาด ขณะที่จีนตรวจสอบและอนุญาตทุเรียนเวียดนามที่ได้คุณภาพตามเป้าหมายเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ ส่งออกไปยังตลาดจีนได้
นี่เป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ซับซ้อนภายในประเทศเวียดนามเอง ยังไม่รวมสิ่งที่ต้องเผชิญการแข่งขันจากไทยและมาเลเซีย ผู้ส่งออกทุเรียนที่มีคุณภาพไปยังตลาดจีน
ที่มา : CNA