เส้นทาง ESG: แม้จะเดินช้า แต่ไม่มีวันถอยหลัง!

สวัสดีครับ การลงทุนในกองทุนประเภทความยั่งยืน (ESG) นอกจากจะให้ผลตอบแทนในรูปตัวเงินแก่เราแล้ว ยังช่วยส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชนด้วย

ฟังดูเป็นกองทุนในอุดมคติเลยใช่ไหมครับ แล้วเหตุใดนักลงทุนบางกลุ่มกลับถอนเงินออกจากกองทุนเช่นนี้

เมื่อไม่นานมานี้เกิดปรากฎการณ์ที่นักลงทุนในสหรัฐอเมริกาทยอยถอนเงินจากกองทุนที่เกี่ยวโยงกับความยั่งยืนเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกกันว่า “ESG Backlash” ด้วยสาเหตุว่าผลตอบแทนไม่สูงเท่าที่คาดหวังไว้  นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับองค์กรบางแห่งที่โดนคำครหาว่า “กล่าวอ้างเกินจริง” ด้านความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Washing) รวมถึงนักการเมืองที่โจมตีองค์กรที่รณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น

เพียงปี 2567 ปีเดียว มีการถอนเงินจากกองทุนรักษ์โลกในสหรัฐอเมริกาไปแล้วกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังถอนออกเรื่อยๆ  คำถามตอนนี้คือโลกเรากำลังหันหลังให้กับอนาคตสีเขียวหรือไม่

คำตอบคือไม่ใช่ครับ  ประเทศแถบยุโรปยังคงลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ขาดสาย แม้จะมีอาการชะลอบ้าง  อีกทั้งยังได้ปรับมาตรฐานต่างๆ ให้เข้มงวดกว่าเดิมด้วยซ้ำ อาทิ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุนในยุโรป หรือ European Securities and Markets Authority (ESMA) ได้ออกกฎเกณฑ์ใหม่ว่ากองทุนที่มีชื่อประเภท ESG, Socially Responsible Investing (SRI), Impact หรือ Transition (ซึ่งล้วนเป็นชื่อที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนทั้งสิ้น) จะไม่สามารถลงทุนในบริษัทด้านน้ำมัน ก๊าซ หรือถ่านหินได้  ทางออกคือกองทุนต้องขายหุ้นบริษัทเหล่านั้นทิ้งหรือเปลี่ยนชื่อกองทุนเสีย

 

กฎเกณฑ์ดังกล่าวกระทบถึงสองในสามของกองทุนประเภทยั่งยืนในยุโรป และถือเป็นการกระชับกฎระเบียบให้เข้มงวดขึ้นอย่างมาก  อีกทั้งสหภาพยุโรปได้กำหนดให้บริษัทขนาดใหญ่ในยุโรปต้องเริ่มรายงานความยั่งยืนอย่างละเอียดตามมาตรฐาน Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ตั้งแต่ปี 2568

ในทำนองเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ในจีนได้ประกาศแนวทางการรายงานความยั่งยืน ซึ่งจะบังคับใช้กับบริษัทจดทะเบียนกว่าห้าพันแห่งนับจากปี 2569 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบเกี่ยวกับการสนับสนุนหรือผลกระทบต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทเหล่านั้น

มีอีกหลายประเทศเลยครับที่เตรียมยกระดับการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนจากภาคสมัครใจเป็นภาคบังคับในระยะที่ต่างกันไปตามความพร้อม เพื่อสร้างความโปร่งใสบนหนทางสู่การบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน

หากมองย้อนมาที่ประเทศไทย ผมเชื่อว่าเราจะเดินหน้าต่อไปเช่นเดียวกับยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่กำลังปรับหลักเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล ESG ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น  ล่าสุดเรามีกองทุนน้องใหม่ที่จะเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ตลาด ESG อย่างกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund) เพื่อการลงทุนในกิจการที่เน้นความยั่งยืน ซึ่งปรับเพิ่มประโยชน์การลดหย่อนภาษีให้มากขึ้นกว่าปีก่อน ครอบคลุมจำนวนหุ้นมากขึ้น รวมทั้งลดระยะเวลาถือครอง

ทั้งนี้ รายงาน Global Risks Report 2024 โดย World Economic Forum ได้คาดการณ์ความเสี่ยงที่รุนแรงที่สุดระดับโลก 10 อันดับสำหรับหนึ่งทศวรรษข้างหน้า  สี่อันดับแรกเป็นความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมเรียงติดกัน  มาแรงแซงหน้าความเสี่ยงทางเทคโนโลยีและความเสี่ยงทางสังคมในอันดับรองลงมา  โดยความเสี่ยงที่ครองตำแหน่งสูงสุดคือความเสียหายจากสภาพอากาศสุดขั้วทั้งบนภาคพื้นดิน ในห้วงน้ำ และลักษณะภูมิอากาศ อาทิ ไฟป่า อุทกภัย และคลื่นความร้อน  ปรากฎการณ์โลกเดือดเหล่านี้ซึ่งเกิดถี่ขึ้นทุกวันล้วนส่งผลกระทบทางกายภาพที่ทั้งไทยและทั่วโลกไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป

เห็นได้ชัดว่าแม้เกิดกระแส ESG Backlash ที่ค่อนข้างหนักหน่วง แต่ทิศทางทั่วโลกยังคงเขม็งเกลียวเพิ่มความเข้มงวดของกฎเกณฑ์ด้านความยั่งยืน เดินไปข้างหน้า ไม่มีถอยกลับ ด้วยเหตุที่ว่าความยั่งยืนนั้นเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ  ภายใต้สภาวะปัจจุบัน เรากำลังหลังชนฝา และหากไม่เดินหน้าต่อ ความเสี่ยงของทั้งระบบเศรษฐกิจและสังคมโลกในอนาคตจะทวีคูณจนไม่อาจกู้คืนได้อีกครับ

เส้นทาง ESG: แม้จะเดินช้า แต่ไม่มีวันถอยหลัง!