ระบบนิเวศของ ‘แอนตาร์กติกา’ ถูกทำลายจากขยะ โรคระบาด และเอเลี่ยนสปีชีส์
การศึกษาพบว่าขยะ โรค และเอเลี่ยนสปีชีส์จากแอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย อาจรบกวนระบบนิเวศของ “แอนตาร์กติกา” หากแผ่นน้ำแข็งละลายหมดทวีป
KEY
POINTS
- ขยะจากออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ และนิวซีแลนด์สามารถเดินทางไปถึงแอนตาร์กติกาได้ โดยขยะบางชิ้นใช้เวลาเพียงแค่ 9 เดือนด้วยซ้ำ
- ขยะเหล่านี้มักจะมีเชื้อโรคและสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กติดไปด้วย หากพวกมันสามารถตั้งอาณานิคมในทวีปแอนตาร์กติกาได้ จะทำให้ ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
- ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เหลือน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่เพียง 768,000 ตารางไมล์ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2010 ถึง 30% และเป็นปีที่สามติดต่อกันที่น้ำแข็งตกลงมาต่ำกว่า 2 ล้านตารางไมล์
ระบบนิเวศ ทวีปแอนตาร์กติกา อาจเผชิญกับภัยคุกคามครั้งใหญ่ในไม่ช้า หากอุณหภูมิยังคงพุ่งสูงขึ้น จน น้ำแข็งละลายหมดทวีป ซึ่งจะทำให้ขยะ เชื้อโรค และ เอเลี่ยนสปีชีส์ สามารถขึ้นมาอยู่อาศัยและรุกรานแนวชายฝั่งแอนตาร์กติก ทำลายสายพันธุ์ท้องถิ่นได้
การศึกษาซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Global Change Biology ใช้การจำลองกระแสน้ำในมหาสมุทรเพื่อติดตามเส้นทางของวัตถุที่ลอยออกมาจากประเทศต่าง ๆ ตลอด19 ปี พบว่า ขยะจากออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ อเมริกาใต้ และนิวซีแลนด์สามารถเดินทางไปถึงแอนตาร์กติกาได้ โดยขยะบางชิ้นใช้เวลาเพียงแค่ 9 เดือนด้วยซ้ำ ส่วนวัตถุจากหมู่เกาะในมหาสมุทรแอนตาร์กติกจะทำให้เกิดแผ่นน้ำแข็งถล่มบ่อยยิ่งขึ้น
วัตถุที่สามารถเคลื่อนที่ไปยังแอนตาร์กติกา มีด้วยกันหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นขยะ พลาสติก เศษไม้ และหินภูเขาไฟ รวมไปถึงสิ่งมีชีวิต ทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็กหลายชนิด ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ลอยมาจากเกาะห่างไกลที่อยู่ในเขตมหาสมุทรใต้เท่านั้น แต่การวิจัยครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้สามารถเข้าถึงแนวชายฝั่งแอนตาร์กติกาได้จากทวีปทางตอนใต้ทั้งหมด
“สิ่งต่าง ๆ จากทางเหนือ ทั้งอเมริกาใต้ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และแอฟริกาใต้ สามารถล่องลอยไปถึงแอนตาร์กติกาได้ไกลมากกว่าที่เราคิดไว้มาก” ดร.ฮันนาห์ ดอว์สัน ผู้นำการวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ กล่าว
แมวน้ำนอนอยู่บนธารน้ำแข็งแอนตาร์กติกาที่ละลายอย่างรวดเร็ว
เครดิต: JUAN BARRETO / AFP
ในตอนนี้ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นและน้ำแข็งในทะเลละลายอย่างรวดเร็ว ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เหลือน้ำแข็งปกคลุมพื้นที่เพียง 768,000 ตารางไมล์ ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1981-2010 ถึง 30% และเป็นปีที่สามติดต่อกันที่น้ำแข็งตกลงมาต่ำกว่า 2 ล้านตารางไมล์
ดังนั้นมลพิษของพลาสติกและซากสัตว์สามารถลอยลงไปทางใต้ไกลกว่าเดิม ในปี 2566 พบว่าจำนวนอนุภาคพลาสติกที่ลอยอยู่ในมหาสมุทรโลกเกิน 170 ตัน ส่วนเอเลี่ยนสปีชีส์ก็จะมีโอกาสที่จะย้ายมาตั้งถิ่นฐานตามชายฝั่งขั้วโลกใต้มากขึ้น
เซริดเวน เฟรเซอร์ ผู้ร่วมเขียนการศึกษาและนักชีวภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอตาโก้ กล่าวว่า พลาสติกที่ลอยอยู่สามารถนำพามดและเชื้อโรค เช่น โรคไข้หวัดนก มากได้ ในขณะที่สาหร่ายทะเลมีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจจะยาวได้มากกว่า 10 เมตร อาจจะมีสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น ปู ดาวทะเล และทากติดพันไปด้วย และหากพวกมันสามารถตั้งอาณานิคมในทวีปแอนตาร์กติกาได้ จะทำให้ ระบบนิเวศทางทะเลเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก
“มันเป็นเรื่องน่ากังวลจริง ๆ สำหรับสายพันธุ์ท้องถิ่นของทวีปแอนตาร์กติกา หากสายพันธุ์ต่างถิ่นสามารถเดินทางและตั้งถิ่นฐานบนชายฝั่งแอนตาร์กติกที่อุ่นขึ้นได้สำเร็จ สายพันธุ์เหล่านี้จะมีข้อได้เปรียบในการเอาตัวรอดได้มากกว่าสายพันธุ์ท้องถิ่น ที่เติบโตช้ากว่า” เฟรเซอร์กล่าว
“สุดท้ายแล้วเอเลี่ยนสปีชีส์อาจแข่งขันกับสายพันธุ์ท้องถิ่น และสายพันธุ์ท้องถิ่นเหล่านั้นก็อาจจะเสียที่อยุ่อาศัยไปในที่สุด”
การศึกษายังพบว่า บริเวณ คาบสมุทรแอนตาร์กติก มีความเสี่ยงต่อการถูกสายพันธุ์ต่างถิ่นรุกรานมากที่สุด เนื่องจากสิ่งต่าง ๆ มักจะขึ้นฝั่งที่จุดเหนือสุดของทวีป และเป็นไปได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้คาบสมุทรนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เอเลี่ยนสปีชีส์สามารถอาศัยอยู่ได้
“วัตถุส่วนใหญ่มาถึงปลายคาบสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิค่อนข้างอบอุ่นและมักไม่มีน้ำแข็ง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เอเลี่ยนสปีชีส์สามารถตั้งรกรากได้ก่อน” แมทธิว อิงแลนด์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ซึ่งเป็นผู้เขียนร่วมกล่าว
ปรกติแล้วสิ่งมีชีวิตที่เคยลอยไปทางแอนตาร์กติกาอาจถูกทำลายโดยน้ำแข็งทับถมอยู่ในทะเล ที่มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง หรือไม่สามารถอยู่รอดในอากาศที่หนาวเย็นได้ หากปริมาณน้ำแข็งในแอนตาร์กติกายังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สิ่งมีชีวิตที่ลอยอยู่บนผิวน้ำหรือเกาะอยู่กับวัตถุลอยน้ำอาจสามารถตั้งรกรากในทวีปได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบนิเวศ
ธารน้ำแข็งในแอนตาร์กติกา
เครดิต: REUTERS/Ueslei Marcelino
ที่มา: Independent, Phys, The Conversation, The Guardian