การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หายนะแค่เอื้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หายนะแค่เอื้อม

เดือนสิงหาคม 2567 ต้องบันทึกไว้ว่าเกิดสถานการณ์อุทกภัยที่สร้างความเสียหายรุนแรงในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย จากร่องลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ปะทะกับความชื้นจากทะเล ทำให้ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในขณะที่เดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงสุดในประเทศไทยถูกบันทึกไว้ที่ 44.2 องศาเซลเซียส ที่จังหวัดลำปาง ซึ่งสูงขึ้นเฉลี่ยกว่า 1-2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ฤดูร้อนปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด (Heat Stroke) ถึง 61 คน มากกว่าปีที่ผ่านมาที่มีเพียง 37 คน (ที่มา: ASIA TIMES)

อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นผลจากปรากฏการณ์คลื่นความร้อน ซึ่งทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำและฝนตกล่าช้า คาดว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในประเทศไทยในปี 2567 จะลดลงกว่า 24% จากภาวะปกติ ส่งผลกระทบต่อ GDP ภาคอุตสาหกรรมของไทย

เช่นเดียวกับในปี 2563 และ 2564 ที่เคยมีรายงานว่า ภัยแล้งทำให้ GDP ภาคอุตสาหกรรมลดลง 5.94% และ 4.12% ตามลำดับ (ที่มา: Bangkok Post)

ความแปรปรวนเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางไม่แต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่ปกติ

เช่น การเกิดหิมะตกในเทือกเขาเซียร่าเนวาดา (Sierra Nevada) ในแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นปัญหาของทุกประเทศทั่วโลก 

ความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้ส่งผลทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อมิติอื่น ๆ ที่กระทบชีวิตมนุษย์ เช่น การลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ การเสื่อมสภาพของดินและแหล่งน้ำ การลดลงของผลผลิตทางการเกษตร

และการเพิ่มขึ้นของโรคที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น โรคที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งกำลังแพร่ระบาดมากขึ้นเนื่องจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลต่อความมั่นคงด้านอาหาร (food security) ทั่วโลก โดยเฉพาะธัญพืชที่เป็นอาหารหลัก เช่น ข้าวสาลี ข้าว ข้าวโพด และถั่วเหลือง ที่มีแนวโน้มว่าผลผลิตจะลดลง

หากเราไม่สามารถหาทางชะลอปัญหาเหล่านี้ได้ ประชากรโลกอาจเสี่ยงต่อภาวะขาดแคลนอาหารในอีกเพียง 20 กว่าปีข้างหน้าเท่านั้น ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรในโลกนี้มากยิ่งขึ้น

การประชุม Conference of the Parties (COP) ซึ่งเป็นการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ประชุมครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 28 (COP28) ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

มีการทบทวนความคืบหน้าของประเทศสมาชิกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปฏิบัติตามเป้าหมายในข้อตกลงที่ผ่านมา รวมถึงหารือการสนับสนุนทางการเงินให้กับประเทศกำลังพัฒนาเพื่อช่วยให้สามารถปรับตัวในสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

สำหรับประเทศไทย ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ในการประชุม COP 26 เมื่อสามปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างยิ่ง

การจะบรรลุเป้าหมายข้างต้นได้ต้องทำงานแบบบูรณาการอย่างเข้มข้น ตั้งแต่กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งปัจจุบันรับเป็นแกนกลางประสานงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งยังสงสัยในอำนาจว่ามีมากน้อยแค่ไหนกับภาระหนักเช่นนี้ (ที่จริงควรไปขึ้นกับนายกรัฐมนตรีน่าจะบูรณาการได้ดีกว่า)

กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งพยายามเพิ่มการลงทุนจากต่างประเทศร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีแผนในเรื่องการลงทุนอุตสาหกรรมสะอาดขนาดไหน

กระทรวงพลังงานจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดอย่างไร จะกระจายอำนาจการจัดการพลังงานให้กับท้องถิ่นได้มากน้อยเพียงไหนภายใต้เทคโนโลยี Smart Grid รวมถึงสร้างระบบการซื้อขายไฟฟ้าจากบ้านเรือนที่จะส่งเสริมให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดด้วยต้นทุนที่ถูกลงโดยรัฐบาลอาจจะต้องเข้าอุดหนุน

ยังไม่รวมกระทรวงเกษตรที่จะต้องเพิ่มพื้นที่ป่า และสนับสนุนการเกษตรแบบใหม่ที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดอออกไซด์ ลดการเผา ซึ่งวันนี้ยังทำไม่สำเร็จ รวมถึงกระทรวงคมนาคมที่ต้องพยายามสร้างการเดินทางที่ลดการปล่อยมลพิษ เพราะวันนี้รถควันดำเต็มถนนยังไม่สามารถทำอะไรได้

ยังไม่นับว่ากระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีมาตรการทางภาษีจูงใจให้กิจการหันมาใช้พลังงานสะอาดและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร จะมีผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่สนับสนุนทั้งภาคการดูดซับและภาคปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร รวมทั้งจะทำให้ตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเข้มแข็งคึกคักได้อย่างไร

การตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ต้องผนึกกำลังทุกภาคส่วนของสังคมอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และความร่วมมือจากต่างประเทศ

ไม่เช่นนั้นปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะกลายเป็นหายนะของประเทศไทย ในฐานะประเทศการเกษตรที่ผลิตอาหารเลี้ยงโลก และการต้องรับผลกระทบจากอุบัติภัยทางธรรมชาติซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกๆ ปี อย่างที่เห็นและเป็นอยู่ เป็นเรื่องที่น่าวิตกอย่างยิ่ง

ทั้งยังยิ่งวิตกหนักเข้าไปอีกว่า รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมคนใหม่จะรู้เรื่องเหล่านี้ดีสักแค่ไหน.

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หายนะแค่เอื้อม