‘กรีนแลนด์’ เจอ ‘สึนามิ’ สูง 200 เมตร นาน 9 วัน เหตุจาก ‘โลกร้อน’ ทำน้ำแข็งละลาย
นักวิทยาศาสตร์พบ สึนามิสูงเกือบ 200 เมตร ในกรีนแลนด์ เกิดขึ้นจากน้ำแข็งละลายจนทำให้เกิดคลื่นสึนามิหลายครั้งต่อเนื่องกัน กินเวลานานถึง 9 วัน โดยที่ไม่มีใครรู้มาก่อน
KEY
POINTS
- นักวิทยาศาสตร์เพิ่งไขปริศนา การสั่นสะเทือนในเดือนกันยายน 2023 ที่รับรู้ได้จากทั่วโลก ซึ่งเกิดนานต่อเนื่องกันถึง 9 วัน ว่ามาจาก คลื่นสึนามิครั้งใหญ่บนเกาะกรีนแลนด์
- สึนามิครั้งนี้เกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ลิ้นน้ำแข็ง (Ice tongue) พังทลายลง ทำให้ไหล่เขาที่ลาดชันเกิดความไม่มั่นคง ส่งผลให้ยอดเขาสูง 1.2 กิโลเมตรถล่มลงมา เกิดเป็นคลื่นยักษ์ติดต่อกัน 9 วัน
- พื้นที่อาร์กติก และซับอาร์กติก มีอุณหภูมิร้อนขึ้น 2-3 เท่าของพื้นที่ส่วนที่เหลือของโลก และแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์จะสูญเสียน้ำแข็งประมาณ 30 ล้านตันต่อชั่วโมง
กันยายน 2023 เครื่องวัดแผ่นดินไหวตรวจพบการสั่นสะเทือนปริศนาทั่วโลก ตั้งแต่บริเวณอาร์กติกไปจนถึงแอนตาร์กติกา ลักษณะสัญญาณนี้ไม่เคยพบเห็นมาก่อน เพราะมีความแตกต่างจากแผ่นดินไหว และความถี่ที่ส่งออกมาซ้ำๆ นานต่อเนื่องกันถึง 9 วัน โดย คาร์ล เอเบลิง นักธรณีวิทยา จากสถาบันสมุทรศาสตร์สคริปปส์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก กล่าวว่า “มีสัญญาณประหลาดที่ไม่เคยพบมาก่อนเกิดขึ้นในสถานีบางแห่งทางตอนเหนือของเรา”
ไม่นานหลังจากที่เกิดการสั่นสะเทือน เรือสำราญลำหนึ่งแล่นผ่านบริเวณฟยอร์ดในกรีนแลนด์ สังเกตเห็นว่า อาคารวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และกองทหารเดนมาร์กใช้สำหรับการลาดตระเวนด้วยสุนัขลากเลื่อนบนเกาะเอลลาถูกทำลาย
แต่แล้วเหตุการณ์ปริศนานี้ ก็เพิ่งถูกคลี่คลายโดยกองทัพเดนมาร์ก นักสมุทรศาสตร์ และกลุ่มนักธรณีวิทยาจากทั่วโลก เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2024 นักวิจัยได้เผยแพร่ข้อสรุปในวารสาร Science ระบุว่า เกาะแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งที่เคยบันทึกไว้ โดยมีคลื่นสูงถึง 650 ฟุต หรือเกือบ 200 เมตร ซึ่งมาจากคลื่นสึนามิที่เกิดซ้ำซากติดต่อกัน อันเป็นผลมาจาก “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
นักวิจัยพบว่าปัจจัยเบื้องต้นที่กระตุ้นให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวคือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ลิ้นน้ำแข็ง (Ice tongue) ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งบางๆ ที่ยื่นเข้าไปในทะเลพังทลายลง ทำให้ไหล่เขาที่ลาดชันเกิดความไม่มั่นคง ส่งผลให้ยอดเขาสูง 1.2 กิโลเมตร ถล่มลงมาที่ฟยอร์ด ดิกสัน อันห่างไกลของกรีนแลนด์ มีหิน และน้ำแข็งประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร พุ่งชนฟยอร์ด ซึ่งเพียงพอที่จะเติมสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกได้ 10,000 สระ
สภาพภูเขาหลังจากเกิดดินถล่มครั้งใหญ่ในฟยอร์ด ดิกสัน ของกรีนแลนด์ เมื่อปี 2023
เครดิตภาพ: กองทัพเดนมาร์ก
สึนามิขนาดใหญ่กินเวลา 9 วัน
ปริมาณน้ำมหาศาลพัดถล่มฟยอร์ดแคบๆ ที่มีความกว้างประมาณ 2.4 กิโลเมตร ซัดสาดกลับขึ้นไปในอากาศสูงถึง 200 เมตร ก่อให้เกิดคลื่นสูง 110 เมตร ที่แผ่ขยายออกไป 10 กิโลเมตร ข้ามฟยอร์ด และลดลงเหลือ 7 เมตรภายในไม่กี่นาที
เนื่องจากดิน และน้ำแข็งถล่มซัดเข้าใส่ทางน้ำในมุมเกือบ 90 องศา ทำให้คลื่นน้ำสะท้อนไปมาเป็นเวลา 9 วัน นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “การกระเพื่อมขึ้นลงของน้ำ” หรือ “คลื่นเซช” (Seiche) ซึ่งคล้ายกับน้ำที่กระเซ็นไปมาในถ้วย ที่จริงนักวิทยาศาสตร์รู้จักเซชอยู่แล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันจะอยู่ได้นานถึงขนาดนี้
คลื่นสึนามิที่เกิดขึ้น บางลูกสูงอย่างน้อยเท่าเทพีเสรีภาพ ได้ซัดขึ้นกำแพงหินสูงชันที่เรียงรายอยู่ริมฟยอร์ด และส่งผลให้เกาะเอลลา ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่ดินถล่มประมาณ 72 กิโลเมตร ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิสูงอย่างน้อย 4 เมตร และพัดพาเอาแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอายุหลายศตวรรษไปจนหมด สร้างความเสียหายให้กับฐานทัพทหาร เหลือเพียงพื้นที่ว่างเปล่า เคราะห์ดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ เพราะคลื่นสึนามินี้เกิดขึ้นตามเส้นทางเดินเรือสำราญที่ใช้กันทั่วไป
นักวิทยาศาสตร์พบว่าคลื่นสึนามินี้เองที่สร้างพลังงานแผ่นดินไหวในเปลือกโลก จนเกิดเป็นสัญญาณลึกลับที่ได้ยินกันไปทั้งโลก โดยสัญญาณดังกล่าวเดินทางจากกรีนแลนด์ไปยังแอนตาร์กติกาในเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมง
“ไม่มีใครเคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน” คริสเตียน สเวนเนวิก หัวหน้าคณะผู้วิจัย นักธรณีวิทยา และนักวิจัยอาวุโสของสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาเดนมาร์ก และกรีนแลนด์ กล่าว
ทีมวิจัยรู้ว่าเกิดเหตุการณ์นี้จากการสร้างแบบจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ ภาพจากดาวเทียม และการวัดภาคสนามเพื่อสร้างภาพจำลองของดินถล่ม และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นขึ้นมาใหม่ โดยแบบจำลองของพวกเขาทำนายว่าน้ำจะไหลไปมาในฟยอร์ดที่คดเคี้ยวทุกๆ 90 วินาที เป็นเวลาประมาณ 9 วัน
การสร้างแบบจำลองนี้สอดคล้องกับการบันทึกการสั่นสะเทือนที่เคลื่อนที่ไปรอบๆ เปลือกโลก ทำให้เกิดเสียงทั่วทั้งดาวเคราะห์ ซึ่งคลื่นสึนามิครั้งนี้ถือเป็นสึนามิที่ยาวนานที่สุดที่นักวิทยาศาสตร์เคยสังเกต เพราะโดยปกติแล้วคลื่นสึนามิที่เกิดจากดินถล่มมักจะสงบลงภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
“เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” อลิซ กาเบรียล ผู้เขียนร่วมของการศึกษากล่าว “โลกเป็นระบบที่มีพลวัตสูง และในขณะนี้เราอยู่ในช่วงที่สมดุลอันละเอียดอ่อนนี้ถูกรบกวนอย่างรุนแรง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
สึนามิจากดินถล่มเกิดบ่อยกว่าเดิม
สึนามิที่เกิดจากดินถล่มมักเกิดขึ้นบ่อยแต่ไม่ค่อยเป็นข่าว และเป็นอันตรายต่อผู้ที่อาศัยหรือทำงานในบางภูมิภาคของอาร์กติก และซับอาร์กติก ในปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 4 ราย บ้านเรือน 11 หลังพังทลายหลังจากสึนามิที่มีความสูงอย่างน้อย 91 เมตร ดินถล่มพัดถล่มหมู่บ้านนูกาตเซียคทางตะวันตกของกรีนแลนด์ และปัจจุบันนี้มีหมู่บ้านสองแห่งถูกทิ้งร้าง และผู้คนหลายร้อยคนที่ต้องอพยพออกจากบ้าน เนื่องจากอาจเกิดดินถล่มได้ทุกเมื่อ
เมื่อเดือนสิงหาคม 2023 สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาของสหรัฐรายงานว่าเกิดคลื่นสึนามิดินถล่มสูง 90 ฟุตที่ทะเลสาบน้ำเค็มชายฝั่งพีเดอสัน ในอะแลสกา แสดงให้เห็นว่าโลกของเรากำลังเข้าใกล้จุดวิกฤติ เบรตวูด “ฮิก” ฮิกแมน นักธรณีวิทยา กล่าวว่า เขากำลังรวบรวมหลักฐานที่บ่งชี้ว่าสึนามิดินถล่มเกิดมากขึ้น “ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเรากำลังเห็นเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้น แต่เรายังไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน หรือจะเกิดเมื่อไหร่”
พื้นที่อาร์กติก และซับอาร์กติกมีอุณหภูมิร้อนขึ้น 2-3 เท่าของพื้นที่ส่วนที่เหลือของโลก และแผ่นน้ำแข็งของกรีนแลนด์จะสูญเสียน้ำแข็งประมาณ 30 ล้านตันต่อชั่วโมง ซึ่งเมื่อน้ำแข็งละลาย พื้นผิวสีเข้มใต้น้ำแข็งที่ปรากฏออกมาจะดูดซับแสงอาทิตย์ไว้มากขึ้น โดยอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดดินถล่มได้บ่อยขึ้นในพื้นที่ ที่มีธารน้ำแข็ง
ประการแรกคือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวถูกกัดเซาะ ซึ่งอาจทำให้ความลาดชันอ่อนแอลงและมีแนวโน้มที่จะพังทลายลง อีกทั้งภาวะโลกร้อนทำให้ธารน้ำแข็งที่คอยพยุงความลาดชันของหินบางลง ซึ่งบางครั้ง ดังนั้นเมื่อน้ำแข็งบางลงก็อาจทำให้เกิดดินถล่มลงกะทันหัน ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังเพิ่มโอกาสการเกิดฝนตกหนัก ซึ่งเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ทำให้ดินถล่ม เนื่องจากหิน และดินที่ชุ่มน้ำมีแนวโน้มที่จะพังทลายมากกว่า
ความเสี่ยงที่สึนามิจากดินถล่มจะเป็นอันตรายต่อชีวิต และทรัพย์สินมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความเจริญได้ขยายตัวออกไปถึงบางพื้นของขั้วโลก มีคนงานเหมือง ผู้ส่งสินค้า และนักท่องเที่ยวเดินทางมาแถวขั้วโลกมากขึ้น
“มีคนอยู่ที่นั่นมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยง และอันตรายจากดินถล่มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ถือเป็นเรื่องที่อันตราย” สเวนเนวิก กล่าว
ที่มา: CNN, Euro News, NBC News
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์