The EU Green Deal: โอกาสหรือความเสี่ยงของธุรกิจไทย? – (1)
สหภาพยุโรป หรือ EU เป็นภูมิภาคหนึ่งที่มีการดำเนินงานด้านการจัดการสภาพภูมิอากาศ (Climate Actions) ที่จริงจังและเข้มข้น โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกนโยบายหลักที่ชื่อ "EU Green Deal" หรือ The European Green Deal เมื่อเดือนธ.ค. 2019
เพื่อมุ่งให้สังคมเจริญเติบโตและทันสมัย ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือที่ EU ใช้คำว่า “Climate Neutrality” ภายในปี 2050 รวมถึงมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2030 ลงร้อยละ 55 เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการปล่อยของปีฐาน (ค.ศ.1990) จึงเป็นที่มาของชุดมาตรการที่ชื่อ "Fit for 55 Package"
EU ได้มีการออกกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ EU Green Deal เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีผลบังคับใช้ทั้งกับประเทศสมาชิก EU และอาจมีผลบังคับใช้กับผู้ประกอบการที่อยู่ในประเทศนอก EU ซึ่งมีกิจกรรมทางธุรกิจเกี่ยวข้องกับ EU หรืออยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chains) ของธุรกิจใน EU ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการไทยที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบ อาทิ บริษัท A ส่งออกสินค้าสำเร็จรูปบางประเภทและมีการวางขายในตลาด EU บริษัท B ส่งออกวัตถุดิบหรือชิ้นส่วน เพื่อนำไปประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ บริษัท C สัญชาติไทยที่ดำเนินธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการใน EU หรือสาขาของบริษัทแม่สัญชาติ EU ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเบื้องต้นมีตัวอย่างของกฎระเบียบ EU ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ดังรูป
กฎระเบียบหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยอย่างแน่นอน คือ EUDR หรือ EU Deforestation Regulation ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อห้ามการนำเข้าสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า (Deforestation) สู่ตลาด EU และเพื่อลดการบริโภคสินค้าจากห่วงโซ่อุปทานที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า และการทำให้ป่าเสื่อมโทรมให้มากที่สุด ทั้งนี้ EUDR มีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2023 ซึ่งมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน 18 เดือน โดยจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2024 มีสินค้าและผลิตภัณฑ์ภาคการเกษตรที่เข้าข่าย 7 รายการ ได้แก่ ยางพารา กาแฟ โกโก้ ไม้ ปาล์มน้ำมัน โค ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องตามที่ EU กำหนด ดังนั้นผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวในตลาด EU มีหน้าที่ต้องดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (due diligence) อย่างเข้มงวด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลไปถึงแหล่งผลิตได้ ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์พบว่า ปี 2023 ไทยมีสินค้าภายใต้ EUDR ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ยางพารา ไม้ และปาล์มน้ำมัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยัง EU ควรพิจารณาและดำเนินการตามที่ EU กำหนดอย่างเคร่งครัด เนื่องจากกฎระเบียบนี้จะควบคุมการวางตลาดของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และมีการกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจน
กล่าวโดยสรุป การดำเนินงานตามกฎหมายและกฎระเบียบของ EU เป็นทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบ ซึ่งความท้าทายที่เห็นชัดเจน คือ การมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเพื่อปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดตั้งหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรับผิดชอบ การเก็บรวบรวมข้อมูล การรายงานข้อมูล การตรวจสอบวิเคราะห์สถานะด้านความยั่งยืนสำหรับองค์กรธุรกิจ (corporate sustainability due diligence) เป็นต้น แต่อาจมองเป็นโอกาสได้เช่นกัน เมื่อนำต้นทุนของการปฏิบัติตามมาเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนและผลกระทบต่าง ๆ จากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของ EU หรือที่เรียกว่า "Cost of non-compliance"
นอกจากนี้ ผลกระทบด้านลบที่จะมีต่อธุรกิจไทยที่เข้าข่ายอาจมีมากกว่าที่คิด อาทิ ภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นและอาจส่งผลเสียต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน การถูกตัดออกจากการเป็นคู่ค้าสำคัญที่ทำธุรกิจกับบริษัทโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นคู่ค้าที่อยู่ในยุโรปหรือทวีปอื่น ดังนั้น ผู้ประกอบการในประเทศไทยที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบของ EU จึงจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยละเอียด วางแผนเพื่อรับมือ ตลอดจนเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวหรือปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด