'ไบโอชาร์' จากชีวมวล ลดคาร์บอน นวัตกรรมสู้โลกร้อน สู่ Net Zero
NRF มีเป้าหมายเรื่องของความยั่งยืนชัดเจน โดยจะนำ "ไบโอชาร์" จากชีวมวลลดคาร์บอน ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม กำหนดภารกิจขององค์กรในการจะทำให้ระบบอาหาร การเกษตรทั่วโลกมีความยั่งยืน รวมถึงลดโลกร้อน และช่วยสร้างรายได้ให้บริษัท นำสินค้าเข้าสู่ Net Zero ในปี 2050
ภาวะโลกเดือด ที่กำลังเกิดขึ้น ส่งผลกระทบกับการดำรงชีวิตของทุกคนอย่างชัดเจน ซึ่งในแต่ละปีจะเห็นได้ว่ามีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของปัญหา ฝุ่นละออง PM2.5 ที่ได้กลายเป็นตัวการอันดับต้นๆ ของอันตรายต่อสุขภาพของคนไทย โดย "อุตสาหกรรมการผลิตอาหาร" เป็น 1 ใน 3 สาเหตุหลักในประเทศไทยที่ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมจำนวนมหาศาล
บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กลุ่มบริษัทผู้นำด้านการผลิตผลิตภัณฑ์ปรุงรสอาหารและอาหารสำเร็จรูป ผู้นำด้าน Specialty Food ที่มีประสบการณ์มานานกว่า 30 ปี มีผลิตภัณฑ์หลากหลายจนเรียกได้ว่าเป็นบริษัท One Stop Service และมีสินค้าส่งออกไปใน 30 ประเทศทั่วโลก โดย NRF ได้นำแนวคิดและวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนมาบริหารองค์กร ผ่านโครงการต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2050
ผลักดันอุตสาหกรรมอาหารสู่ Net Zero
นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ NRF กล่าวว่า NRF มีเป้าหมายเรื่องของความยั่งยืนอย่างชัดเจน และมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่การกำหนดภารกิจขององค์กรในการจะทำให้ระบบอาหารทั่วโลกอย่างยั่งยืน และเข้าสู่ Net Zero อย่างรวดเร็ว ซึ่งการดำเนินการด้วยภารกิจดังกล่าวของ NRF สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 13 เรื่องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action) มุ่งตอบโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรให้ระบบอาหาร การเกษตร และทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานสามารถก้าวเดินร่วมกันด้วยความเป็นธรรม มีรายได้ ทำให้บริษัท และสินค้าเข้าสู่ Net Zero ในปี 2050
"ตั้งแต่มีการกำหนดเป้าหมายสร้างระบบอาหารทั่วโลกอย่างยั่งยืนและเข้าสู่ Net Zero ปี 2050 NRF พยายามจะดำเนินการให้เร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่อาจจะยาก เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไร กระบวนการผลิตส่วนหนึ่งก็จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ไม่ใช่เพียงคาร์บอน อย่างเช่น NRF ต้องซื้อข้าวจากเกษตรกร ซึ่งมีก๊าซมีเทนอยู่แล้ว ดังนั้น NRF จึงได้ศึกษาเรื่องนี้จากทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2018 ว่าจะทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมอาหาร บริษัทผู้ผลิตอาหารอย่าง NRF เข้าสู่ Net Zero ได้" นายแดน กล่าว
ลดคาร์บอน เริ่มจากภาคการเกษตร
จากการศึกษา พบว่า วิธีเดียวที่จะทำให้อุตสาหกรรมอาหาร บริษัทผู้ผลิตอาหารเข้าสู่ Net Zero ได้คือ ภาคการเกษตร หรือต้นน้ำ เพราะในกระบวนการผลิตย่อมมีการปล่อยพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง การขนส่ง ของเสีย (Waste) และแพ็กเกจจิง สิ่งเหล่านี้สามารถลดได้เพียงระดับหนึ่ง ในห่วงโซ่อุปทานมีเพียงภาคการเกษตร ที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ เนื่องจากการปล่อยคาร์บอน เกิดจากยาฆ่าแมลง ปุ๋ยการเผา
"โครงการถ่านชีวภาพจากเกษตรกร" เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งเป็นการลดคาร์บอนในภาคการเกษตร และลดการเผาไหม้ โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมกับภาคการเกษตรของไทย โดยค้นหาพื้นที่ชุมชนที่ต้องการแก้ปัญหาหมอกควัน ที่เกิดจากการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในภาคเหนือ เบื้องต้นนำร่องเฟสแรกใน 2 ชุมชน จังหวัดลำพูน และเชียงใหม่
นายแดน กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 300-340 ล้านตันต่อปี ซึ่งการเผาในการเกษตร น่าจะอยู่ประมาณ 50 ล้านตัน แต่เท่าที่ทราบไม่ได้นับอยู่ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย NRF พยายามดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายก่อนปี 2050 โดยตอนนี้เราได้ดำเนินการในหลายเรื่อง อาทิ การซื้อคาร์บอนเครดิต เรามีโรงงานผลิตอาหารที่ได้รับประกาศนียบัตรรับรองว่าปราศจากคาร์บอน (Carbon Neutral) เป็นเวลาต่อเนื่อง 4 ปี จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และดำเนินการลดคาร์บอนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
กระบวนการผลิตถ่านชีวภาพ
โครงการถ่านชีวภาพจากเกษตรกร มีการขออนุญาตเผาชีวมวลอย่างถูกกฎหมาย จัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติและตรวจสอบจากหน่วยงานที่ได้มาตรฐานสากล เตรียมเอกสารออกแบบโครงการและมีการสร้างแบบจำลองชั้นเคลือบ เพื่อลดการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการปรับปรุงสถานที่ผลิต เพื่อความสะดวกสบายของคนในชุมชน รวมถึงการออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำ เพื่อสร้างระบบรีไซเคิลน้ำที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการตรวจสอบอุปกรณ์และเครื่องจักรที่จะช่วยรวบรวมเศษข้าวโพดในแปลงเกษตร ให้มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดหาวัตถุดิบ สำหรับผลิตถ่านชีวภาพ
นอกจากนั้น NRF ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ วิจัยและพัฒนาต้นแบบเตาเผาถ่านชีวภาพที่สามารถรองรับวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรได้มากถึง 50 กิโลกรัมต่อวัน โดยมีรูปแบบการเผาที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การใช้ฟืน การใช้น้ำมันพืชใช้แล้ว และถ่านอัดแท่ง สามารถควบคุมอุณหภูมิในการเผาได้ถึง 700 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบระบบชุดอบวัตถุดิบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตถ่านชีวภาพด้วย
NRF ยังได้ส่งทีมให้ความรู้แก่พี่น้องเกษตรกร รวมถึงการค้นหาชุมชนที่พร้อมเข้าร่วมโครงการ มีการสนับสนุนเงินทุน และสร้างความเข้าใจแก่ภาคเกษตรกรว่า ภาคเอกชนต้องการช่วยเหลือ เพื่อให้ภาคเกษตรกรเห็นความตั้งใจของภาคเอกชน ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องการเผาไหม้ว่าส่งผลต่อโลกร้อน หรือภัยพิบัติต่างๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างไร เช่น น้ำท่วม หรืออากาศที่ร้อนมากขึ้น และพบว่า เกษตรกรพร้อมจะมีส่วนร่วม แต่พวกเขาไม่รู้ว่าจะเข้าร่วมได้อย่างไร การที่ภาคเอกชนให้ความรู้ นำเทคโนโลยีมาใช้ และสนับสนุน เป็นจุดสำคัญที่จะช่วยพี่น้องเกษตรกรได้
แปรรูปชีวมวล สู่ไบโอชาร์ช่วยโลกร้อน
นายแดน มั่นใจว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวในระยะแรกจะประสบความสำเร็จ และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยถ่านชีวภาพที่ได้จากกระบวนการนี้ สามารถนำไปใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีในแปลงเกษตร ช่วยกักเก็บคาร์บอนในดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม พร้อมทั้งจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ให้มากขึ้น และจะช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือก ไม่เผาไร่ และผลิตสินค้าเกษตรในรูปแบบ Net Zero ที่มีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารและประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
"นวัตกรรมและเทคโนโลยีมีความสำคัญมาก เพราะการแก้ปัญหาของโลกร้อน ต้องมีการนำนวัตกรรมที่สามารถนำไปสู่การใช้งานได้จริงๆ และเหมาะสมกับประเทศนั้นๆ อีกทั้งสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง NRF ศึกษานวัตกรรมและเทคโนโลยีจากทั่วโลกว่าในแต่ละประเทศที่นำนวัตกรรมไปใช้ได้ผลหรือไม่ จนกระทั่งได้นวัตกรรมที่เหมาะสมกับภาคการเกษตรของไทยคือ การแปรรูปชีวมวลให้กลายเป็นถ่านชีวภาพ (ไบโอชาร์) ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมเตาเผาที่ไร้มลพิษ มาเป็นเครื่องมือสำคัญต่อสู้กับโลกร้อน" นายแดน กล่าว
"ไบโอชาร์" มีการดำเนินงานใน 2 ชุมชน ซึ่งมีเกษตรกร และชาวบ้านเข้าร่วม 200 กว่าคน เป็นการช่วยชุมชน เกษตรกร ทั้งในเรื่องของรายได้และโลกร้อน เพราะในอีก 20 ปี ข้างหน้า ภาคการเกษตรของไทยจะประสบปัญหา หากเกษตรกรไม่เข้ามามีส่วนร่วมลดคาร์บอน แก้โลกร้อน โครงการดังกล่าวถือเป็นก้าวแรกของ NRF และเกษตรกรที่จะขับเคลื่อนเข้าสู่เกษตรยั่งยืน หากไม่เริ่มวันนี้ การเกษตรไทยจะมีปัญหาเกิดขึ้นมากกว่าเดิม เนื่องจากจะมีปัญหาภัยพิบัติมากขึ้น อีกทั้งการส่งออกภาคเกษตรจะมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาคเกษตรไทยต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาจจะมีผลกระทบในการส่งออก
นายแดน กล่าวเสริมว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการนำร่อง ซึ่งมีผลสำเร็จพอสมควร โดยได้ไบโอชาร์มาแล้ว หลังจากนั้นจะต้องนำไปสู่การฝังในไร่ เพราะถ่านชีวภาพที่ได้จากกระบวนการนี้สามารถนำไปใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีในแปลงเกษตร ช่วยกักเก็บคาร์บอนในดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตในภาคเกษตรกรรม และหากทำให้ต่างประเทศยืนยันในกระบวนการดังกล่าวว่าสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้จริง ก็จะนำไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
นวัตกรรมลดคาร์บอน ต้องเหมาะกับบริบท
"ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากทั้งในและต่างประเทศ มาใช้ในลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยโลกร้อน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่อาจจะไม่เหมาะกับภาคส่วนนั้นๆ เช่น NRF ก่อนหน้านี้ได้มีการนำนวัตกรรมจากต่างประเทศมาใช้กับเกษตรกรของไทย พบว่าไม่เหมาะ เพราะเกษตรกรแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ภาคเอกชนต้องค้นหานวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ และลักษณะการทำงานของเกษตรกร หรือภาคส่วนต่างๆ โดยต้องเป็นนวัตกรรมใช้ง่าย สามารถใช้ได้จริง เกิดประโยชน์ ลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก และช่วยประเทศไทย รวมถึงโลกได้อีกด้วย" นายแดน กล่าว
นายแดน กล่าวอีกว่า นวัตกรรมที่ดีที่สุดต้องเป็นนวัตกรรมที่ง่ายที่สุด แต่ถ้าหากไม่มีการนำนวัตกรรมมาใช้ การเลือกประเภทสินค้าและผลิตภัณฑ์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะสามารถต่อสู้กับโลกร้อน และทุกคนยังสามารถช่วยภาคเกษตรหรือช่วยโลกให้ยั่งยืนได้ เพราะทุกครั้งที่มีการตัดสินใจซื้อสินค้า อยากให้ทุกคนหันมาสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีหรือกระบวนการผลิตสีเขียว ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Green ซื้อสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ Net Zero เพราะหากทุกคนเลือกซื้อสินค้าและผลิตภัณฑ์ หรือบริการต่างๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะสามารถช่วยแก้ปัญหา และต่อสู้โลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง
NRF ยังมุ่งมั่นนําผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ พร้อมทั้งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนชุมชนในการรับมือกับสภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งแก้ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่เพียงจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ แต่ยังช่วยส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันของไทยในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหภาพยุโรป (EU) ได้กำหนดมาตรการทางสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น การเป็นประเทศที่สามารถผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย