“เปรมประชาวนารักษ์”ป่ากลางเมืองมีเรื่องเล่า ปลูกความยั่งยืนสู่ชาวไทย

“เปรมประชาวนารักษ์”ป่ากลางเมืองมีเรื่องเล่า ปลูกความยั่งยืนสู่ชาวไทย

“คลองเปรมประชากร” เป็นคลองที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ขุดขึ้น ตั้งแต่บริเวณหน้าวัดโสมนัสวิหาร ยาวไปจนถึง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา รวมระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร

แต่ปัจจุบันคลองเปรมประชากรประสบปัญหาการถูกรุกล้ำ รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดจากการขยายตัวของชุมชน อาทิ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาการทิ้งขยะลงคลอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นปัญหาที่คลองเปรมประชากรกำลังประสบอยู่จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของลำคลองและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยโดยรอบ ทำให้คลองเปรมประชากรในวันนี้กลับมาสวยงามและใช้ประโยชน์ได้เต็มศักยภาพอีกครั้ง

“เปรมประชาวนารักษ์”ป่ากลางเมืองมีเรื่องเล่า ปลูกความยั่งยืนสู่ชาวไทย

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หน่วยราชการในพระองค์ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินโครงการพัฒนาคลองเปรมประชากร โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 2560 เป็นต้นมา ด้วยการฟื้นฟูคลองทั้งระบบ เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์”

                เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยในการดำเนินโครงการพระราชดำริตามพระบรมราโชบายด้านการพัฒนาสายน้ำ คูคลอง สิ่งแวดล้อมเมือง และคุณภาพชีวิตประชาชน จึงได้ร่วมพัฒนาพื้นที่ถนนกำแพงเพชร 6 แนวขนานคลองเปรมประชากร เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

“เปรมประชาวนารักษ์”ป่ากลางเมืองมีเรื่องเล่า ปลูกความยั่งยืนสู่ชาวไทย

 

โดยจัดสรรพื้นที่จำนวน 10 ไร่ ซึ่งจากเดิมเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า นำมาออกแบบจัดสร้างเป็นสวนสาธารณะ โดยใช้เวลาประมาณ 5 เดือน ตั้งแต่ มี.ค.-ก.ค. 2567 บอกเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต่อประชาชน ด้วยทรงมีพระราชดำริพัฒนาระบบคลองและพื้นที่ชุมชน ตลอดแนวคลองเปรมประชากร เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของราษฎร โดยความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้กรอบ 3 ด้าน คือ หนึ่งเพื่อสืบสาน โดยการอนุรักษ์พรรณไม้เกียรติประวัติ และพรรณไม้ดั้งเดิมของกรุงเทพมหานคร อาทิ ต้นไทรย้อย เคียงคู่ ต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ใจกลางสวน และ พรรณไม้พื้นถิ่น อาทิ ตะเคียนทอง

                สองเพื่อรักษา สมดุลระบบนิเวศเมืองในภาพรวม ด้วยการผสมผสานพรรณไม้หลากหลายชนิด  สาม เพื่อ ต่อยอด พื้นที่สีเขียวให้คนเมือง ยกระดับสวนสาธารณะเพื่อนิเวศบริการ ทั้งเป็นแหล่งพักผ่อน นันทนาการ สถานที่ศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิต รวมถึงเป็นจุดเชื่อมโยงขนส่งมวลชน เป็นต้นแบบ Community Green Space พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเชื่อมโยงวิถีชุมชนโดยรอบ และมีเส้นทางสัญจรที่เชื่อมต่อระบบล้อ (ถนนวิภาวดีรังสิต) ราง (สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง-ทุ่งสองห้อง) และ เรือ (คลองเปรมประชากร)

                "ในโอกาสอันเป็นมงคลยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อสวนแห่งนี้ว่า “เปรมประชาวนารักษ์” อันหมายถึง สวนที่นำความสุขและความเบิกบานใจมาสู่ประชาชน โดยได้รับการดูแลรักษาด้วยความรัก

                นอกจากนี้ ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตเชิญตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ไปประดิษฐานที่ป้ายชื่อสวนสาธารณะ

                พร้อมกับทรงปลูกต้นประดู่ป่า จำนวน 1 ต้น ซึ่งเพาะเมล็ดจากต้นประดู่ป่าที่ทรงปลูกต้นที่ 100 ล้าน ณ แปลงปลูกป่า FPT 49 ในโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ 1 ล้านไร่ ของ ปตท. ณ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงปลูกต้นพิกุล จำนวน 1 ต้น เพื่อเป็นสิริมงคล เสริมส่งความร่มเย็นในพื้นที่สวนแห่งนี้

                ภายในสวนเปรมประชาวนารักษ์ ประกอบด้วย สวนสาธารณะ อาคารนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ‘ชลวิถีธีรพัฒน์’ และท่าเรือ เพื่อเป็นจุดเชื่อมทางสัญจร โดยมีต้นไม้ดั้งเดิมขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กลางพื้นที่โครงการ ประกอบกับแนวคิดการออกแบบเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผสานโครงสร้างหลัก ดังนี้ เลข 10 ไทย (๑๐) ที่หันทิศทางไปทางคลองเปรมประชากร เนื่องจากในอดีต ลำคลองคือเส้นทางสัญจรหลัก เปรียบเสมือนหน้าบ้าน เป็นการต้อนรับผู้มาเยือน

                ต้นไม้ดั้งเดิมในพื้นที่ เปรียบเสมือนตัวแทนในการเล่าเรื่องราว ผ่านกาลเวลาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ต้นไม้เพื่อส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ให้อากาศบริสุทธ์ ประกอบด้วย ไม้ยืนต้น 39 สายพันธุ์ รวมจำนวน 272 ต้น และไม้พุ่ม 19 สายพันธุ์

                อาคารนิทรรศการ “ชลวิถีธีรพัฒน์” ซึ่งหมายความถึง การพัฒนาสายน้ำของผู้เป็นปราชญ์แห่งแผ่นดิน เป็นการจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่โครงการพระราชดำริตามพระบรมราโชบายในการสืบสาน รักษา ต่อยอด การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต บรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร โดยมุ่งเน้นโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตามพระบรมราโชบาย ภายในอาคารนิทรรศการแบ่งออกเป็น 3 ห้อง ดังนี้                ห้องที่ 1 ‘ชลวัฏวิถี’ บอกเล่าความสำคัญของสายน้ำต่อชีวิต นำมาสู่การแก้ไขและบรรเทาปัญหาน้ำอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                ห้องที่ 2 ‘ชลธีร์ราชทรรศน์’ มุมมองที่กว้างไกลในการพัฒนาแหล่งน้ำของพระราชา จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จ- พระเจ้าอยู่หัวทรงสืบสานแนวคิดของสมเด็จพระบรมชนกนาถ รวมเข้ากับเทคโนโลยี และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน มาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ให้มีน้ำใช้เพียงพอ สร้างความมั่นคงและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

                ห้องที่ 3 ‘ชลวิวัฒน์เพื่อประชา’ การพัฒนาสายน้ำเพื่อประชาชน แสดงถึงผลสำเร็จของโครงการ จำนวน 10 โครงการ ตามพระบรมราโชบายที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับสายน้ำและการขาดแคลนน้ำในทุกมิติทั้งกายภาพและภูมิสังคม เพื่อความยั่งยืนและผาสุกของปวงชน

“เปรมประชาวนารักษ์”ป่ากลางเมืองมีเรื่องเล่า ปลูกความยั่งยืนสู่ชาวไทย