Thaioil Weekly Oil Market and Outlook as of 10 March 2025

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 61-71 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 65-75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 - 14 มี.ค. 68)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับลดลงเนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปคและชาติพันธมิตร (OPEC+) ตัดสินใจคงแผนการเพิ่มกำลังผลิตตามเดิม ขณะที่อุปสงค์น้ำมันเผชิญความไม่แน่นอนสูงขึ้นเพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีครั้งใหม่กับจีน แคนนาดาและเม็กซิโก นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อเศรษฐกิจของเยอรมนี จากหนี้สาธารณะของประเทศที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากนโยบายเศรษฐกิจของจีน หลังที่ประชุมประจำปีของของสภาประชาชนแห่งชาติ ยังคงเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ระดับ 5% รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการดำเนินนโยบายการคลังที่ขาดดุลมากขึ้น นอกจากนี้ตลาดยังคงจับตาการเจรจาข้อตกลงแร่หายากระหว่างสหรัฐฯ และยูเครนอย่างใกล้ชิด
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้
• กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบและชาติพันธมิตร (OPEC+) ตัดสินใจคงมติที่จะเพิ่มกำลังผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 138,000 บาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือน เม.ย. 68 นี้ เป็นต้นไป และจะทยอยปรับเพิ่มกำลังผลิตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2569 โดยปริมาณกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นรวมจะอยู่ที่ระดับ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ในปัจจุบัน โดยการเพิ่มกำลังผลิตของกลุ่มมีขึ้นท่ามกลางอุปสงค์ของน้ำมันที่ยังคงมีความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าครั้งใหม่ของสหรัฐฯ
• ตลาดยังคงจับตามาตรการภาษีศุลกากรใหม่ของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดเนื่องจากเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว โดยสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนนาดาจะถูกเรียกเก็บในอัตราภาษีที่ระดับ 25% ยกเว้นสินค้าในหมวดพลังงานของแคนนาดาซึ่งจะถูกเก็บในอัตราภาษีที่ระดับ 10% ขณะที่สหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจีน จากเดิม 10% เป็น 20% โดยรัฐบาลแคนาดาประกาศตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐที่ระดับ 25% เช่นเดียวกับรัฐบาลของจีนที่ประกาศตอบโต้ผ่านการเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่ระดับ 15% สำหรับสินค้าการเกษตรจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ล่าสุดรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากแคนาดาและเม็กซิโกที่ระดับ 25% จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 มี.ค. 68 ออกไปอีก 1 เดือน
• การประชุมประจำปีของของสภาประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress – NPC) ของจีน ส่งสัญญาณที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ระดับ 5.0% เช่นเดิม แม้ในปีนี้เศรษฐกิจจีนจะยังคงเผชิญกับความท้าทายจากสงครามการค้าครั้งใหม่และวิกฤตในภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ นอกจากนี้จีนยังคงเดินหน้าใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการตั้งเป้าหมายขาดดุลงบประมาณของปี 2568 ที่ระดับ 5.66 ล้านล้านหยวน ซึ่งคิดเป็น 4% ของจีดีพี
• สถานการณ์ความขัดแย้งในฝั่งยุโรปตะวันออกยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดเนื่องจากการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ และยูเครนประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ส่งผลให้รัฐบาลสหรัฐฯ ระงับความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนเป็นการชั่วคราวเพื่อกดดันให้ยูเครนกลับเข้าสู่โต๊ะเจรจาเพื่อลงนามในข้อตกลงด้านทรัพยากรแร่ธาตุ และนำไปสู่การเจรจาหยุดยิงระหว่างรัสเซียและยูเครน อย่างไรก็ดี คำกล่าวของนายโดนัล ทรัมป์ ซึ่งแถลง
ต่อสภาคองเกรสในวันพุธที่ผ่านมา บ่งชี้ว่ายูเครนพร้อมที่จะลงนามในข้อตกลงแร่ธาตุกับสหรัฐฯ
• ตลาดยังคงจับตาเศรษฐกิจของยุโรปอย่างใกล้ชิดเนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของเยอรมนี ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเขตยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2533 แสดงถึงความกังวลต่อเศรษฐกิจที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น หลังนายกรัฐมนตรีเยอรมนีคนใหม่ประกาศเพิ่มงบประมาณทางด้านกลาโหมอย่างมีนัยสำคัญ ภายหลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทยอยปรับลดงบประมาณด้านกลาโหมแก่ชาติในยุโรป
• ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน ก.พ. 68 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต เดือน ก.พ. 68
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 – 7 มี.ค. 68)
• ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 66.36 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 4.58 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 69.46 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70.11 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสมาชิกกลุ่มโอเปคและชาติพันธมิตรตัดสินใจคงมติที่จะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบจำนวน 138,000 บาร์เรลต่อวันตั้งแต่เดือน เม.ย. นี้ เป็นต้นไป ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าอุปทานน้ำมันดิบจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นและกดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก ขณะที่สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นสูงเกิดคาด โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 28 ก.พ. 68 ปรับเพิ่มขึ้น 3.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 433.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.3 ล้านบาร์เรล