สมาคมบลจ. เคลียร์ปมกองหุ้นสหรัฐ เตรียมเปิดรายชื่อวันนี้ หวังช่วยคลายกังวล
สมาคมบลจ. แจงชัดกองทุนไทยไม่มีลงทุนตรงใน SVB เผยส่วนใหญ่ลงผ่านมาสเตอร์ฟันด์ มีราว 10-15 กองทุน เตรียมเปิดเผยรายชื่อวันนี้ หวังสร้างความมั่นใจ ย้ำยังไม่พบเงินไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ ด้าน บลจ. ทยอยชี้แจงผู้ลงทุน ยืนยันผลกระทบจำกัด
จากเหตุการณ์ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์(SVB)ถูกรัฐบาลสหรัฐสั่งปิด และเข้าควบคุมกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่องนั้น แม้ว่าผลกระทบต่อไทยยังจำกัด แต่ปฏิเสธไม่ได้ความกังวลต่อประเด็น SVB ที่จะขยายวงไปยังสถาบันอื่นๆ นั้น ยังเป็นแรงกดดันต่อตลาดการลงทุนในภาพรวม
ในฝั่งของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ได้มีการติดตามเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบลจ.ที่ไปลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ หรือกองทุนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งมีนโนบายการลงทุนในสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับหุ้น SVB
โดยได้ตรวจสอบและสอบถามข้อมูลกองทุนรวมต่างประเทศ หรือ กองทุนหลัก (มาสเตอร์ฟันด์) ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว พร้อมทยอยแจงข้อมูลกองทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหน่วย
ล่าสุด นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บลจ. กรุงไทย ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการกองทุน ( AIMC) เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้มีการตรวจสอบกองทุนภาพรวมต่อผลกระทบจากการปิดตัวของ SVB พบว่า ในเบื้องบลจ.ไม่มีกองทุนที่ลงทุนโดยตรงในหุ้น SVB แต่กองทุนต่างๆ ที่มีการลงทุนในสหรัฐ ส่วนใหญ่กลุ่มไฟแนนซ์เชียล และไฟแนนซ์เชียลเทคโนโลยี คาดว่า มีเพียงราว 10-15 กองทุน ที่มีการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมในต่างประเทศที่เป็นมาสเตอร์ฟันด์ พร้อมเตรียมเปิดรายชื่อกองทุนวันนี้ เพื่อช่วยคลายกังวล
ภายใต้เหตุการณ์นี้ ทุกบลจ.ได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ สอบถามไปยังมาสเตอร์ฟันด์ถึงผลกระทบ และการปรับนโยบายการลงทุน พบว่า ผลกระทบดังกล่าวยังจำกัด เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงส่งผลเฉพาะกลุ่มไฟแนนซ์และไฟแนนซ์เชียลเทคโนโลยี รวมถึงที่ผ่านมาได้มีการปรับลดสัดส่วนการลงทุน
ขณะเดียวแต่ละบลจ.ได้มีการชี้แจงลูกค้าที่มีการสอบถามเข้ามาบ้าง ทำให้สถานการณ์ในตอนนี้ยังไม่พบว่า มีเงินไหลออกทั้งจากมาสเตอร์ฟันด์และกองทุนไทยที่เก่ี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด เชื่อว่าแต่ละ บลจ.มีมาตรการดูแลลูกค้ารองรับไว้แล้ว
“ปัญหา SVB เป็นเรื่องเฉพาะเจาะจงและผลกระทบจำกัดแต่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบในแง่เซ็นทริเมนต์และไม่น่จะเกิดผลกระทบระยะยาว แต่คงต้องติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด แนะนำการลงทุนหุ้นสหรัฐ ยังต้องรอข้อมูลและการแก้ปัญหาที่ชัดเจนก่อน ขณะที่หุ้นไทยดัชนีปรับตัวลงมาที่ระดับ 1,500 จุด ตามกระแสตลาดโลกที่ปรับตัวลง มองเป็นโอกาสเข้าสะสมแต่ไม่ต้องรีบร้อน”
บลจ.วรรณ ได้แจ้งผู้ลงทุนให้ทราบว่า บริษัทได้ประเมินผลกระทบต่อการลงทุนจากเหตุการณ์ดังกล่าว พบว่า กองทุนส่วนใหญ่ของ บลจ.วรรณ ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากไม่ได้มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับธนาคารทั้ง 2 แห่ง
มีเพียงกองทุนเปิดวรรณ โกลบอล ไฟแนนเชียล (ONE-GLOBFIN) ซึ่งกองทุนหลัก BGF World Financials Fund มีการ ลงทุนหุ้น SVB อยู่ประมาณ 2.2% และ Signature Bank ประมาณ 1.8% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ณ สิ้น เดือน ก.พ. 2566 (ข้อมูลได้รับจากกองทุนรวมหลัก ณ วันที่ 13 มี.ค. 2566)
ในส่วนของกองทุนรวมอื่นๆบลจ.วรรณมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นทั้งสองบริษัทอย่างไม่มีนัยสำคัญ โดยทั้งหมดเป็นการลงทุนผ่านกองทุนดัชนีETF
สำหรับกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนโดยรวม ได้แก่ กองทุน 1US-OPP มี สัดส่วนประมาณ 0.017%, ONE-PREMIER และ ONE-ULTRA มีสัดส่วนประมาณ 0.001% (มีเพียง Signature Bank) (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค. 2566)
บลจ.วรรณ มองว่าเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อภาคการเงินโลกค่อนข้างจำกัดเฉพาะในกลุ่มธนาคารที่มีฐาน ลูกค้าในธุรกิจขนาดเล็ก/กลุ่มเทคโนโลยี/FIntech และมีโอกาสค่อนข้างน้อยที่จะก่อให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่
เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการบริหารสภาพคล่องที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอเป็นหลัก โดยในปัจจุบัน สถานะทาง การเงินของภาคธนาคารแข็งแกร่งกว่าในช่วงที่เคยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 การเข้ามาควบคุมสถานการณ์จากภาครัฐอย่างรวดเร็วเป็นส่วนส าคัญที่ช่วยให้ปัญหาไม่ลุกลามและยืดเยื้อ ผ่าน โครงการ “Bank Term Funding Program” โดยผู้ฝากเงินทั้งหมดสามารถถอนเงินตัวเองได้เต็มจ านวนตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค. 2023
ทั้งนี้ บลจ.วรรณ คาดว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อ Sentiment การลงทุนในหุ้นกลุ่มการเงินในระยะ สั้น และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Growth ที่มีความผันผวนสูง และบริษัทยังไม่ได้มีผล กำไรที่ยังต้องพึ่งการสนับสนุนจากทางการอยู่ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้อาจจะยังถูกกดดันจากความกังวลด้านเศรษฐกิจถดถอย หลัง Fed มีแนวโน้มในการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อไป (Higher for longer)
เช่นเดียวกับ บลจ.กสิกรไทย และบลจ.ยูโอบี ย้ำว่าไม่มีการลงทุนตรงใน SVB แต่มีการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนหลักในสัดส่วนที่น้อยมาก จึงทำให้ได้รับผลกระทบจำกัด และผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น และไม่พบว่าผู้ถือหน่วยแห่ขายหน่วยลงทุนเกิดขึ้น