เศรษฐกิจสหรัฐยังน่ากังวลหรือไม่
จากการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา คณะกรรมการมีมติขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% สู่ 5.00 – 5.25% ตามคาด
โดยคณะกรรมการยังคงไม่ปิดโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจที่จะถูกนำมาใช้พิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป อย่างไรก็ดี นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดประเมินว่า เฟดน่าจะอยู่ใกล้จุดที่จะยุติการขึ้นดอกเบี้ย หรืออาจจะอยู่ที่จุดที่ควรยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว
ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า เฟดน่าจะยุติการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เริ่มส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคธนาคาร โดยที่ธนาคารบางแห่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยรวมในภาคธนาคาร ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวลุกลามเป็นวงกว้าง ก็อาจเป็นการยากที่จะแก้ไข และอาจต้องใช้เงินจำนวนมาก นอกจากนี้ ตลาดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวลงแรงจากผลของฐานสูง ดังนั้น เฟดจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อไป
การที่เฟดมีแนวโน้มยุติการขึ้นดอกเบี้ย ได้ส่งผลบวกต่อบรรยากาศการลงทุน เนื่องจากนักลงทุนมองว่าต้นทุนการทำธุรกิจอาจจะไม่สูงไปกว่านี้มากนัก ในขณะที่ตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นการบ่งชี้ว่าผู้บริโภคจะยังคงมีความสามารถในการใช้จ่าย
นอกจากนี้ เฟดระบุว่าภาคธนาคารสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง และนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ระบุว่ายังไม่เห็นการไหลออกของเงินฝากอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ภาคธนาคารมีเงินทุนแข็งแกร่ง สามารถเข้าถึงสภาพคล่อง และภาครัฐพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือหากมีสัญญาณว่าปัญหาในภาคธนาคารอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์หลายรายได้ออกมาเตือนว่าผลของการขึ้นดอกเบี้ยยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเต็มที่ โดยอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนมากขึ้น ในขณะที่ภาคธนาคารจะมีความเข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อจำกัดความเสี่ยงหากเศรษฐกิจชะลอตัวลงอย่างรุนแรง นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้ออาจไม่ได้ชะลอตัวลงมากอย่างที่คาด เนื่องจากค่าจ้างแรงงานที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอาจส่งผลให้ผู้ประกอบการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคในระยะถัดไป
ทั้งนี้ตัวเลขจีดีพีไตรมาสแรกของสหรัฐ ซึ่งในเบื้องต้นออกมาโตต่ำกว่าที่ตลาดคาดมาก โดยมีสาเหตุหลักจากการลงทุนของภาคธุรกิจโตในอัตราที่ชะลอลงมาก และปริมาณสินค้าคงคลังลดลงมากกว่าที่คาด สะท้อนว่าภาคธุรกิจของสหรัฐยังไม่มั่นใจถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต จึงชะลอการลงทุน และลดการผลิต ซึ่งสอดคล้องงกับดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐที่บ่งชี้ถึงการหดตัว
ในขณะที่การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง มีสาเหตุหลักมาจากการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคบริการ ซึ่งยังคงอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังสถานการณ์การระบาดของโควิดคลี่คลายลง ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอาจเป็นผลมาจากชาวอเมริกันเข้าทำงานในภาคบริการน้อยลง เนื่องจากต้องการหางานที่มีความยืดหยุ่นและไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าออฟฟิศ ซึ่งงานในด้านบริการหลายงานจำเป็นที่จะต้องเข้าออฟฟิศหรือพบปะลูกค้า จึงมีแรงงานหางานในภาคบริการน้อยลง
ในส่วนของปัญหาเพดานหนี้ ซึ่งนางเจเน็ต เยลเลน เตือนว่าหากไม่ได้รับการแก้ไข สหรัฐอาจผิดนัดชำระหนี้ในวันที่ 1 มิ.ย.ที่จะถึงนี้ หลายฝ่ายคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะได้รับการแก้ไขได้ทันเวลา โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสหรัฐมีปัญหาเรื่องเพดานหนี้มาโดยตลอด แต่ก็สามารถตกลงกันได้ก่อนกำหนดทุกครั้ง ดังนั้น ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้จึงอาจส่งผลลบต่อบรรยากาศการลงทุนในช่วงก่อนที่จะมีข้อสรุปแนวทางในการแก้ไขปัญหาอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี ในกรณีเลวร้ายที่สุดที่สหรัฐไม่สามารถตกลงเรื่องเพดานหนี้ได้ ก็อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อบรรยากาศการลงทุน
ดังนั้น ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐมีแรงกดดันน้อยลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอาจอยู่ที่จุดสูงสุดหรือใกล้จุดสูงสุดแล้วท่ามกลางตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง แต่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงปัญหาในภาคธนาคารที่ถึงแม้หน่วยงานภาครัฐของสหรัฐออกมาให้ความเชื่อมั่น แต่นักวิเคราะห์หลายรายยังคงเตือนว่าอาจมีปัญหาที่ยังมองไม่เห็นตามมา นอกจากนี้ การที่เฟดยุติการขึ้นดอกเบี้ยในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปส่งงสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อไป จะส่งผลให้ดอลลาร์อ่อนค่า จึงมีโอกาสที่นักลงทุนอาจได้รับผลตอบแทนที่น้อยลงจากผลของค่าเงิน
การรอดูความชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐ ก่อนการตัดสินใจลงทุนในตลาดสหรัฐจึงอาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักลงทุนในการจำกัดความเสี่ยง แต่สำหรับนักลงทุนที่สามารถลงทุนได้ระยะยาวมากๆ และรับความเสี่ยงได้สูงอาจเริ่มทยอยลงทุนเพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่ดีจากการที่เฟดอาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยในวันข้างหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนควรติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด และเลือกลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้