วัดใจกนง. ‘ขึ้น’ ดอกเบี้ยต่อ สกัดเงินไหลออก-แก้บาทอ่อน
นักเศรษฐศาสตร์เสียงแตก "กนง." ขึ้น-คงดอกเบี้ย" “อีไอซี-ทีทีบี” คาดขึ้นต่อ รับมือเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว เงินเฟ้อมีโอกาสเร่งขึ้น และช่วยสกัดเงินไหลออก พยุงบาท ด้าน“ซีไอเอ็มบีไทย-เกียรตินาคินภัทร” คาดคงดอกเบี้ยก่อนขึ้นรอบใหม่ เหตุเศรษฐกิจไทยเสี่ยงชะลอมากขึ้น
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ 5 ของปี 2566ในวันนี้ (27ก.ย.)ถือเป็น “จุดวัดใจ"สำคัญ ที่จะชี้ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทยว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็น 2.5% หรือ จะคงดอกเบี้ยไว้ที่เดิม
ตามการส่งสัญญาณของ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย () เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนหรือไม่
นายสมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่ากนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ตามการคาดการณ์ของตลาดเงินตลาดทุน เนื่องจากปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการว่างงานกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดแล้ว
เหล่านี้สะท้อนว่าภาพเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวเป็นลำดับ ขณะที่ส่งออกเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ในเดือนล่าสุด และคาดจะบวกต่อไปในระยะถัดไป
ขณะที่เงินเฟ้อ มีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อ จากเอลนีโญ ภัยแล้ง และราคาน้ำมัน ที่อาจกระตุ้นให้เงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งรวมไปถึง เงินเฟ้อที่จะมาจากกำลังซื้อที่ฟื้นตัว
อย่างไรก็ตามหากดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป อาจเป็นตัวสุมไฟในระบบเศรษฐกิจในระยะยาว และยิ่งกระตุ้นให้คนยิ่งก่อหนี้เพิ่ม และอาจลามมาสู่ปัญหาหนี้ในอนาคตเพิ่มเติม
“ขณะนี้เชื่อว่าตลาดก็ไพรซ์อินไปแล้ว ว่ากนง.จะมีการขึ้นดอกเบี้ย ไปสู่ 2.50% แต่การคาดการณ์ของเรา มองว่าขึ้นแล้ว ดอกเบี้ยจะหยุดทันที หลังจากนี้ไปจนถึงปีหน้า”
ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%ครั้งสุดท้าย
นายนริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาตคาดว่ากนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เพราะ หากเทียบกับประเทศอื่นๆที่ใช้นโยบายการเงินแบบการกำหนดดอกเบี้ยไทยถือว่าดอกเบี้ยนโยบายที่แทบจะต่ำที่สุด หากเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาค
เช่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ระดับกว่า 3% ไปแล้ว
ทั้งนี้ หากกนง.ไม่ขึ้นดอกเบี้ยก็จะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยและต่างประเทศห่างกันมากขึ้น ทำให้เงินทุนไหลออก และส่งผลกระทบทำให้ค่าเงินบาทยิ่งอ่อนค่าลง รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลนั้น ก็จะเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้คาดว่าเป็นการปรับขึ้นเผื่ออัตราเงินเฟ้อที่จะปรับตัวขึ้นจากนโยบายการขึ้นค่าแรงของรัฐบาล
“ตลาดมองว่าโอกาส 50:50 ที่กนง. จะขึ้นดอกเบี้ย หรือคงดอกเบี้ย แต่ส่วนตัวมองว่ากนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้ายที่ 0.25% เป็นลักษณะการขึ้นเพื่อเก็บกระสุน เพื่อเพิ่ม policy space หลังจากนั้นคาดว่าจะคงดอกเบี้ยยาว”
บาทอ่อน-บอนด์ยีลด์พุ่ง
ส่วนแนวโน้มบอนด์ยีลด์ไทย 10 ปี มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับมากกว่า 4% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.21% หากแผนการออกพันธบัตรรัฐบาลมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วง 3 เดือนนี้ มีโอกาสที่จะอ่อนค่าอีก เป็นผลจากดอลลาร์แข็งค่า คาดไปแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่คาดว่าจะไม่ถึง 38 บาทต่อดอลลาร์
“ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเงินบาทอ่อนค่า 4.7% ซึ่งถือว่าอ่อนค่าเป็นอันดับ 6 ของภมูิภาค ซึ่งค่าเงินที่อ่อนกว่าค่าเงินบาท คือ เยน วอน ริง กิต หยวน เป็นเพราะ ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เงินจึงไหลออก”
ขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินไหลออก-บาทอ่อน
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า มีโอกาสเป็นไปได้ ทั้ง ขึ้นดอกเบี้ย และคงดอกเบี้ย เพราะอีกด้านตลาดไม่มั่นใจ กับการสื่อสารของแบงก์ชาติในช่วงที่ผ่านมา ที่ห่วงเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขึ้นค่าแรง
แต่ที่น่าสนใจ และอาจเป็นเหตุผลในการขึ้นดอกเบี้ย ที่ไม่ได้มาจากประเด็นเงินเฟ้ออีกต่อไป แต่จะมาจากเสถียรภาพระบบการเงิน เพราะหากดูจากทุนสำรองของไทย พบว่าตั้งแต่ต้นปี ไทยเป็นประเทศเดียวที่ทุนสำรองติดลบ แม้ไทยจะไม่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดแต่
ก็กำลังเผชิญภาวะเงินไหลออก จากแรงขายของต่างชาติที่ค่อนข้างแรงและต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งอาจห่วงเรื่องบอนด์ยิลด์สหรัฐ ที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐ
ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ก็ทำให้เกิดวิกฤติความเชื่อมั่น จากการขาดเสถียรภาพของตลาดเงิน จากนโยบายการคลัง ที่ยังไม่ชัดเจน คนเริ่มขาดความเชื่อมั่น ดังนั้น หากจะขึ้นดอกเบี้ยก็เพื่อสกัดเงินไหลออก สร้างแรงจูงใจให้ต่างชาติกลับมาพักเงินในไทย
นายอมรเทพ กล่าวว่าส่วนตัว เชื่อว่ากนง.มีโอกาสคงดอกเบี้ยเนื่องจากเงินเฟ้อปัจจุบันต่ำกว่ากรอบไปแล้ว แม้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น แต่การออกมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล อาจทำให้ราคาน้ำมัน อาจไม่ใช่ปัญหาในระยะอันใกล้นี้ ทำให้สถานการณ์เงินเฟ้อ อาจไม่น่าห่วงนัก
นอกจากนี้ หากดูภาพรวมเศรษฐกิจไทย ถือว่าเติบโตช้า และกนง.อยู่ระหว่างการปรับตัวเลขเศรษฐกิจลง ส่งออกมีโอกาสติดลบมากกว่าคาด
“แม้จะคาดการณ์ว่ากนง.จะคงดอกเบี้ย รอบนี้ แต่ก็เชื่อว่า จะยังไม่จบรอบของการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งอาจกลับมาขึ้นดอกเบี้ยได้ในปลายปี หรือต้นปีหน้าก็ไม่สาย"
คงดอกเบี้ยเพื่อรอโอกาสขึ้น
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ บล.เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงิน กนง.ควรคงดอกเบี้ย เนื่องจากเงินเฟ้อปัจจุบัน มีสัญญาณชะลอตัวลงต่อเอง
ขณะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตช้า และอาจต่ำกว่าคาด ทำให้ปัจจุบัน อาจเห็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง กลับมาเป็นบวก แล้วจากเงินเฟ้อที่ลดลง ซึ่งเป็นไปตามคาดหวังของธปท.ที่อยากเห็น
นอกจากนี้ หากดูเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน อาจไม่สามารถรับไหว หากดอกเบี้ยสูงกว่านี้ สังเกตได้จาก การขึ้นดอกเบี้ยของกนง.รอบล่าสุด แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้
สะท้อนว่า อีกด้านธนาคารพาณิชย์ห่วงภาระของลูกหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้น ที่อาจสร้างปัญหาต่อการชำระหนี้ในระยะข้างหน้า
ดังนั้น ที่เหมาะสมคือ การคงดอกเบี้ย และรอดูสถานการณ์ และค่อยขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า อาจเหมาะสมมากกว่า
“เรามองว่าที่เหมาะสม คือ ควรคงดอกเบี้ย และค่อยหาจังหวะขึ้นเมื่อเหมาะสม เพราะเศรษฐกิจขณะนี้ รับไม่ไหวกับการที่มีดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่หากแบงก์ชาติต้องการสร้าง Policy Space หรือขีดความสามารถในการทำนโยบายการเงินในระยะถัดไป ผ่านการขึ้นดอกเบี้ย เพื่อรองรับเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้น ก็อาจเป็นไปได้ แต่อาจมีความเสี่ยงมากกว่า”
ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐ ดันเงินไหลออก
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จากภาพรวมเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบจาก การชะลอตัวของโลกชัดเจนมากขึ้น ทั้งผ่านการส่งออก การท่องเที่ยว ทำให้ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีการปรับการคาดการณ์จีดีพีไทย ปีนี้เหลือ 3% จาก 3.7% และมีการปรับลด ตัวเลขส่งออก โดยคาดการณ์ว่ามีโอกาสติดลบกว่าคาดไปสู่ 2.5% จากติดลบ 1%
สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทย เริ่มมีสัญญาณอ่อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เริ่มหดตัว สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ ดีมานด์การซื้อสินค้าลดลง โดยเฉพาะแรงซื้อรถยนต์
และหากดูภาพของเงินเฟ้อ พบว่ามีทิศทางปรับลดต่อเนื่อง ดังนั้นคาดการณ์ว่า การประชุมกนง.วันนี้ น่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 2.25% แต่อาจส่งสัญญาณให้สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ในระยะถัดไปได้
ในด้านเงินบาท ปัจจุบันอ่อนค่าต่อเนื่อง มาอยู่ที่ระดับ 36.40 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเพราะดอกเบี้ยไทยและสหรัฐห่างกันมากเรื่อยๆ ที่อาจเป็นแรงฉุดให้เงินไหลออกมากขึ้นได้
หนี้เสียรหัส21-รถยนต์เพิ่มต่อเนื่อง
แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพที่น่าห่วง คือ สถานการณ์หนี้ของลูกหนี้ในกลุ่ม รหัส 21 ที่เป็นหนี้เสียจากโควิด-19 ที่แม้โควิดคลี่คลาย แต่กลุ่มดังกล่าว ยังมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบัน
และคาดว่าในระยะข้างหน้า หนี้เสียกลุ่มนี้จะยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อมูลใหม่ที่จะออกในก.ค. ที่คาด ลูกหนี้เสียจะมีมากขึ้นไปแตะ 5ล้านบัญชี จากสิ้นมิ.ย.ที่มีเพียง 4.9ล้านบัญชี และจำนวนหนี้เสีย อาจเพิ่มขึ้นไปสู่ 4แสนล้านบาท จาก 3.7 แสนล้านบาท
สะท้อนว่า ภาพเศษฐกิจอ่อนแอ หนี้เสียเพิ่มขึ้น ทั้งลูกหนี้ปกติ และหนี้เสียรหัส 21 โดยที่ห่วงมากที่สุด คือลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์ ที่พบว่ามีหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดสิ้นก.ค. หนี้เสียกลุ่มนี้จะเพิ่มอีก 10% จาก3.3หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา
บอนด์ยีดล์นิวไฮฉุดดัชนีหลุด1,500 จุด
นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)กสิกรไทย กล่าวว่า ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลง เป็นผลจากบอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวขึ้นมาแรง โดยเฉพาะบอนด์ยีลด์สหรัฐ 10 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 4.5% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2007 หรือสูงสุดในรอบ 16 ปี ทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์)ไหลออก
ส่วนบอนด์ยีลด์10 ปี ของไทยอยู่ที่ 3.25% ซึ่งปีนี้ขึ้นมา0.25% ซึ่งผลกระทบดัชนีลงมา 50 จุดโดยเป็นเหตุผลที่ดัชนีหุ้นไทยลงมาจาก 1,550 จุด มาอยู่ที่ระดับประมาณ 1,500 จุดรวมถึงปัจจัยภาคอสังหาของจีน ทำให้แวลูเอเชั่นของตลาดหุ้นตรึง ทำให้ปัจจุบันมีแต่ปัจจัยลบกดดันการลงทุนในตลาดหุ้น
“ตอนนี้ในสหรัฐEarning Yield Gap เหลือเพียง 1% นิวโลว์ เป็นผลจากบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวขึ้นแรงทำให้ความน่าสนใจลงทุนตลาดหุ้นลดลง ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงตาม ซึ่งตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลกระทบ ทำให้ต่างชาติขายสุทธิ เงินบาทอ่อน 3 ซึ่งเดือนนี้เงินบาทอ่อนค่า3% และดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลง4% ลงแรงเทียบกับภูมิภาค ”
ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยกสิกรไทย แนะนำให้นักลงทุนเลี่ยงการลงทุน หรือไม่เพิ่มพอร์ตการลงทุนมาตั้งแต่ช่วงที่ดัชนีหลุด 1,555 จุด แล้ว และควรเลี่ยงลงทุนหุ้นที่มีนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนที่สูง หันไปลงทุนหุ้นกลุ่มส่งออก จากที่การส่งออกของไทยฟื้นตัวขึ้น ,กลุ่มไอซีที และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม โดยมองแนวรับต่อไปที่ 1,460-1,495 จุด
ฟันด์โฟลว์ไหลออกต่อเนื่อง
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทย เพราะค่าเงินบาททิศทางอ่อนค่า บอนด์ยีลด์ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างบอนด์ยีลด์10 ปี สหรัฐที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นนิวไฮรอบ 16 ปี
ดังนั้นแม้ไทยจะมีปัจจัยบวกอยู่บ้างแต่ไม่สามารถทำให้ดัชนีหุ้นไทยฟื้นกลับมา เพราะ ถูกแรงกดดันจากบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยลบมหาภาคของโลกได้ ซึ่งการที่ฟันด์โฟลว์จะไหลกลับเข้ามาตลาดหุ้นไทย ก็ต่อเมื่อ ตลาดรับรู้ดอกเบี้ยเฟดผ่านจุดสูงสุดแล้ว 80%