เปิดการลงทุนปี 2567 อินเดีย - เวียดนาม เศรษฐกิจโต จีนส่อชะลอตัวจากภาคอสังหาฯ
การลงทุนในปี 2567 ถือได้ว่าเป็นปีที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้น่าสนใจอีกปี อินเดีย - เวียดนาม เศรษฐกิจโต จีนส่อชะลอตัวต่อเนื่องจากภาคอสังหาฯ
ทิศทางการลงทุนปี 2567 การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงดูเหมือนมีแนวโน้มเป็นบวก โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยขาลง เช่น กลุ่มเติบโต และกลุ่มเทคโนโลยีฯ ขณะที่ในฝั่งตลาดหุ้นเอเชีย “กูรู” แนะควรกระจายการลงทุนออกจากจีนมากขึ้น เช่น ตลาดหุ้นอินเดีย และเวียดนาม
บดินทร์ พุทธอินทร์ ผู้อำนวยการส่วนกลยุทธ์การลงทุน ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.อีสท์สปริง (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลกับกรุงเทพธุรกิจว่า มุมมองการลงทุนในปี 2567 ถือได้ว่าเป็นปีที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้น่าสนใจอีกปี แต่อย่างไรก็ตาม การลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกกับครึ่งปีหลังก็เป็นไปได้ที่อาจจะเป็นหนังคนละม้วน เนื่องจากจะเริ่มเห็นภาพความเสี่ยง และความผันผวนที่มาจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เริ่มชัดขึ้น ซึ่งเป็นผลจากเรื่องของการเลือกตั้งในหลายประเทศ ทั้งไต้หวัน อินโดนีเซีย อินเดีย และสหรัฐฯ รวมถึงมีโอกาสที่เกิดภาพของ Mini Rotation ของตราสารหนี้ที่อาจกลับมาโดดเด่น
มุมมองการลงทุนในปี 2567
สำหรับภาพรวมการลงทุนในปี 2567 มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด และการทำ soft landing จะยังคงเป็นปัจจัยหนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ในปี 2567 นอกจากนี้จากสถิติของตลาดหุ้นสหรัฐฯแล้ว ในปีที่มีการเลือกตั้งตลอดช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ดัชนี S&P500 สามารถปรับตัวขึ้นได้เกือบทุกครั้ง ยกเว้นแค่การเลือกตั้งในปี 2000 และ 2008 ซึ่งเป็นปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ
ส่วนในฝั่งยุโรปแม้ว่าจะมีโอกาสเข้าสู่ภาวะ technical recession ในไตรมาส 4/66 นี้ แต่ด้วย valuation ที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบการมุมมองการลดดอกเบี้ยของ ECB ในปี 2567 ส่งผลให้ downside ของตลาดหุ้นมีจำกัด และมีโอกาสฟื้นตัวได้เมื่อเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ขณะที่อีกประเทศนึงในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วที่ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดคือญี่ปุ่นอาจเผชิญแรงเทขายทำกำไรได้เมื่อ BoJ มีการปรับแนวทางการใช้นโยบายการเงิน แต่อย่างไรก็ตามจากการคาดการณ์กำไรในปีหน้าที่เติบโตได้ดีอาจทำให้ผลกระทบส่วนนี้ลดลง
ขณะที่ในฝั่งประเทศกำลังพัฒนานั้น เรายังชื่นชอบตลาดหุ้นเอเชียต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอินเดีย และเวียดนามที่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน รวมถึงตลาดหุ้นเกาหลีใต้และไต้หวันที่ได้รับประโยชน์ต่อเนื่องจากเทรนด์ของปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามากระตุ้นความต้องการชิปประมวลขั้นสูงอีกเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหลักของภูมิภาคนี้จะยังคงอยู่ที่การเติบโตของประเทศจีน ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่ำลงในปี 2567 หลังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และนโยบายขนานใหญ่ที่ออกมา เช่น นโยบายขาดดุลการคลัง 1 ล้านล้านหยวน, นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาฯ และการอัดฉีดสภาพคล่องด้วยวงเงินสถิติ นั้นยังไม่ค่อยเห็นผลชัดเจนมากนักเนื่องจากเพิ่งมมีการประกาศออกมาในไตรมาส 4/66 นี้ ทำให้เรามองว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกซักระยะจนกว่านโยบายที่ประกาศออกมาจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของนักลงทุน
อีกสินทรัพย์ที่เรามองว่ามีโอกาสทำผลตอบแทนได้ดีคือกลุ่มของตราสารหนี้ โดยเฉพาะตราสารหนี้โลก เนื่องจากทั้ง FED และ ECB มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปี 2567 หลังจากเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วมาตั้งแต่ปี 2565 ทำให้ในตอนนี้ตราสารหนี้มีอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับสูง และมีโอกาสได้รับ capital gain เมื่ออัตราดอกเบี้ยกลับทิศเป็นขาลงอีกเช่นกัน โดยกลุ่มที่เราชื่นชอบได้แก่ พันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้ investment grade ขณะที่กลุ่มที่เราแนะนำให้ระมัดระวังคือตราสารหนี้ในกลุ่ม High Yield เนื่องจากมีแนวโน้มที่อัตราการผิดนัดชำระหนี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจในกลุ่ม DM จะเติบโตแบบชะลอตัวลง
ในด้านสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำที่ปี 2566 ทำผลตอบแทนได้เกือบ 15% และในช่วงต้นปี 2567 อาจได้ปรโยชน์ช่วงสั้นๆจากดอลลาร์ที่อ่อนค่า แต่โดยรวมอาจไม่ได้โดดเด่นเท่ากับปีที่ผ่านมาซึ่งอาจเป็นภาพไซด์เวย์ในปี 2567 ขณะที่น้ำมันดิบเราคาดว่าจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวอาจทำให้ความต้องการการใช้น้ำมันไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่งผลราคาพลังงานน่าจะวิ่งอยู่ในระดับ 70-80 เหรียญ/บาร์เรลล์ในปีหน้า
“ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปี 2566 และในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯสามารถ Soft Landing ได้ แต่ยังมีความเสี่ยงที่ยังจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยแบบบางๆ หรือ Mild Recession ได้อยู่บ้าง แต่จากการคาดการณ์ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการเงินและด้านการคลัง อาจทำให้ภาวะถดถอยนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วระยะ แต่ในขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชียอย่าง อินเดีย และเวียดนาม มีแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ยังเติบโตได้ในระดับ 6% และอาจได้ประโยชน์ในแง่ของ Global Supply Chain ที่เริ่มเข้ามายังอินเดียและเวียดนามที่เพิ่มขึ้น จากกรณีที่จีนยังมีแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจากภาคอสังหาฯ”
ความเสี่ยงที่ต้องจับตา
ความเสี่ยงหลักที่ต้องระมัดระวังในปี 2567 คือ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะช่วงการเลือกตั้งสหรัฐฯที่อาจมีนโยบายของผู้สมัคร ในการมุ่งเป้ากดดันจีนในแต่ละด้านอาจทำให้ความผันผวนอาจเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลังที่เข้าใกล้การเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน ขณะที่อีกความเสี่ยงคือการ Sell on fact จากความคาดหวังที่ธนาคารกลางสหรัฐฯและยุโรปจะลดดอกเบี้ย แต่หากความคาดหวังกับความจริงมีความแตกต่างกันสูงอาจทำให้ตลาดผิดหวังได้ รวมถึงความเสี่ยงจากการขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลัง
ด้านนโยบายทางการเงิน
“Higher for no longer” เป็นคำที่อาจจะตรงข้ามกับสิ่งที่นักลงทุนคาดไว้ก่อนหน้านี้ เพราะสิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์คือ ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงไปอีกสักระยะ แต่จาก Fed Dot Plots ล่าสุด มีแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed จะลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งในปีหน้า
แต่สิ่งที่ตลาดคาดคือ Fed อาจมีการลดดอกเบี้ยได้ 4-5 ครั้งจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจจะชะลอตัวลง ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ถึงแม้การประชุมล่าสุดจะยังไม่ได้พูดถึงเรื่องการลดดอกเบี้ย แต่ตลาดได้มีการคาดว่า ECB อาจลดดอกเบี้ยได้ถึง 6 ครั้งในปีหน้า
และทั้งสองธนาคารกลางถูกคาดหมายว่าจะเริ่มการลดดอกเบี้ยครั้งแรก ในช่วงปลายไตรมาส 1 หรือ ช่วงต้นไตรมาส 2 ของปี 2024 ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BoJ อาจมีการดำเนินนโยบายที่สวนทางเนื่องจากนับตั้งแต่การระบาดโควิด19 ทาง BoJ เป็นธนาคารกลางที่ดำเนินนโยบายทางการเงินผ่อนคลายมาต่อเนื่อง
และมีแนวโน้มที่ทาง BoJ จะมีการทำ policy normalization ซึ่งอาจหมายถึงการยกเลิกนโยบาย yield curve control และขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า และทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ประเทศเดียวที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัว และสิ้นสุดยุคดอกเบี้ยติดลบในปีหน้า ในส่วนของธนาคารกลางแห่งประเทศไทยจากการคาดการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นในปีหน้ามีแนวโน้มที่จะคงดอกเบี้ยไว้ตลอดในปีหน้า