ค่าเงินบาทวันนี้ 1 ก.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ จากแรงกดดันโฟลว์ซื้อทองคำ
ค่าเงินบาทวันนี้ 1 ก.ค.67 เปิดตลาด "อ่อนค่า" ที่ 36.74 บาทต่อดอลลาร์ "กรุงไทย" ชี้เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำจังหวะย่อตัว จับตาฟันด์โฟลว์ต่างชาติ รวมถึงทิศทางเงินหยวน มีผลในช่วงนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65 - 36.85 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.74 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 36.69 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.40-37.25 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.65-36.85 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทแกว่งตัว sideways (แกว่งตัวในกรอบ 36.67-36.77 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ และการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ หลังอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ ในเดือนมิถุนายน ชะลอตัวลงตามคาด
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐ เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง แต่เงินบาทก็เผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำปรับตัวลดลงตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ สู่ระดับ 4.40% ซึ่งได้แรงหนุนจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนมิถุนายน ที่ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้า
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าแม้จะชะลอลง แต่ยังคงอยู่ ทำให้เงินบาทเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าทดสอบแนวต้านแรกแถว 37 บาทต่อดอลลาร์ได้ ในกรณีที่ทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ปรับตัวขึ้นต่อ ซึ่งจะยิ่งกดดันเงินบาทเพิ่มเติมผ่านการย่อตัวลงของราคาทองคำ นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) ที่มีผลต่อเงินบาทในช่วงนี้
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ในช่วงต้นสัปดาห์ หากตลาดกังวลผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสจนกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลง แต่หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจมากขึ้น หรือออกมาแย่กว่าคาด ก็อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง
เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward
สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น แต่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาผสมผสานได้ช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินดอลลาร์
สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรจับตาผลการเลือกตั้งสภาฝรั่งเศสรอบแรก และการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษ รวมถึงรายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐ ที่อาจสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินได้
มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก
▪ ฝั่งสหรัฐ – ไฮไลต์สำคัญจะเริ่มจาก รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม และภาคการบริการ โดย ISM (Manufacturing & Services PMIs) เดือนมิถุนายน ถัดมา ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจกับรายงานข้อมูลตลาดแรงงาน อาทิ ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP จนไปถึงไฮไลต์สำคัญในส่วนข้อมูลตลาดแรงงาน อย่างยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) รวมถึงอัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Average Hourly Earnings) และอัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) ซึ่งหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด หรืออาจออกมาตามคาด แต่สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้งในปีนี้ จากล่าสุดที่ให้โอกาสราว 79% (CME FedWatch Tool) โดยในกรณีดังกล่าวก็อาจทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่เผชิญความเสี่ยงการเมืองฝรั่งเศส รวมถึงเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่เสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ ตราบใดที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐ ยังไม่ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องชัดเจน และผู้เล่นในตลาดยังไม่มั่นใจว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะสามารถใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เพิ่มเติมในปีนี้ ทั้งนี้ ควรระวัง การเข้าแทรกแซงค่าเงินโดยทางการญี่ปุ่น ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากค่าเงินเยนผันผวนอ่อนค่าลง “เร็ว” และ “รุนแรง” ซึ่งเรามองว่า โอกาสเกิดภาพดังกล่าวยังมีน้อยอยู่ อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด โดยเฉพาะประธานเฟด เพื่อประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟดในระยะถัดไป
▪ ฝั่งยุโรป – ไฮไลต์สำคัญจะอยู่ที่ผลการเลือกตั้งสภาฝรั่งเศส (577 ที่นั่ง) รอบแรก โดยผลโพลล่าสุดสะท้อนว่า พรรคขวาจัด National Rally (RN) ที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ และนโยบายไม่สนับสนุนสหภาพยุโรป (EUR) อาจได้เสียงข้างมากในสภา เปิดทางให้พรรค RN สามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยมีตัวแทนจากพรรค RN เป็นนายกฯ ได้ ซึ่งจะทำให้บทบาทของประธานาธิบดี Emmanuel Macron ที่จะหมดวาระในปี 2027 เหลือเพียงในด้านต่างประเทศ และการทหารเท่านั้น ซึ่งหากผลการเลือกตั้งรอบแรกสะท้อนว่า พรรค RN อาจได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง (289 ที่นั่ง) อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลต่อสถานการณ์การเมืองฝรั่งเศส กดดันให้เงินยูโร (EUR) เสี่ยงอ่อนค่าลง พร้อมกับการขายสินทรัพย์เสี่ยงฝั่งยุโรป โดยเฉพาะหุ้นฝรั่งเศส รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศส (OATs) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษในวันพฤหัสฯ ที่ 4 กรกฎาคม (รู้ผล Exit Polls ราว 04.00 น. เช้าวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม ตามเวลาประเทศไทย) โดยผลโพลล่าสุดสะท้อนว่า จะเกิดการพลิกขั้วการเมืองครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ โดยพรรคแรงงาน (Labour) อาจคว้าชัยชนะ และสามารถจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคอนุรักษนิยม (Conservative/Tory) ที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานถึง 14 ปี และนอกเหนือจากประเด็นการเมือง ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของยูโรโซน อย่าง อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนพฤษภาคม พร้อมติดตามถ้อยแถลงบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB)
▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะติดตามผลสำรวจความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Tankan Survey) โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) รวมถึงรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการผลิต และภาคการบริการ เดือนมิถุนายน ซึ่งรายงานดังกล่าวจะสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของบรรดาธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ได้ดี
▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) เดือนมิถุนายน อาจชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 1.10% (+0.20%m/m) ตามผลของฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้า และการปรับตัวลดลงของราคาเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้จากเดือนก่อน ส่วนดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมิถุนายน อาจปรับตัวขึ้นต่อสู่ระดับ 50.5 จุด สอดคล้องกับยอดการส่งออกล่าสุดที่ขยายตัวดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเดือนมิถุนายนอาจทรงตัว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์