ค่าเงินบาทวันนี้ 22 ต.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ หลังดอลลาร์แข็งค่า ลดคาดหวังเฟดลดดบ.
ค่าเงินบาทวันนี้ 22 ต.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ ที่ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย”ชี้ดอลลาร์แข็งค่ารับแรงหนุนจากตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด และการเตรียมรับมือก่อนเลือกตั้งสหรัฐ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 33.40-33.65 บาทต่อดอลลาร์
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.52 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.65 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง (กรอบการเคลื่อนไหว 33.40-33.53 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่เงินบาทได้อ่อนค่าลงพอสมควรในวันก่อนหน้า จนทะลุแนวต้านที่เราประเมินไว้แถว 33.45 บาทต่อดอลลาร์
เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ซึ่งได้แรงหนุนจากทั้ง มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด (จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า มีโอกาสราว 38% ที่เฟดจะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม หลังลดการลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนพฤศจิกายน)
พร้อมกันนั้น เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการเพิ่มสถานะ Long USD เพื่อเตรียมรับมือกับความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงหลังผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า โดนัลด์ ทรัมป์ มีโอกาสชนะการเลือกตั้งได้ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้อ่อนค่าต่อเนื่อง ทะลุโซน 150 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น และนอกเหนือจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำและน้ำมันดิบ หลังราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวได้ปรับตัวลดลงในช่วงคืนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทก็ถูกชะลอลงบ้างแถวโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ตามแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้เล่นในตลาดบางส่วน ทั้งฝั่งผู้ส่งออกและฝั่งผู้เล่นที่มีสถานะ Short THB (มองเงินบาทอ่อนค่าลง)
แนวโน้มค่าเงินบาท
สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท การอ่อนค่าลงต่อเนื่องของเงินบาท จนทดสอบโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เรายังคงมั่นใจต่อมุมมองเดิม ที่ประเมินแนวโน้มเงินบาททยอยอ่อนค่า (เรา call USDTHB bottom แถว 32 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา) อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินบาทหลังจากนี้ อาจเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดบางส่วน อาจรอทยอยขายเงินดอลลาร์ ในจังหวะที่เงินบาทอ่อนค่าลงเหนือโซนแนวต้าน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ อีกทั้ง หากราคาทองคำมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นได้บ้าง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ ซึ่งในช่วงนี้ ราคาทองคำก็ยังพอได้แรงหนุนจากความไม่แน่นอนของทั้งการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ในตะวันออกกลางอยู่ ทว่า การอ่อนค่าลงของเงินบาทในช่วงนี้ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงบรรยากาศในตลาดการเงินโลกที่ระมัดระวังตัวมากขึ้น ก็อาจทำให้บรรดานักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้ และแรงขายสินทรัพย์ไทยดังกล่าวก็อาจเป็นปัจจัยกดดันเงินบาทเพิ่มเติมในช่วงนี้
เราประเมินว่า หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ก็อาจเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไป 33.65 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับอาจขยับสูงขึ้นมาแถวโซน 33.30-33.40 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะมีโซนแนวต้านสำคัญแถว 33.00 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องได้ ซึ่งเรามองว่า อาจยังไม่ได้เกิดขึ้นได้ในเร็ววันนี้
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ได้กดดันบรรยายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของ Nvidia +4.1% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังต่อรายงานผลประกอบการของ Nvidia ที่ผู้เล่นในตลาดประเมินว่าจะยังคงเห็นการเติบโตของรายได้และกำไรที่แข็งแกร่ง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.18%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 กลับมาปรับตัวลง -0.66% กดดันโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ระยะยาวฝั่งยุโรป ซึ่งสอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟด และเริ่มปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่โดนัลด์ ทรัมป์ อาจชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ ส่งผลให้บรรดาหุ้นที่อ่อนไหวกับแนวโน้มดอกเบี้ย ต่างปรับตัวลดลง อาทิ หุ้นเทคฯ (ASML -1.0%)และหุ้นสไตล์ Growth (LVMH -2.0%)
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเข้าใกล้โซน 4.20% หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด และเริ่มปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades มากขึ้น ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาสโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ สูงขึ้น อนึ่ง เราคงมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในบอนด์ระยะยาว ตามแนวโน้มการทยอยลดดอกเบี้ยของบรรดาธนาคารกลางส่วนใหญ่และบอนด์ยีลด์ที่อยู่ในระดับสูงพอสมควร เมื่อเทียบกับอดีต ทว่า เราขอเน้นย้ำให้ ผู้เล่นในตลาดทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่คุ้มค่าและเหมาะสม
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ตามการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดและการปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ให้สอดคล้องกับธีม Trump Trades ตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เพิ่มโอกาส โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่อ่อนค่าลงทะลุโซน 150 เยนต่อดอลลาร์ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 104 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.5-104 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงแรงขายทำกำไรของผู้เล่นในตลาด ได้กลับมากดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงสู่โซน 2,730-2,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนจากความต้องการถือของผู้เล่นในตลาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ
สำหรับวันนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจอาจมีไม่มากนัก ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด BOE และ ECB ซึ่งการปรับมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ย เฟด BOE และ ECB จะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ รวมถึงบรรดาสกุลเงินหลัก ทั้งเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) และเงินยูโร (EUR) ได้ในช่วงระยะสั้น
และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และแนวโน้มการเลือกตั้งสหรัฐฯ