“อัสสเดช คงสิริ” ยกบทบาท ตลท. เลิกกังขา “ไร้ความเชื่อมั่น”
ผู้จัดการ ตลท. “อัสสเดช คงสิริ” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ และเตรียมแผนยุทธศาสตร์ตลาดทุนไทยเสนอบอร์ดภายในเดือนพ.ย. ภายใต้ความคาดหวังตลาดทุนโฉมใหม่ก้าวทันเทคโนโลยี – งานกำกับ และดูแลนักลงทุนได้ทุกกลุ่ม เป็นงานท้าทายมากน้อยแค่ไหนสำหรับ ผู้จัดการคนที่ 14 จะตอบทุกคำถาม
@ภารกิจรับไม้ต่อผู้จัดการ ตลท.
ผู้จัดการท่านก่อน(ดร.ภากร ปีตธวัชชัย)ฝากไว้ คือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อ ตลท. มากที่สุด จากวางรากฐานไว้ต้องดำเนินการ ซึ่งสอดคล้องกับการเสนอแผนยุทธศาสตร์กับทางบอร์ดช่วงเดือนพ.ย.นี้ ที่เน้นด้านเทคโนโลยี ยกตัวอย่าง ระบบ AI ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงตลาดทุนได้ ทุกวันนี้รายเล็กจริงๆ มีเงินจำกัด ซื้อขายไม่กี่ครั้งต่อเดือนจะลงทุนในตลาดหุ้นได้ไหม เราต้องสร้างแพลตฟอร์มที่ตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้ทุกกลุ่ม รวมทั้งสินค้าใหม่มากขึ้นที่ทำไปแล้ว DR มีถึง 60 หลักทรัพย์อ้างอิงหลักทรัพย์ในต่างประเทศให้นักลงทุนได้
@การทำงานด้านไหนหนักใจสุด
ตลท.ได้มีการทำงานหลายด้านมาเยอะมาก อย่างมาตรการที่ทยอยประกาศยกระดับสร้างความเชื่อมั่น และได้ผล เป็นงานแรกที่เข้ามารับช่วงต่อเพราะออกมาตรการในช่วงก.ค. มี มาตรการ Uptick Rule ต่อด้วย Dynamic Price Band โชคดีหลังเข้ามารับตำแหน่ง และปรับการทำงานก่อนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.67 ได้เรียนรู้งานเดือนครึ่งก่อนรับตำแหน่งจริง มีประเด็นเยอะ และหลากหลายที่ต้องรับทราบการทำงาน
@ งานด้านกำกับยังเป็นช่องโหว่ของ ตลท. หรือไม่
ไม่ได้เป็นช่องโหว่แต่น่าจะใช้คำว่า "ต้องสื่อสารกันมากขึ้น" นอกจากสำนักงาน ก.ล.ต.ก็มีหน่วยงานอื่นเกี่ยวข้องด้วย ขั้นตอนตามกฎหมายใช้เวลาแต่ถ้าร่วมมือกันได้ตั้งแต่ต้นทาง-ต้นน้ำ จะเป็นประโยชน์ทุกฝ่าย เรามีข้อมูลความลับส่วนบุคคลที่ต้องระวังการเปิดเผยอยู่แล้ว อยู่ที่การจัดข้อมูลให้มีความระมัดระวัง
งานกำกับซื้อขายจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี เพราะข้อมูลต้องนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมเยอะมาก จำนวน บจ.เพิ่มขึ้นทุกปี ต้องเกิด Big data ซึ่งผมมาจากธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินเห็นว่าแค่ดูข้อมูลมองจอซื้อขายไม่ทันอยู่แล้ว ต้องดึงเทคโนโลยี และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเพราะต้องทำความเข้าใจขั้นตอนว่าข้อมูลที่นำไปใช้ตรวจสอบ – ลงโทษ
@ งานตรวจสอบที่ผ่านมาต่างหน่วยงานต่างทำงาน
ปัจจุบันข้อมูลจาก ตลท. ส่งให้ ก.ล.ต.ตรวจสอบซึ่งตามกฎหมายมีขั้นตอนมีหลายหน่วยงาน แต่ได้มีความร่วมมือ ตลท. – ก.ล.ต. และ ปปง. ในการทำงานร่วมกัน อีกด้านการเผยแพร่กลไกตลาดทุนก็สำคัญ อย่าง เกาหลีใต้ มีการจัดหน่วยงานทุกฝ่ายมาอยู่ในชุดเดียวกันทำให้มีความเข้าใจตลาดทุนในการทำงานด้านกฎหมาย ซึ่งในท้ายที่สุดมองว่าควรจะมีฝั่งอัยการ - ตำรวจ - DSI เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานด้วย ทำให้ตามเส้นทางการเงินได้ทันที
รวมทั้งด้าน ตลท. ที่เป็นข้อมูลต้นน้ำจำเป็นต้องจัดองค์ประกอบเหล่านี้ให้ครบ และรอบด้าน ซึ่งมีข้อมูลเยอะมากแต่ต้องทำให้หาง่าย วิเคราะห์ง่าย องค์ประกอบส่งไปยังหน่วยงานต่างเห็นภาพครบถ้วน ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับหน่วยงานภายในองค์กร ตลท. แต่ต้องสื่อสารกันมากขึ้น ที่ผ่านมาเกิดเคสต้องย้อนกลับมาถามจัดข้อมูลกันใหม่ทุกรอบ ควรจะเป็นการจัดข้อมูลส่งไปภายในรอบเดียวซึ่งเป็นสิ่งที่อยากเห็น
@ ยกระดับบทบาทงานกำกับภายใน ตลท.
งานตรวจสอบเป็นประเด็นที่ผ่านมาจากคนนอกพอมาเป็นคนใน (ตลท.) อยากใน หากเกิดกรณีสงสัยมีประเด็นทาง ตลท. จะสอบถาม บจ. ซึ่งได้ผลระดับหนึ่งในการให้ข้อมูลกับนักลงทุนเป็นวิธีภายใต้อำนาจ ตลท. ทำได้เลย ระบบการซื้อขายหากพบความผิดปกติจะสอบถามไปยังโบรกเกอร์โดยตรงแต่เปิดเผยไม่ได้
สิ่งที่สำคัญคือ การ “สื่อสาร” และ “ตอบสนองได้รวดเร็ว” บางเรื่องไม่ได้เกี่ยวข้องหรืออยู่ในอำนาจโดยตรงแต่มีความคาดหวังจากนักลงทุน - ประชาชน เข้าไปดูแล ดังนั้นอยู่ที่การสื่อสารว่า รับทราบประเด็นนี้ มีการจับตาดูอยู่ ซึ่งหลายเรื่องเกิดนอกตลาดหุ้น เช่น เจ้าของนำหุ้นไปจำนำนอก ตลท. ทำธุรกรรมไม่ผ่านตัวกลางโบรกเกอร์ ซึ่งตามอำนาจ ตลท. ไม่มีอำนาจไปจัดการแต่ถ้าส่งสัญญาณว่ารับทราบเกิดประเด็นนี้ ติดตามอยู่ไม่ได้นิ่งนอนใจให้นักลงทุนได้รับทราบ
“หลักการตลาดหุ้นการเปิดเผยข้อมูลที่มีผลกระทบต่อธุรกิจ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งผู้ถือหุ้น - ผู้บริหาร ให้นักลงทุนทุกคนต้องรับทราบ รู้หลังรู้ช้ามีผลต่อการลงทุนซึ่งประเด็นเหล่านี้ ตลท. – ก.ล.ต. รับทราบดำเนินการออกเป็นเกณฑ์ให้เปิดเผยข้อมูลให้เร็วขึ้น”
@ ปรับรูปแบบการเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุนเข้าถึง - เข้าใจมากขึ้นแค่ไหน
ข้อมูลของ ตลท.มีเยอะมากแต่หาไม่เจอ เข้าถึงยาก เช่น นักลงทุนอย่างรู้ว่าหุ้นไหนมีการนำไปจำนำหรือขอมาร์จิน หุ้นถูก short เท่าไร โปรแกรมกินสัดส่วนไปกี่เปอร์เซ็นต์ มาตรการกำกับมีอะไรบ้างพอลงเข้าไปดูข้อมูลด้วยตัวเองพบว่าข้อมูลมีแต่กระจายจนหาไม่เจออยากจะปรับรูปแบบตามความต้องการ (Customize) สำหรับแต่ละบุคคล ที่จัดข้อมูลตามที่อยากได้
@ การดูแล และกำกับธุรกิจโบรกเกอร์เป็นอย่างไรบ้าง
ธุรกิจที่ดูแลการซื้อขายโดยตรงล่าสุดพึ่งประกาศโทษปรับรุนแรง และสูงขึ้นกับโบรกเกอร์ให้ระวังการทำธุรกรรมมากขึ้นมีผล 1 พ.ย.2567 การดูแลการซื้อขายกับโบรกเกอร์มีความใกล้ชิด มีตักเตือนบางรายการที่ลูกค้าซื้อขายผิดปกติเกิดขึ้นทุกวันเป็นการคุมเข้มไปในตัว
ฐานะที่พึ่งเข้ามารับตำแหน่งได้พบกับหลายๆ โบรกเกอร์เกือบครบทั้ง รายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก และต่างประเทศ มีฐานลูกค้าต่างกันความต้องการไม่เหมือนกัน ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้ ตลท. ต้องหาจุดสมดุล เปิดใจรับฟังทุกความคิดเห็นการทำงานเชื่อว่าไม่น่าหนักใจ
ที่ผ่านมามีประเด็นโปรแกรมเทรดเกิดกระแสโบรกเกอร์ใหญ่ได้เปรียบโบรกเกอร์เล็กรายย่อยเสียโอกาสเสียเปรียบ ต้องบอกว่าโปรแกรมเทรดมีมาเกือบ 20 ปีตั้งแต่ ปี 2559 กลุ่มนักลงทุน HFT มีมาตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งพอคุยกับหลายฝ่ายมองว่าแทนที่จะตีความว่าโบรกเกอร์นั้นเป็นโรบอตเป็นโปรแกรมเทรด เป็นรายใหญ่หรือรายย่อย “ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พฤติกรรมว่าตลาดหุ้นนั้นควรสนับสนุนหรือไม่"
หากมีพฤติกรรมเอาเปรียบ หน้าที่ ตลท. ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น ในใจผมไม่ได้แยกแยะว่านักลงทุนเรียกชื่อกันว่าอะไรแต่ดูพฤติกรรมที่เหมาะสม ทั้งสถาบัน – ต่างชาติ หรือรายบุคคล “ถ้าไม่ดี ไม่ควรสนับสนุน”
@ กล่าวได้ไหมว่า ยุคคุณอัสสเดช “หุ้นที่เก็งกำไรเกินพื้นฐาน – ลากราคาหุ้น” หมดไป
เรียกว่า “ป้องกันให้ได้มากที่สุด” มากกว่า ตลท.ยกระดับกฎเกณฑ์มาตลอดเกณฑ์ Dynamic Price Band ไม่ให้ราคาขึ้นลงหวือหวา หรือจะเรียกว่า “ปั่นราคา” การสอบถามตรงไปยัง บจ.ในประเด็นกระแสต่อราคาหุ้นให้ตอบ ส่วนกรณีการดูแลด้านงบการเงินไม่ให้เกิดการตกแต่งทางบัญชีจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายมีความรู้เข้าใจ เพราะทุกตลาดทุนทั่วโลกมีทั้งคนเอาเปรียบ คนไม่ดี
งานป้องกัน ตลท. ทำองค์กรเดียวไม่ได้ ต้องมีหู มีตา มาชี้เบาะแสจากนักลงทุน บจ. – กรรมการ ต้องป้องกันตัวเอง รับรู้ว่าต้องมีจิตสำนึก ซึ่งเคสใหญ่ที่เกิดขึ้นไม่มีใครตั้งข้อสงสัยมาเลยเป็นบทเรียนต้องแก้ ตลท.ปรับภายในการวิเคราะห์พวกนี้เร็วขึ้นแล้วกลับไปถามคำถาม บจ. ที่สำคัญทำให้เป็นรวมข้อมูล บจ.ไปด้วยไม่ต้องชี้แจงหลายหน่วยงานสามารถใช้ทั้งงานวิเคราะห์ และงานตรวจสอบไปในตัว และให้บจ.ได้ทำธุรกิจของตัวเองไม่ต้องยุ่งยาก
@ คำว่า “ไร้ความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทย” เรียกกลับมาได้หรือไม่
หวังว่าความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่จะให้ดีคือ การไม่เกิดเคสในอนาคตอีกแต่ในทางกลับกันอะไรที่เกิดขึ้นแล้วสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และในฐานะต้นน้ำของข้อมูลต้องหาช่องทางลดขั้นตอนการดำเนินการ
@ ด้านงานพัฒนาหาสินใหม่โฟกัสแนวทางไหนบ้าง
งานพัฒนาหาสินค้าใหม่ และงานกำกับไปด้วยกันให้น้ำหนักเท่ากันในภารกิจทำงาน ตามแผนงานเสนอบอร์ดมีทั้งระยะสั้น – กลาง – ยาว เพื่อเพิ่มฝั่งซัพพลาย (โปรดักต์) และดีมานด์ (ผู้ลงทุน) ของเดิมจะผลักดันมี DR – โปรแกรม AomWISE เพิ่มฐานผู้ลงทุน
ด้านหุ้นใหม่ที่เข้าตลาดหุ้นมีเตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไม่ต่ำกว่า 30 บริษัท มีบริษัทใหม่ๆ สร้างมูลค่าตัวเองเข้าตลาดหุ้นอย่างต่อเนื่อง
@ สำหรับ บจ.เดิมมีแนวทางพัฒนาเพิ่มมูลค่าอย่างไร
ไฮไลต์มีแผนกระตุ้น “บจ. เดิมเพิ่มมูลค่าบริษัท” จากบจ.ตลาดหุ้นไทย 50 % ซื้อขาย P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า สะท้อนว่ามีหลายบริษัทระมัดระวังในการลงทุน ไม่มีแรงจูงใจมากพอจะลงทุน เก็บเงินสดเอาไว้มาก และไปจ่ายปันผลแทนเพื่อเพิ่ม ROE แต่จะทำอย่างไรให้ บจ.เห็นโอกาสคิดนอกกรอบด้วยการดำเนินการแผนลงทุนภายใต้แรงจูงใจที่ ตลท. ทำให้ได้
โดยมีหลายแนวทางอย่าง MAI เติบโตมาอยู่ใน SET มีจำนวนมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ บจ. ใน SET คิดแบบเดียวกันเติบโตทั้งรายได้ - กำไรภายใต้พื้นฐานของธุรกิจที่ดำเนินการ มีกรอบระยะเวลา 3 ปี หากมีแผนที่ดีการเติบโตที่ดี ตลท. ลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนการเป็น บจ.ในตลาดหุ้น หรือเป็นไปได้เสนอภาษีหากมีรายได้ –กำไร เพิ่มขึ้นจากมูลค่าการลงทุนในอนาคตสามารถเว้นหรือลดให้ บจ.กลุ่มนี้ช่วงระยะหนึ่งเพื่อนำเงินมาลงทุนในธุรกิจตัวเองมากขึ้น เป็นการอัปเกรด บจ.เดิมให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ด้วยธุรกิจ
ตัวอย่างโมเดลจากต่างประเทศเกาหลีใต้ Value Up Model ส่วน ญี่ปุ่น Corporate Reform หาทางให้ บจ.เพิ่ม ROE เร็วสุดจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น แต่เปลี่ยนไปให้ บจ. ประกาศแผน 3-4 ปีจะลงทุนอะไร ทางญี่ปุ่นเน้นทางทรัพย์สินทางปัญญามีการลดค่าใช้จ่ายให้ หรือผ่านโปรแกรมลงทุนในหุ้นเหล่านี้ลดภาษีได้ รวมทั้งใช้ AI วิเคราะห์หุ้นแปลเป็น 16 ภาษาเพื่อดึงต่างชาติลงทุน
ประเด็นนี้สามารถดำเนินการเป็นแผนระยะสั้น และทำได้ทันที ซึ่งเชื่อว่ามีหลาย บจ. สนใจจะทำแต่ต้องปรับตามความเหมาะสมของตลาดหุ้นไทย และคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องพอมีโมเดลที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจะเห็นข้อดี
นอกจากนี้ ตลท. ต้องเป็นตัวกลางเชื่อม บจ. กับนักลงทุนไม่ใช่แค่รายงานกระดาษลงสื่อออนไลน์แต่หน้าที่ ตลท. ต้องช่วยในการสื่อสารดึงให้ไปพบกับนักลงทุนมากขึ้น ที่ผ่านมานักลงทุนต่างประเทศ - สถาบัน เน้นหุ้นใหญ่ มูลค่าสูง แต่ต้องหนุนบริษัทที่มีขนาดกลาง และเล็กลงไปด้วยผ่านการวิเคราะห์ผ่านตัวนักวิเคราะห์หรือเทคโนโลยี
@มุมมองการทำงานผู้จัดการ ตลท. กังวลกับการถูกคาดหวังอย่างไรบ้าง
มุมมองการทำงานไม่เปลี่ยน หลักการเหมือนเดิม “ทำเพื่อส่วนรวม” และ “สร้างความเท่าเทียม” ยิ่งมาสัมผัสจริงยิ่งไม่ต้องเปลี่ยนหลักการเลย การสร้างความเท่าเทียมมีบอกว่าเกิดขึ้นไม่ได้ในตลาดทุน แต่ฐานตลท. ไม่ได้ดูที่การแข่งขันทำธุรกิจ ไม่สามารถเข้าไปช่วยได้ แต่ บทบาท ตลท. ทำอย่างไรให้ลูกค้า – นักลงทุน เข้าถึงข้อมูลลงทุนได้สะดวก และสินค้าที่มีคุณภาพ และหลากหลาย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์