เปิดผลวิจัยระยะ2 "วัคซีนโควิด"ขององค์การเภสัชกรรม
เปิดผลวิจัยระยะ 2 "วัคซีนโควิดของอภ." พบกระตุ้นภูมิฯระดับใกล้เคียงวัคซีนที่ใช้ในไทย เดินหน้าวิจัยระยะ 3 ฉีดเข็มกระตุ้นอาสา 4,000 คนที่นครพนม เริ่ม 23 ธ.ค.นี้ คาดรู้ผลกลางปี 66
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2565 ที่ศาลากลางจ.นครพนมนพ.เกรียงไกร ประเสริฐ หัวหน้าโครงการวิจัยระยะที่ 3 เพื่อประเมินความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน เอชเอ็กซ์พั จีพีโอ(HXP-GPOVac) กล่าวระว่างการเตรียมความพร้อมในการรับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการวิจัยระยะ3ฯ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ศึกษาวิจัยโดยองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ที่ศาลากลางจ.นครพนม กล่าวว่า การศึกษาวิจัยในระยะที่ 3 จะดำเนินการในอาสาสมัครจำนวน 4,000 คน เพื่อติดตามความปลอดภัยและดูผลกระตุ้นภูมิคุ้มกัน วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเข็มกระตุ้น ในผู้ที่เคยรับวัคซีนโควิดมาแล้ว 2 เข็มที่เป็นตัวเดียวกัน เช่น แอสตร้า- แอสตร้า ซิโนแวค -ซิโนแวค ไฟเซอร์ -ไฟเซอร์ โดยจะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นขององค์การเภสัชกรรม(อภ.) ขนาด 10 ไมโครกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และติดตามดูเรื่องความปลอดภัยและผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน เพื่อนำผลไปขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในประเทศไทย ก่อนนำมาใช้เป็นวัคซีนโควิด-19 ในไทยต่อไป
ทั้งนี้ สถานที่ศึกษาวิจัยระยะ3 มี 2 แห่ง ได้แก่ 1.ศาลาประชาคมยงใจยุทธ ศาลากลางจังหวัดนครพนม และ2.อำเภอนาแก อาสาสมัครที่สนใจสามารถมารับได้ทั้ง 2 แห่ง แบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาในการฉีด คือ 23-29 ธ.ค.2565 และ 5-11 ม.ค.2566
"เลือกพื้นที่จ.นครพนมในการศึกษาระยะที่ 3 เนื่องจากจ.นครพนมเป็นพื้นที่โครงการวิจัยระยะที่ 2 จำนวน 300 คนเพื่อดูผลความปลอดภัยและผลกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยผลระยะ2 อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ คือกระตุ้นภูมิในระดับใกล้เคียงวัคซีนโควิดที่ใช้ในประเทศไทย จึงเริ่มดำเนินการในระยะที่ 3 ในพื้นที่เดิม"นพ.เกรียงไกร กล่าว
คุณสมบัติอาสาสมัครที่จะเข้าร่วมได้ คือ
1.อายุ 18 ปีขึ้นไป
2. มีสุขภาพดีถ้ามีโรคประจำตัวอาการจะต้องคงที่ อาการต้องผ่านการพิจารณาโดยแพทย์ว่าอาการคงที่และเข้าร่วมโครงการได้
3.ไม่เคยมีประวัติเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนใน 3 เดือน
4. มีการตรวจยืนยัน atk วันที่มาฉีดต้องเป็นลบ
ขั้นตอนในการเข้ารับวัคซีนของอาสาสมัครระยะ 3
จุดแรก คือจุดลงทะเบียน มีการตรวจสอบคุณสมบัติ การรับวัคซีน 2 เข็มที่ผ่านมา โดยใช้บัตรประชาชน
จุดที่ 2 คัดกรองและเชิญเข้าร่วมโครงการเป็นจุดที่ให้ความยินยอมเข้าร่วมโครงการ
จุดที่ 3 เป็นการตรวจร่างกาย ดูสัญญาณชีพ วัดไข้วัดอุณหภูมิ วัดความดัน ก่อนพบแพทย์จะตรวจคัดกรอง atk วันที่มาฉีดจะต้องเป็นลบ หลังพบแพทย์แล้วตรวจยืนยันว่าอาสาสมัครสุขภาพแข็งแรง มีเกณฑ์คุณสมบัติเข้าร่วมโครงการได้ แพทย์จึงอนุญาตให้เข้าร่วมโครงการได้
จุดที่ 4 ฉีดวัคซีน มีห้องจำนวน 5 ห้อง มีพยาบาลฉีดวัคซีนประจำจุดและหลังห้องฉีดวัคซีน จะมีแพทย์ พยาบาล ดูแลความปลอดภัย
จุดที่ 5 จุดสังเกตอาการ 30 นาที เพื่อดูว่ามีอาการข้างเคียงอะไรหรือไม่ จากนั้นจะแนะนำเรื่องการติดตามอาการข้างเคียงเป็นระยะเวลา 1 ปี
นพ.เกรียงไกร กล่าวอีกว่า อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นในระยะที่ 2 เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้โดยทั่วไป เช่น อาการเฉพาะที่ ปวด บวมและแดง เปอร์เซ็นต์ในการเกิดอยู่ที่ 20% ในระดับของอาการเกิดอยู่ที่ระดับเล็กน้อย อาการไข้ เจอน้อยไม่ต่างจากวัคซีนอื่นทั่วๆไป
ภญ.พรทิพย์ วิรัชวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายชีววัตถุรักษาการผู้จัดการโรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ องค์การเภสัชกรรม(อภ.) กล่าวว่า หลังการฉีดจะมีการเจาะเลือดตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่ 14 วัน,3 เดือน ,6 เดือน และ 1 ปี หลังการฉีด ทั้งนี้ หากรับอาสาสมัครและการฉีดวัคซีน ให้อาสาสมัครเข้าโครงการครบ 4,000 คนในช่วง 1 เดือนนี้หรือภายในปลายมกราคม 2566 จากนั้นจะมีการเจาะเลือด 14 วัน คือเดือนกุมภาพันธ์ แล้วจัดส่งตัวอย่างไปทดสอบฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันในเลือด เนื่องจากตัวอย่างค่อนข้างมาก จะต้องใช้เวลา อยู่ที่ประมาณ 3 เดือนคาดว่าช่วงกลางปี 2566 จะได้ข้อมูลครบเรียบร้อย ก่อนนำมาวิเคราะห์ และผ่านคณะกรรมการต่างๆก่อนจะสรุปเพื่อยื่นให้กับอย.