รู้ไว้! ก่อนฉีดวัคซีน ผู้ป่วยแต่ละโรค ต้องเตรียมตัวอย่างไร
น่าเสียดายที่การ”ฉีดวัคซีน”เป็นวาระแห่งชาติ แต่ไม่มีคู่มือการฉีดวัคซีนไวรัสโควิดให้ประชาชน ถ้าอย่างนั้นลองเช็คดูว่า บางโรคมีข้อห้าม ข้อยกเว้นอะไรบ้าง(จากความเห็นแพทย์)
“เมื่อไม่กี่วัน ไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 ป้องกันสุนัขบ้า เพราะแมวข่วน ก็เลยถามหมอว่า อีกไม่กี่สัปดาห์ต้องไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิดต้องงดวัคซีนป้องกันสุนัขบ้าตอนไหน”
“กำลังท้องอยู่ อีกไม่กี่วันต้องฉีดวัคซีน ต้องทำอย่างไร”
“ป่วยเป็นความดันโลหิตสูง วันฉีดวัคซีนต้องกินยาไหม”
“กินยาซึมเศร้าอยู่ บางข้อมูลก็ให้หยุดยา บางข้อมูลก็บอกว่า ไม่ต้องหยุดยา แล้วต้องเชื่อใคร”
ฯลฯ
ถ้าไม่รู้จะเชื่อใคร ลองอ่านสรุปข้อมูลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยแพทย์สาขาต่างๆ มาให้ความรู้ก่อนฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด คนป่วยแต่ละคน ต้องเตรียมตัวอย่างไร
'วัคซีน'กับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง(ไม่มีโรคแทรกซ้อน)
-วันเข้ารับวัคซีน ต้องควบคุมความดันโลหิตไม่เกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท
-ผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคประจำตัว เช่น กลุ่มผู้สูงอายุต้องรับประทานยาสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากมีความดันโลหิตสูงเกินกว่าปกติต้องปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาหรือแผนการรักษา
-ภายใน 2-4 ชั่วโมง หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ควรออกกำลังกาย เพราะอาจเกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดเมื่อยหรืออ่อนเพลีย
-รับประทานยาประจำตัวตามปกติ ยกเว้น หากรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด หรือยาละลายลิ่มเลือดต้องแจ้งแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน เช่น มีเลือดออกในกล้ามเนื้อบริเวณจุดที่ฉีดยา เกิดการบวม หรือมีรอยช้ำซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยกดบริเวณที่ฉีดวัคซีนให้นานขึ้นเป็นเวลา 5 นาที และสังเกตว่ามีอาการบวมหรือมีรอยซ้ำเกิดขึ้นหรือไม่
-ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ไม่ควรหยุดรับประทานยาประจำตัว เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
ข้อมูล ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2564
ที่มา : ศ. นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
................
'วัคซีน'กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
การให้ยาเคมีบำบัดส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ยาเคมีบำบัดมีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยลดต่ำลงบ้างโดยเฉพาะในช่วง 3-10 วัน หลังจากได้รับยาเคมีบำบัดแต่ละครั้งผลข้างเคียงดังกล่าวในผู้ป่วยแต่ละราย อาจแตกต่างกันในแต่ละสูตรยาและแต่ละครั้งที่มารับยา
โอกาสติดเชื้อโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม
มีโอกาสใกล้เคียงหรือเทียบเท่ากับบุคคลทั่วไป ยกเว้นในระยะที่ผู้ป่วยรายนั้น ๆ มีภูมิคุ้มกันโรคลดลง เช่น ในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังการผ่าตัดหรือ 3-10 วันแรกหลังได้รับยาเคมีบำบัด จึงอาจมีผลต่อการติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้ง่ายกว่า
ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมไม่ควรหยุดให้ยาเคมีบำบัด
ผู้ป่วยไม่ควรหยุดการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หากอยู่ในช่วงที่แพทย์กำหนดการรักษาไว้แล้ว เนื่องจากการขาดความต่อเนื่องของการรักษามะเร็งเต้านม อาจทำให้ผลการรักษาในระยะยาวไม่ได้ผลลัพธ์ดีเท่าที่ควร
หากเป็นไปได้ควรฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้ครบก่อนเริ่มการรักษา เพราะภายหลังการผ่าตัดและการให้ยาเศมีบำบัด ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะลดลงตามที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นหากยังไม่ได้รับวัคซีนก่อนการรักษาผู้ป่วยจำเป็นต้องเคร่งครัดกับมาตรการป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19 หากมีข้อสงสัยของการฉีดวัคซีน ควรปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาอยู่
ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2564
ที่มา : นพ.อธิศพันธุ์ จุลกทัพพะ
'วัคซีน'กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและระบบประสาท
-โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
ยกเว้นผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหรืออาการยังไม่คงที่สำหรับผู้ป่วยที่รับประทานยาต้านเกล็ดเลือด (aspirin, clopidogrel, cilostazol) ยาป้องกันเลือดแข็งตัวที่ไม่ใช่ยาวาร์ฟาธิน (dabigatan, ivaroxaban, apixaban,edoxaban)
และยาวาร์ฟาริน (หากมีผลตรวจระดับการแข็งตัวของเลือด (INR)อยู่ในระดับต่ำกว่า 4.0 ภายใน 1 สัปดาห์ หรืออยู่ในระดับต่ำกว่า 3.0 มาโดยตลอด) ไม่จำเป็นต้องหยุดหรือปรับขนาดยาก่อนฉีดวัคซีน สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ได้ โดยใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็ก หลังจากฉีดแล้วกดตำแหน่งที่ฉีดไว้นานประมาณ 5 นาที จากนั้นอาจประคบด้วยน้ำแข็งหรือเจลเย็น
-โรคลมชัก ผู้ป่วยสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ แต่หลังการฉีดวัคซีน อาจมีใข้ และไข้อาจกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้
-โรคระบบประสาทภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้แพทย์ประเมินระยะอาการของโรคและยาที่ใช้อยู่ว่าสามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่
-โรคทางระบบประสาทอื่น ๆ เช่น โรคสมองเสื่อม โรคเซลล์ประสาทสั่งการเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคเส้นประสาท และกล้ามเนื้อที่เกิดจากพันธุกรรมหรือการเสื่อม ไม่เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
ข้อมูล ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2564
ที่มา : รศ.(พิเศษ) พญ.อรอุมา ชติเนตร
.......................
'วัคซีน'กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
มีความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคโควิด-19 ไม่แตกต่างจากคนทั่วไป แต่อาจมีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดีเนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายมีประสิทธิภาพป้องกันโรคลดลง
อาการรุนแรงของโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
- เกิดอาการปอดอักเสบมากขึ้น และรุนแรงจนต้องใช้เครื่องหายใจ
- เกิดภาวะไตวายมากขึ้น มีโอกาสฟอกไต
- มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
ผู้ป่วยโรคเบาหวานจัดเป็นกลุ่มเสี่ยง เมื่อติดโรคโควิด-19 จะทำให้มีอาการรุนแรง ดังนั้นควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
ข้อมูล ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2564
ที่มา : อ. นพ.วิทวัส แนววงศ์
............
วัคซีนกับภาวะลิ่มเลือด
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -1 9 ทุกชนิดไม่ส่งผลต่อการเกิดหลอดเลือดอุดตัน เช่น หลอดเลือดสมองอุดตัน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน และลิ่มเลือดอดตัน
- การเกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำร่วมกับหลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะที่สมอง มีรายงานหลังฉีดวัคซีนของ AstraZeneca หรือ Johnson and Johnson ว่ามีโอกาสเกิดภาวะดังกล่าวขึ้นอยู่ระหว่าง 1 : 100,000 ถึง 1 : 500,000 ซึ่งภาวะนี้สามารถรักษาได้จากการวินิจฉัยและยาที่มีอยู่ในประเทศ
- ภาวะหลอดเลือดอุดตันภายหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 มีความน่ากังวลมากกว่าการฉีดวัคซีน เพราะการติดเชื้อโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดหลอดเลือดอุดตันสูงถึง 1 ใน 10 และมักเป็นหลอดเลือดอุดตันที่รุนแรง
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ทุกชนิดมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันแต่ผลข้างเคียงที่รุนแรงของวัคซีนแต่ละชนิด มีโอกาสเกิดน้อยกว่า 1 : 100,000 ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ต่ำกว่าภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงจากการติดเชื้อโควิด-19 เช่น ปอดอักเสบรุนแรง หลอดเลือดอุดตัน หรือเสียชีวิตนับหมื่นเท่า
- ความกังวลหลังฉีดวัคซีน Sinovac ที่ว่าฉีดแล้วจะป่วยเป็นโรคอัมพฤกษ์ หรือโรคอัมพาต ทางโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดแล้วไม่พบผู้ที่เกิดหลอดเลือดสมองอุดตันจากการฉีดวัคซีน
- ปัจจุบันไม่พบหลักฐานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยตรงในประเทศสหรัฐอเมริกาพบผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน Pfizer หรือ Moderna ประมาณ 1 : 60,000 ซึ่งภายหลังการสอบสวนโรคแล้ว พบว่าอาจเกิดจากโรคประจำตัวของผู้เสียชีวิตมากกว่าเกิดจากการฉีดวัคซีน
คำแนะนำจากแพทย์
ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็ง โรคอัมพฤกษ์ โรคอัมพาต โรคหัวใจ โรคปอด โรคตับ โรคไต โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
ข้อมูล ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2564
ที่มา : รศ. นพ.นภชาญ เอื้อประเสริฐ
..................
วัคซีนโควิดในผู้หญิง
- ผู้หญิงที่มีประจำเดือนหรือกำลังจะมีประจำเดือน สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
- ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ ก่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
จะพิจารณาการให้วัคชีนใน
– ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น แพทย์ พยาบาล หรืออยู่ในพื้นที่การระบาดสูง เป็นต้น
– อายุครรภ์ ต้องมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป
– ชนิดของวัคซีน
* หากเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่น วัคซีน Sinovac ตามหลักการน่าจะปลอดภัย
* มีข้อมูลการให้วัคซีน mRNA บ้างพบว่าปลอดภัย ส่วนวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ เช่น วัคซีน AstraZeneca ควรปรึกษาแพทย์
– ประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากติดโรคโควิด-19 เช่น ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป ทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนด และสามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้ - ผู้หญิงที่กำลังจะเตรียมตัวมีบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้โดยไม่ต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อน แต่เมื่อทราบว่าตั้งครรภ์หลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 แล้ว ควรเลื่อนการฉีดเข็มที่ 2 ออกไปหลังอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือน
- ผู้หญิงที่ให้นมบุตร สามารถฉีดวัคซีนได้ เนื่องจากส่วนประกอบของวัคซีนมีโอกาสผ่านน้ำนมน้อยมาก จึงไม่มีความจำเป็นต้องงดให้นมบุตร
- การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ยังไม่มีหลักฐานการศึกษาที่บ่งชี้เป็นผลทำให้มีบุตรยาก
ข้อมูล ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564
ที่มา : ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ
...........................
เรื่องอื่นๆ ใน"จุดประกาย" เกี่ยวกับไวรัสโควิดในมุมต่างๆ
ย้ำอีกครั้ง!' ฉีดวัคซีน' โอกาสเกิด'ลิ่มเลือดอุดตัน'น้อยมาก
รู้ให้ลึก! ก่อนฉีด ‘วัคซีนโควิด’ ทำไมไม่ต้องหยุด ‘ยาคุม’
รู้ให้ชัด! ก่อนฉีด‘วัคซีน’ ‘ผู้ป่วยจิตเวช’ไม่ต้องหยุดยา