"ประเทศร่ำรวย" เตรียมลูกให้เป็นต่อเรื่อง AI
แทบทุกคนคงรู้ว่า “กาตาร์” ร่ำรวยจากน้ำมัน แต่ที่ยังไม่ค่อยทราบกันคือกาตาร์เป็นประเทศร่ำรวยจากกิจการน้ำมันอีกประเทศหนึ่ง ที่จริงจังกับการเตรียมลูกหลานของเขาให้ไม่ใช่แค่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยี
แต่เขายังหวังไกลไปอีกว่าวันหน้าลูกหลานเขาจะกลายเป็นพลเมืองโลกที่ เป็นต่อ ผู้คนในหลายประเทศในโลกนี้ในด้านการใช้เทคโนโลยี ที่พบเห็นกันบ่อยๆ ในระยะนี้ คือการสร้างความเป็นต่อให้กับลูกหลานของเขาในเรื่องการใช้ AI เสริมเติมปัญญาในการเล่าเรียน
แนวคิดของเขาเน้นในองค์รวม มากกว่าที่จะเน้นเพียงการสร้างความรู้จัก และใช้เทคโนโลยีแบบแยกส่วน เทคโนโลยีตัวไหน ยี่ห้อใดโด่งดังขึ้นมา ครูอาจารย์โรงเรียนประถม มัธยม ในบางประเทศก็ยัดเยียดเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีตัวนั้น ยี่ห้อนั้นให้นักเรียนได้รับรู้
แต่เป็นการรับรู้ในมุมมองของครูอาจารย์ คือครูอาจารย์อยากใช้เทคโนโลยีนั้นทำอะไรบ้าง ก็บอกกล่าวและบังคับนักเรียนให้ไปทางนั้น ใครไม่ไปทางนั้นก็สอบตก ผู้บริหารระดับสูงก็พออกพอใจกับการใช้เทคโนโลยีอย่างว่านอนสอนง่ายไปเสียอีก
ทั้งหมดข้างต้นนี้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนรวยในกาตาร์กำลังตระเตรียมให้ลูกหลานของเขาอยู่ รวยเงินแล้วยังอาจต้องยอมรับว่าผู้บริหารการศึกษาของเขายังรวยปัญญาเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ มากกว่าบางประเทศอีกด้วย
เขาเชื่อว่าลูกหลานจะมีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีสร้างความเป็นต่อขึ้นมานั้น ไม่ใช่แค่ความพยายามในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว เขาเชื่อว่าพ่อแม่มีบทบาทนำในเรื่องนี้มากกว่าโรงเรียน โดยบ้านและโรงเรียนต้องไปด้วยกัน ในจังหวะก้าวหน้าที่สอดคล้องกัน
เคยมีการแจก Tablet ให้นักเรียนยืมไปใช้งานที่บ้าน โดยหวังว่านักเรียนจะไปสอนพ่อแม่เกี่ยวกับการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งคิดตรงข้ามกับที่กาตาร์เขาคิด
บ้านเมืองนั้นให้เด็กกลับไปสอนผู้ใหญ่ แต่กาตาร์เขายังอยากให้ผู้ใหญ่ช่วยแนะนำเด็ก เวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าความคิดให้เด็กไปสอนผู้ใหญ่เรื่องเทคโนโลยีใหม่นั้น ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว
เช่นเดียวกับที่วันหน้าจะบอกได้ว่า การให้ผู้ใหญ่รู้จักคุ้นเคยกับเทคโนโลยีใหม่ไปล่วงหน้า จนกระทั่งสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้งานเทคโนโลยีใหม่นั้น จะประสบความสำเร็จในการสร้างความเป็นต่อให้กับลูกหลานในด้านเทคโนโลยีนั้นขึ้นได้จริงหรือไม่
แต่ลองนึกดูว่า ถ้ารถยนต์เพิ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ แล้วเด็กต้องเรียนรู้การใช้งานรถยนต์ เพื่อไปสอนให้ผู้ใหญ่ โดยที่เด็กก็ยังไม่รู้ว่าผู้ใหญ่จะต้องการอะไรจากรถยนต์ ถนนหนทางจะปลอดภัยในการเดินทางมากน้อยแค่ไหน
โรงเรียนแห่งหนึ่งในกาตาร์ได้เผยแพร่ “คู่มือเอไอสำหรับพ่อแม่” ที่บอกให้พ่อแม่ทราบในเบื้องต้นว่า เอไอยุคนี้คืออะไร มีการนำมาเป็นผู้ช่วยในการเล่าเรียนกันอย่างไรบ้าง แล้วตามมาด้วยข้อพึงระวังในการใช้งานเอไอ
เขาเน้นเป็นเบื้องต้นเลยว่า การใช้งานเอไออย่างมีจริยธรรมเป็นอย่างไร และเขาบอกว่าหน้าที่สำคัญในการสร้างความเป็นต่อในด้านเทคโนโลยีให้กับลูกหลานนั้นพ่อแม่นั่นแหละที่ต้องเป็นบุคคลตัวอย่างในการใช้งานเทคโนโลยีนั้น
คู่มือนี้จึงบอกพ่อแม่ตั้งแต่ความเป็นมาของเอไอ ย้อนไปถึงพื้นฐานการทดสอบที่ใช้แยกแยะว่าเป็นคอมพิวเตอร์ หรือเป็นคน จนกระทั่งถึงตัวอย่างสารพัดแอปด้านเอไอ ที่พ่อแม่จะทดลองไปใช้งานได้
ซึ่งการใช้งาน Generative AI ในวันนี้ ไม่จำเป็นที่ต้องเก่งกาจด้านการเขียนอ่านโปรแกรม แต่ต้องเก่งเรื่องการ Prompt คือเล่าถ่ายทอดเรื่องราวที่เราอยากให้เอไอช่วยทำได้ครบถ้วนตรงตามที่คิดไว้ ซึ่งที่จริงก็คือความสามารถในการสื่อสารที่มนุษย์ทุกคนควรจะมีอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับที่เคยบอกไว้ว่า เอไอวันนี้เป็นผู้ช่วยที่ดีสำหรับผู้รู้ แต่เป็นปรมาจารย์ที่ย่ำแย่สำหรับคนไม่รู้
คู่มือของกาตาร์เน้นว่าพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างในการใช้งานเอไออย่างที่เป็นคนรู้ รู้ว่าที่เอไอบอกมานั้น แค่ไหนยังเป็นเรื่องจริงแน่ๆ แค่ไหนที่ชักจะเป็นนิยาย ซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่ต้องมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ดีพอที่จะคิดได้ ถ้ายังแยกจริงออกจากมโนไม่ได้ อย่าพยายามจะเป็นตัวอย่างให้ลูกหลานเด็ดขาด
ลูกหลาน “ไม่เป็นต่อ” ในโลกยุคใหม่ โทษใครไม่ได้นอกจากพ่อแม่.
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]