"Workation"เที่ยวไปทำงานไปอย่างไร? ให้Work-life Balance
หลังจากยุคโควิด-19 “เทรนด์การทำงาน” ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย “Workation” หรือเที่ยวไปทำงานไป อีกหนึ่งเทรนด์ใหม่ที่คนชอบเที่ยว อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ สอดคล้องไลฟ์สไตล์ Work-life Balance สมดุลระหว่างการทำงาน และการใช้ชีวิต
KEY
POINTS
- "Workcation" เทรนด์การทำงานไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วย เปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงานในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ช่วยให้สร้างสรรค์งานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
- แพลนงานให้ดี ,กำหนดเวลาการทำงานให้ชัดเจน ,จด To do list สิ่งที่ต้องทำให้ครบ และหยุดตอบไลน์กรุ๊ปทำงาน ตอนพักผ่อน ก่อนเริ่ม Workcation จัดสมดุลWork-life Balance
- เทรนด์การท่องเที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วย อาจไม่ได้เหมาะกับทุกสายอาชีพ ส่วนใหญ่แล้วจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์การทำงานของคนกลุ่มใหม่
“Workation” มาจากคำว่า Work (การทำงาน) + Vacation (การท่องเที่ยว) เป็นการท่องเที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วย รูปแบบการทำงานแนวใหม่ ที่จะทำงานจากที่ไหนก็ได้ มีอิสระ ไม่ได้จำกัดอยู่ในออฟฟิศอีกต่อไป ซึ่งการทำงานไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วยจะช่วยเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ช่วยให้สร้างสรรค์งานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในฐานะคนทำงานย่อมเป็นเรื่องดีที่อิสระมากขึ้น ขณะที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR ผู้ต้องรับหน้าที่ในการบริหารทรัพยากรมนุษย์กลับต้องคิดหนักว่าจะรับมือกับเทรนด์การทำงานรูปแบบนี้ยังไง เพื่อรักษาความมีส่วนร่วมและความผูกพันกับองค์กรให้คงอยู่ พร้อมทั้งรักษาประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีเหมือนเดิม
รายงานของ Booking.com ในปี 2020 ที่เก็บสำรวจจากนักเดินทาง 20,000 คนจาก 28 ประเทศทั่วโลกพบว่า 37% ของผู้เดินทางทั่วโลกตัดสินใจเดินทางไปที่อื่นเพื่อทำงานแบบฉบับ Workation โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่ตัวเลขสูงที่สุดถึง 42% จากผลสำรวจทั้งหมด
เทรนด์ดังกล่าวทำให้หลายประเทศริเริ่มนโยบายเพื่อสนับสนุนการ Workcation นักท่องเที่ยว (และคนทำงาน) จากชาติอื่นมากขึ้น ยกตัวอย่าง ประเทศดูไบที่เปิดโครงการวีซ่า 12 เดือนสำหรับผู้ที่จะเข้ามา พร้อมทั้งสนับสนุนและบริการการใช้ co-working spaces อย่างเต็มที่ เพื่อดึงดูดคนเข้ามาในประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เทรนด์การทำงานที่องค์กรและพนักงานต้องเตรียมตัวให้พร้อมในปี 2024
เทรนด์ใหม่ทั่วโลก!!ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ข้อดี-ข้อจำกัดที่องค์กรต้องรู้
ประเทศไทย เมืองที่เหมาะWorkation ที่สุด
Holidu’s Workation Index จัดอันดับเมืองที่เหมาะสำหรับ Workation มากที่สุดประจำปี 2021 (The Best Citities for a Workation 2021) ซึ่งอันดับที่ 1 ก็คือ กรุงเทพมหานคร นี่เอง กระทั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ริเริ่มโครงการ Workation Thailand ทำงานเที่ยวได้ รวมใจช่วยชาติ ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศเลยทีเดียว
10 อันดับเมืองที่เหมาะสำหรับ Workation ที่สุดในโลก ปี 2021
- กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
- นิวเดลี ประเทศอินเดีย
- ลิสบอน ประเทศโปรตุเกส
- บาร์เซโลนา ประเทศสเปน
- บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา
- บูดาเปสต์ ประเทศฮังการี
- มุมไบ ประเทศอินเดีย
- อิสตันบูล ประเทศตุรกี
- บูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย
- ภูเก็ต ประเทศไทย
Workcation อย่างไร? ไม่ให้ Work Life Balance เสีย
การไป Workcation นี่เหมือนได้ขึ้นสวรรค์ชัด ๆ แต่ถ้าเป็นคนไม่เก่ง หรือเคร่งครัดเรื่องวินัยการทำงานละก็อาจจะส่งผลเสียมากกว่าการนั่งทำงานอยู่ที่บ้าน หรือออฟฟิศ เพราะใจมุ่งอยากจะนอน หรือท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว แต่การไป Workcation ครั้งนี้ได้ผลลัพธ์ที่ดี สามารถทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
1. แพลนงานให้ดีก่อนเริ่มไป Workcation
ก่อนออกเดินทางไป Workcation ควรหาทางจัดการงานที่ยังค้างคา ให้เรียบร้อย หากมีสมาชิกในทีมลองฝากงานให้เพื่อน ๆ ช่วยกันดูแล แต่ไม่ควรเอาภาระงานของเราไปให้คนอื่นทั้งหมด ให้กระจายงานไปที่เพื่อนประมาณ 30% ก็พอ ส่วนเรายังต้องรับผิดชอบ 70% ของจำนวนงานทั้งหมด เพื่อน ๆ จะได้ทำงานในส่วนนี้อย่างไม่ลำบากใจ
ส่วนงานที่ต้องพึ่งทักษะของเราก็ควรเตรียมตัวให้ดีว่า ต้องพกอุปกรณ์ช่วยทำงานมากน้อยแค่ไหน เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคระหว่างที่ไป Workcation ส่วนนอกเวลาทำงานอย่าลืมตั้งระบบตอบกลับอีเมลอัตโนมัติ แจ้งรายละเอียดการพักร้อนของเรา เพื่อให้คนติดตามงานรู้ว่าจะติดต่องานได้ตอนไหน และช่องทางใด จะได้ไม่รบกวนเราขณะพักผ่อน แล้วการเปลี่ยนพื้นที่การทำงานของเราครั้งนี้ คงช่วยเติมไฟให้ชีวิตการทำงานกลับมาอีกครั้ง
2. กำหนดเวลาทำงานแบบชัดเจน
จุดประสงค์การไป Workcation คือไปทำงานแต่ได้ฟิลพักผ่อน ดังนั้นกิจกรรมของเราต้องวางแพลนให้ดี กำหนดไปเลยเราจะทำงานกี่ชั่วโมงต่อวัน และชั่วโมงที่เราทำต้องทำแบบจริงจังด้วยนะ เหมือนว่าเรานั่งทำงานที่ออฟฟิศนั่นแหละ และพยายามทำงานไม่เกินชั่วโมงที่เรากำหนดไว้
หากหมดเวลาการทำงาน หากยังมีงาน หรือโปรเจกต์อะไรที่ยังไม่เสร็จ ให้เบรกโดยทันที แล้วไปใช้ชีวิตพักผ่อน ท่องเที่ยว หาอาหารอร่อย ๆ เติมพลังชีวิต ส่วนงานก็มาเริ่มทำต่อในวันถัดไป พยายามแบ่งเวลาการทำงาน และเวลาพักผ่อนให้เท่า ๆ กันแบบนี้งานก็ได้ไม่โดนบ่น ชีวิตส่วนตัวก็ได้ผ่อนคลาย
3. จด To do list สิ่งที่ต้องทำให้ครบ
การไป Workcation ทำให้เราไม่ได้สามารถพกงานไปทำได้เหมือนการนั่งทำงานที่บ้าน หรือที่ออฟฟิศ การจดบันทึกสิ่งที่ต้องทำจะช่วยให้งานของเราทำเสร็จได้แบบมีประสิทธิภาพ เช่น การลิสต์งานที่สามารถทำนอกสถานที่ได้ แล้วในแต่ละวันเราก็เร่งเคลียร์งานให้เสร็จตามเช็กลิสต์ของเรา เมื่อลิสต์รายการที่ต้องทำเสร็จแล้วมาจัดลำดับความสำคัญของงาน ถ้าเป็นงานด่วนให้เราทำไฮไลท์สีข้อความเอาไว้ แล้วรีบจัดการให้เสร็จก่อน
งานไหนสำคัญแต่ไม่เร่งด่วนมาก จดเอาไว้ใน To do list พร้อมวางแผนให้ดีว่าจะทำให้เสร็จเมื่อไหร่ แบบนี้เราก็สามารถบริหารงานได้ดีแม้เป็นการทำงานแบบ Workcation ส่วนนอกเวลาทำงาน เราก็ไม่ควรพลาดที่จะจดสิ่งที่เราอยากทำด้วย
4. หยุดตอบไลน์กรุ๊ปทำงาน ตอนพักผ่อน
ถ้าเวลาทั้งหมดต้องคอยตอบไลน์กลุ่มทำงานทั้งวัน การไป Workcation คงไร้ความหมาย หากเพื่อน ๆ ยังตอบแชท หรืออีเมลอยู่ตลอดเวลา ช่วงเวลาที่เราทำงานให้ตอบได้ แต่เลิกงานปุ๊บ ให้กดปิดการแจ้งเตือนไว้ทันที เพื่อไม่ให้มีข้อความอะไรมารบกวนสมาธิ ตอนกำลังพักผ่อน และหากจิตใจเราว้าวุ่นมาก ๆ
ถึงแม้ปิดการแจ้งเตือนแล้ว เผลอเข้าไปดูบ่อย ๆ มันอาจส่งผลให้เราเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ หรือโรคเครียดได้ง่าย ๆ เข้าใจว่างานก็สำคัญแต่ช่วงเวลาพักผ่อน เราต้องจริงจังด้วย ในเวลาส่วนตัวลองตัดขาดจากโลกภายนอกบ้าง แล้วชีวิตจะมีความสุขขึ้นอีกเยอะ
ข้อดีและข้อเสียของ Workcation
ข้อดีของ Workation
- การเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานช่วยสร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และไม่ทำให้เกิดความเบื่อหน่าย
- มองเห็นงานในอีกมุมมองซึ่งจะช่วยให้พัฒนาปรับปรุงงานตัวเองให้ดีขึ้น
- ช่วยลดระดับความเครียดโดยไม่ต้องลางาน
- จัดสรรเวลาทำงานได้อย่างอิสระ
- สามารถพบปะผู้คนใหม่ ๆ ที่ทำงานในลักษณะ ตำแหน่ง หรือรูปแบบคล้าย ๆ เพื่อเรียนรู้และปรึกษาซึ่งกันและกัน
- ได้พบวัฒนธรรมใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้
- ประสบการณ์การเดินทางจะทำให้เติบโตในชีวิตส่วนตัว
- มีผลงานวิจัยมากมายที่บอกว่า การทำงานทางไกลช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานได้
- หากพนักงาน Workcation ด้วยกันเป็นหมู่คณะ ก็จะสร้างทีมสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นได้
- เป็นแรงจูงใจชั้นดีในการดึงดูดผู้สมัครงานใหม่และรักษาพนักงานเดิมในการอยู่ต่อกับองค์กรของเรา
ข้อเสียของ Workation
- ไม่ใช่ทุกงาน ทุกตำแหน่งที่สามารถ Workcation ได้ โดยเฉพาะงานบริการและงานที่ต้องใช้กำลัง
- อาจไม่เหมาะสำหรับบางคน โดยเฉพาะคนที่ต้องการสมาธิในการทำงานแบบไม่มีสิ่งรบกวน
- มีค่ายใช้จ่ายในการเดินทาง รวมไปถึงความต้องการทางเทคโนโลยี เช่น สัญญาอินเทอร์เน็ตไวไฟ, คอมพิวเตอร์แลปท็อป หรือแม้กระทั่งวีซ่าหากจะเดินทางไป Workation ต่างประเทศก็ต้องมีค่าใช้จ่ายเช่นกัน
- การติดต่อสื่อสารลำบากหากไม่มีเทคโนโลยีรองรับ โดยเฉพาะการประชุมออนไลน์ที่มักจะสร้างปัญหามากกว่าประสบผลสำเร็จ
- การทำงานอาจทำลายความรู้สึกพักผ่อน จนไม่สามารถผ่อนคลายหรือสนุกกับ Workcation ได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นหากแบ่งเวลาการทำงานไม่ได้ ก็จะสูญเสียเวลาอันมีค่านี้ไป
Workation เครื่องมือสร้าง Team Building
Workation ไม่จำเป็นต้องให้ต่างคนต่างไป องค์กรเองก็สามารถจัดนโยบาย Workcation ได้แบบบหมู่คณะ เพื่อให้พนักงานในองค์กรสามารจัดกลุ่มไปทำงานกันเองได้อิสระ เครื่องมือนี้แตกต่างจาก Company Outings ที่ลักษณะแกมบังคับ และเป็นการไปเพื่ออบรม สังสรรค์ หรือทำกิจกรรมมากกว่านั่งทำงานจริง ๆ
ทั้งนี้ หากองค์กรต้องการ Workation เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างทีมสัมพันธ์ เรามีเหตุผลหลัก ๆ 6 ข้อมาช่วยสนับสนุนให้องค์กรของคุณน้อมรับนโยบาย Workation ไปพิจารณาดังนี้
1. พนักงานจะรู้จักกันมากขึ้น
การเดินทางไปท่องเที่ยวด้วยกันจะสร้างโอกาสให้พนักงานเปิดใจ ซึ่งมีงานวิจัย บอกว่า การมี “เพื่อน” ในที่ทำงานจะเพิ่มระดับความพึงพอใจ เพิ่มการักษาพนักงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น แต่ลองคิดดูว่าเรามีเพื่อนร่วมงานที่เป็นมิตร เราจะมีความสุขขนาดไหนในทุกเช้าแห่งการทำงาน
2. ความคิดสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น
การพาตัวเองออกจากบริบทเดิม ๆ จะช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์พุ่งทยายจนสามารถคิดไอเดียใหม่ ๆ กลยุทธ์ใหม่ ๆ ได้ รวมไปการร่วมกลุ่มกันก็จะเกิดการปะทะสังสรรค์ของความคิดที่จะต่อยอดกันไปมาจนเกิดความคิดที่ดีที่สุดออกมานั่นเอง
3. ประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
Workcation จะช่วยตัดสิ่งรบกวนในออฟฟิศออกไป เช่น การประชุม การพบปะผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ฯลฯ ทำให้พนักงานมีโฟกัสในการทำงานมากขึ้น เช่นเดียวกัน ก็จะโฟกัสกับการพักผ่อนได้เต็มที่ ทำให้การท่องเที่ยวเปรียบเสมือนการชาร์จพลัง เพราะหลังกลับจาก Workation ยังช่วยจิตใจและร่างกายของคุณพร้อมทำงานในออฟฟิศต่อไป
4. เปิดมุมมองใหม่
การเปลี่ยนสถานที่ทำงานทำให้เกิดบรรยากาศใหม่ ๆ ในบทสนทนา ช่วยให้เกิดแนวคิดที่แตกต่างไปจากการนั่งประชุมในห้องออฟฟิศ เราอาจจะได้เห็นมุมมองอื่นของเพื่อนร่วมงานในครั้งนี้ก็ได้
5. ผ่อนคลายมากขึ้น
ไม่ว่าคุณจะทำงานหนักและมีประสิทธิภาพเพียงใด สมอง ร่างกาย และจิตใตของคุณต้องการพักผ่อน Workation จะช่วยบาลานซ์ไม่ให้คุณละเลยสุขภาพของตัวเอง การปล่อยตัวเองช้าลงบ้างเพียงสัปดาห์เดียว จะช่วยให้พนักงานปลดปล่อยความตึงเครียดได้
6. แรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น
ทีงานวิจัยว่าพนักงานที่ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานจะสูญเสียประสิทธิภาพลง 31% ความคิดสร้างสรรค์ลดลง 3 เท่า และ 87% ตัดสินใจลาออก และแรงจูงใจที่ดีที่สุดก็คือแรงจูงใจภายใน ดังนั้นนโยบาย Workation จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสร้างแรงจูงใจที่นอกเหนือไปจากโบนัสหรือค่าตอบแทน เพราะมันให้ได้ทั้งความยืดหยุ่นในการทำงาน ความอิสระ การเรียนรู้ใหม่ๆ และบรรยากาศความรื่นรมย์ เราจึงสามารถสร้าง Team-Building ผ่าน Workation ได้
องค์กรอยาก Workation ต้องเตรียมตัวอย่างไร
สำหรับองค์กรที่พิจารณานโยบาย Workation แล้วเกิดสนใจ เรามีเทคนิคการเตรียมตัวพื้นฐานที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้แบบง่าย ๆ ได้ดังนี้
1. สนับสนุน Workation สำหรับการสร้าง Team-Building
ย้ำแล้วย้ำอีกกับประโยชน์ของ Workation ที่สามารถสร้างนโยบายในการทำงานเป็นทีมได้ ไม่เพียงจะเพิ่มความสนุกสนานร่วมกัน ยังส่งเสริมให้สายสัมพันธ์แน่นแฟ้นมากขึ้นอีกด้วย
2. ปรับปรุงนโยบายวันหยุดงาน
จริง ๆ แล้ว Workation ก็คือการไปทำงานเหมือนกันจึงไม่ควรกระทบกับนโยบาย ควรจัดการแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างนโยบาย Workation และนโยบาย Vacation เพื่อป้องกันการสับสน และเปิดโอกาสให้พนักงานได้หยุดพักผ่อนแบบจริง ๆ รวมไปชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นด้วย
3. เตรียมเทคโนโลยีให้พร้อม
ทั้งเทคโนโลยีที่สนับสนุนการทำงาน และเทคโนโลยีในการประเมินผลและวัดผลปฏิบัติงาน เนื่องจากองค์กรยังต้องเห็นผลลัพธ์ในการทำงานที่เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ไม่เช่นนั้นการ Workation ก็จะเปล่าประโยชน์
4. กำหนดเป้าหมาย โครงการ หรือแผนการทำงานที่ชัดเจน
เพราะ Workation ไม่ใช่การท่องเที่ยวพักผ่อนอย่างเดียว แต่คือการทำงานด้วย จึงต้องมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น การทำโปรเจกต์ใดโปรเจกต์ให้สำเร็จ,การสร้างแคมเปญการตลาดใหม่ ฯลฯ ฉะนั้นอย่าหลุดโฟกัสเรื่อผลลัพธ์ของงานเด็ดขาด
อาชีพที่เหมาะกับท่องเที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วย
เทรนด์การท่องเที่ยวไปด้วย ทำงานไปด้วย อาจไม่ได้เหมาะกับทุกสายอาชีพ ส่วนใหญ่แล้วจะเหมาะกับไลฟ์สไตล์การทำงานของคนกลุ่มใหม่ และคนที่ใช้ชีวิตอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก และสามารถทำงานได้แบบออนไลน์ เพียงแค่มี Laptop และสัญญาน Wifi หรืออินเทอร์เน็ต ก็สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก และทำให้ทำงานไปด้วย เที่ยวไปด้วยได้
ขณะที่อาชีพที่เหมาะกับการทำงานไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วย ได้แก่
- ช่างภาพท่องเที่ยว
- งานด้านอีคอมเมิร์ช
- ออนไลน์ เซอร์วิซ
- ฟรีแลนซ์
- เทคสตาร์ทอัพ
- โค้ชชิ่ง
- เดเวลอปเปอร์
- งานเขียนคอนเทนต์
- งานออกแบบ
- บล็อกเกอร์
- ช่างภาพ
- สื่อสารองค์กร
- งานไอทีซัพพอร์ต
- ครีเอทีฟ
- งานการตลาด
- พนักงานขายบริษัทยา
การทำงานไปด้วย ท่องเที่ยวไปด้วย เป็นเทรนด์ใหม่ของคนชอบเที่ยว ที่ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ต้องเลือกสถานที่ทำงานที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ดี เพื่อให้การทำงานไม่ขาดตอน และยังมีประสิทธิภาพไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม