ผลพวง"องุ่น" อย.กำหนดประเทศ-บริษัทกลุ่มเสี่ยงนำเข้าผักผลไม้ ต้องกักก่อน
ผลจากกรณีองุ่น อย.เผยปี 67 ด่านสุ่มตรวจผักผลไม้ก่อนนำเข้า พบตกมาตรฐาน 35 % ส่งกลับประเทศต้นทาง ปี 68 ยกระดับมาตรการเฝ้าระวัง เพิ่มปริมาณสุ่มตัวอย่างตรวจขึ้น 10 เท่า หารือกรมวิชาการเกษตรเพิ่มชนิดสารเคมีที่ต้องตรวจ เล็งกำหนดประเทศ-บริษัทกลุ่มเสี่ยงต้องกักสินค้า
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวมาตรการกำกับดูแลผักผลไม้นำเข้าว่า ประเทศไทยนำเข้าผักผลไม้จากต่างประเทศจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มีมาตรการในทุกด่านอาหารและยา ซึ่งมีการกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณสารตกค้างในผักและผลไม้ ที่ได้ข้อมูลจากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดูว่าแต่ละสารไม่ควรเกินเท่าไหร่ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค
สารบางชนิดไม่มีในประกาศของกรมวิชาการเกษตร ทาง อย. ก็ได้กำหนดมาโดยอ้างอิงจากปริมาณมาตรฐานในสากล ที่เรียกว่า โคเด็กซ์ (Codex) ซึ่งจะมีระบุว่าสามารถใช้สารอะไรได้ในปริมาณเท่าไหร่ ขณะที่สารที่ไม่มีการกำหนดจาก 2 แหล่งอ้างอิงดังกล่าว อย. จะกำหนดค่ามาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำมาก คือ 0.01 ในล้านส่วน(ppm) หรือ 0.01 ในล้านส่วน ซึ่งถือว่าน้อยมาก
จากผลการตรวจวิเคราะห์ผักและผลไม้ในปี 2567 มีการเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการที่ด่านอาหารและยา จำนวน 506 ตัวอย่าง ผ่านมาตรฐาน 329 ตัวอย่าง ตกมาตรฐาน 177 ตัวอย่าง คิดเป็น 35%
เมื่อพบว่าผักและผลไม้มีสารพิษตกค้างไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด จะดำเนินคดีผู้กระทำผิดทุกราย ฐานนำเข้าเพื่อจำหน่ายอาหารผิดมาตรฐาน มาตรา 25 (3) ต้องระวังโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และจัดการกับสินค้าด้วยการทำลายหรือส่งคืนประเทศต้นทาง นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบโดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นอีกกว่า 10,000 ตัวอย่าง
มาตรการที่ด่านอาหารและยา เป็นจุดสกัดที่สำคัญ โดยจะดูใน 2 ความเสี่ยง คือ 1.บริษัทที่นำเข้ามีความเสี่ยง ก็จะมีการกักสินค้าไว้ก่อนจนกว่ามีการพิสูจน์ว่าสินค้านั้นไม่มีปัญหา และ 2.ของบางอย่างที่เจอสารปนเปื้อนมาก หรือประเทศที่ส่งมามีความเสี่ยง ก็จะกักไว้ก่อน แต่ด้วยผักผลไม้ที่เสียง่าย เมื่อก่อนจะไม่ได้กักเอาไว้ ทำให้ทราบข้อมูลในภายหลังว่ามีปัญหา ครั้งต่อไปก็จะมีการกำหนดเป็นประเทศหรือบริษัทที่มีความเสี่ยง แต่มาตรการปัจจุบัน สามารถกักสินค้าไว้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง เพื่อรอผลการตรวจที่รวดเร็ว ถ้าพิสูจน์แล้วปลอดภัยก็สามารถปล่อยผ่านมาได้
"เน้น 2 สารที่ประเทศไทยมีการแบนไปแล้วคือ คลอร์ไพริฟอส และ พาราควอต และยังมีสารอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ โดยกำหนดสารที่จะต้องตรวจอยู่ที่ 130 รายการ ตอนนี้ก็มีการขยายเพิ่ม อย่างแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ตรวจได้ 250 สาร ซึ่งบางครั้งก็มีความจำเป็นในการตรวจแล็บของเอกชน แต่เราก็จะเน้นในประเทศที่ส่งมา แต่ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกสาร หากผักผลไม้อะไร ใช้สารอะไรมาก ก็จะตรวจหาสารนั้น หรือประเทศไหนใช้สารอะไรมาก ก็จะต้องตรวจหาสารนั้น อย่างบางประเทศเขาไม่ได้มีการแบน 2 สารที่ไทยแบน เราก็จำเป็นต้องตรวจหาสารนั้นให้มากขึ้น" นพ.สุรโชค กล่าว
ในปีงบประมาณ 2568 อย. จะยกระดับมาตรการตรวจสอบเฝ้าระวังการนำเข้าผักและผลไม้ โดยการเพิ่มชนิดของสารกำจัดศัตรูพืชที่ตรวจวิเคราะห์ อย่างกรณีที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มีการเก็บข้อมูลการตรวจสารกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น จึงเป็นการเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงรายการสารกำจัดศัตรูที่จะตรวจวิเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังความปลอดภัยผักและผลไม้
และเพิ่มจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ จากปีงบประมาณ 2567 มีการเก็บตัวอย่างผักและผลไม้ส่งตรวจวิเคราะห์โดยประมาณ 500 ตัวอย่าง จะเพิ่มเป็น 5,000 ตัวอย่าง หรือเพิ่มขึ้น 10 เท่า อย่างไรก็ตามควรล้างผักและผลไม้ก่อนการบริโภคทุกครั้ง
ถามถึงประเด็นที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) แถลงผลการตรวจหาสารปนเปื้อนใน “องุ่นไชน์มัสแคท” นพ.สุรโชค กล่าวว่า อย. จะดำเนินการสุ่มตัวอย่างตามที่ไทยแพนเปิดเผยข้อมูล เพื่อนำไปตรวจใหม่อีกครั้ง เพราะตามกฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้จำหน่าย จะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ อย. เป็นผู้เก็บตัวอย่างไปตรวจ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว
กรณีที่ อย. ระบุว่าการตรวจโดยไทยแพนที่มีการพบสารปนเปื้อนจริง แต่ปลอดภัยสามารถล้างและนำมากินได้ นพ.สุรโชค กล่าวว่า เรื่องนี้มี 2 มิติ คือ ในมิติของกฎหมาย ถ้ามีการใส่สารที่เป็นวัตถุอันตรายประเภท 4 ซึ่งมีการห้ามใช้ในประเทศไทยไปแล้ว ดกฎหมายแน่นอน และถ้ามีการใส่สารปนเปื้อนที่เกินค่ามาตรฐานก็ผิดกฎหมายเช่นกัน
ส่วนมิติความปลอดภัย คือสารปนเปื้อนบางอย่างที่ติดไปกับผักผลไม้ ถ้าสารนั้นไม่เกินค่ามาตรฐานความปลอดภัย หรือเกินไปเล็กน้อย ถ้ามีการล้างผักผลไม้ก่อนรับประทานก็สามารถทำให้สารต่าง ๆ ลดน้อยลงไป อย่างสารปนเปื้อนที่เราไม่รู้จักมาก่อน มีการกำหนดปริมาณความปลอดภัยไว้ต่ำมาก คือ 0.01 ppm ฉะนั้น ถ้าเกินในแง่ของกฎหมายก็ถือว่าผิด แต่ในแง่ของความปลอดภัย ต้องไปดูว่าปริมาณความปลอดภัยอยู่ที่เท่าไหร่ ถ้าสารนั้นเกินปริมาณค่ามาตรฐานไปไม่มาก ผู้บริโภคก็สามารถล้างสารออกไปได้
ส่วนเรื่องสารปนเปื้อนที่ซึมเข้าไปในผลไม้ นพ.สุรโชค กล่าวว่า การซึมของสารจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารนั้น ๆ ไม่ใช่ทุกชนิดจะซึมเข้าต้นไม้ เช่น ซึมไปที่ ราก ลำต้น ดอกหรือใบ ส่วนการซึมเข้าเนื้อผลไม้ถือว่าน้อยมาก เพราะการออกแบบชนิดสารต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะหวังผลให้มีการซึมไปที่เปลือก หรือดอก เพื่อให้สารไปป้องกันแมลง และมีการป้องกันเรื่องของความปลอดภัย สารนั้นก็จะไม่ซึมเข้าไปในเนื้อผลไม้ เพื่อไม่ให้เกิดพิษ
"สิ่งสำคัญเมื่อซื้อผักและผลไม้มาแล้ว คือการล้างให้สะอาดตามคำแนะนำ ซึ่งมีข้อมูลชัดเจนว่า ทำให้สารปนเปื้อนน้อยลงไปอีก ดังนั้นสารปนเปื้อนที่มีปริมาณเกินหรืออาจจะไม่เกิน การล้างก็จะทำให้ปริมาณลดลงไปอีก ถ้าเจอน้อยอยู่แล้วก็อาจจะไม่พบเลย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค" นพ.สุรโชค กล่าว