'นพ.ผดุงเกียรติ - ผศ.นพ.ศิระ' สองศัลยแพทย์ผ่าตัด ยกระดับการรักษาโรคปอดให้คนไทย

'นพ.ผดุงเกียรติ - ผศ.นพ.ศิระ' สองศัลยแพทย์ผ่าตัด ยกระดับการรักษาโรคปอดให้คนไทย

เปิดชีวิต ถอดมุมคิด "นพ.ผดุงเกียรติ" และ "ผศ.นพ.ศิระ" แห่งโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ สองศัลยแพทย์ผ่าตัดที่ช่วยยกระดับการรักษาโรคปอดให้คนไทย

จินตนาการถึงการทำงานที่ต้องยืนเป็นเวลาหลายชั่วโมงติดต่อกันแบบไม่รู้เวลาเลิกงานที่แน่นอน เผชิญกับความกดดันและความเครียดตลอดเวลา ที่ต้องแลกมาด้วยการทำให้ผู้คนกลับมามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น หากรู้แบบนี้จะอยากทำอาชีพนี้อยู่หรือไม่?

นายแพทย์ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลยแพทย์ทรวงอก เชี่ยวชาญทางด้านการผ่าตัดโรคปอดและโรคในช่องอกด้วยการส่องกล้องแผลเดียวและหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ คือหนึ่งในแพทย์ที่ยังยึดมั่นในอาชีพนี้ โดยเขาเล่าย้อนกลับไปว่า ตอนอายุ 15 ปี ต้องเจอจุดเปลี่ยนในชีวิต เมื่อพ่อป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดฉับพลัน การได้เห็นพ่อที่แข็งแรงอยู่เสมอต้องมาป่วยหนัก กับช่วงเวลาแห่งการรอคอยพบแพทย์ในแต่ละครั้ง ทำให้เขาเข้าใจความทุกข์ทรมานของคนไข้ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นตัวผลักดันให้เด็กหนุ่มมองเห็นถึงความสำคัญของอาชีพแพทย์เป็นครั้งแรก จึงตัดสินใจศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

แต่แล้ววันหนึ่ง นักศึกษาแพทย์ที่กำลังทุ่มเทกับการเรียนกลับพบว่า แม่ป่วยเป็น โรคมะเร็งปอด ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกเดิมในช่วงที่พ่อป่วย ภาพของคนไข้และญาติที่รอคิวผ่าตัดกลับมาฉายซ้ำ เกิดเป็นความตั้งใจในการช่วยเหลือผู้คนให้หายจากการเจ็บป่วยและกลับมามีสุขภาพที่ดีอีกครั้ง

\'นพ.ผดุงเกียรติ - ผศ.นพ.ศิระ\' สองศัลยแพทย์ผ่าตัด ยกระดับการรักษาโรคปอดให้คนไทย

แรงบันดาลใจสู่ศัลยแพทย์ทรวงอก

หลังแม่ป่วยด้วย โรคมะเร็งปอด และพบว่าการรักษาปอดนั้นมีความสำคัญ โดยเฉพาะการรักษา มะเร็งปอด ที่ลุกลามได้เร็วและเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งจากโรคมะเร็งทั้งหมด คือแรงหนุนให้เขาสนใจศึกษาต่อในด้านศัลยศาสตร์ทรวงอก ที่ว่ากันว่าเป็นสาขาที่เรียนหนักและใช้เวลานานมากที่สุด 

ก้าวแรกของการเป็นศัลยแพทย์ทรวงอก เริ่มต้นขึ้นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะบินลัดฟ้าไปแสวงหาความรู้ด้านศัลยศาสตร์ระบบทางเดินอาหารและทรวงอก (Foregut and Thoracic Surgery) ที่ Harvard Medical School, Brigham and Women’s Hospital ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 2 ปีเต็ม

"นายแพทย์ผดุงเกียรติ" จึงนำความรู้ที่ได้ มาบุกเบิกตั้งศูนย์การผ่าตัดมะเร็งปอดที่ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โดยมุ่งความเป็นเลิศในทุกด้านตั้งแต่กระบวนการตรวจวินิจฉัย เทคนิค วิธีการรักษา ไปจนถึงการดูแลผู้ป่วยในระยะพักฟื้น เพื่อทำการรักษาแบบองค์รวม

\'นพ.ผดุงเกียรติ - ผศ.นพ.ศิระ\' สองศัลยแพทย์ผ่าตัด ยกระดับการรักษาโรคปอดให้คนไทย

โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพกับเทคนิคตรวจและรักษาที่หลากหลาย

ในกรณีที่จุดในปอดขนาดเล็กระดับมิลลิเมตร ซึ่งพบจากการคัดกรอง มะเร็งปอด ด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ (low-dose CT) สามารถตรวจชิ้นเนื้อได้ยากมาก โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่แห่งในไทยที่มีเทคนิคการตรวจจุดในปอดได้ครบทั้ง 3 วิธี นั่นก็คือ การส่องกล้องทางหลอดลม การเจาะผนังช่องอกนำทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และผ่าตัดส่องกล้องหรือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด

  • เทคนิคการใช้ระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมกับการส่องกล้องทางหลอดลม (Electromagnetic Navigation Bronchoscopy/ENB) ทำให้เห็นจุดบนปอดหรือก้อนเนื้อจากการผ่าตัดส่องกล้องได้แม่นยำ
  • เทคนิคการผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยการส่องกล้อง ช่วยทำให้เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว ระยะเวลานอนโรงพยาบาลเหลือเพียง 1-3 วันเท่านั้น 
  • การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในช่องอก (Robotic assisted thoracic surgery/RATS) ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความเจ็บปวดน้อยลง

\'นพ.ผดุงเกียรติ - ผศ.นพ.ศิระ\' สองศัลยแพทย์ผ่าตัด ยกระดับการรักษาโรคปอดให้คนไทย

รักษาไว ผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็ว

ยิ่งย่นระยะเวลาการรักษาให้สั้นลงได้มากเท่าไร ผู้ป่วยก็กลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วขึ้นเท่านั้น มีหลายเคสที่ผู้ป่วยพักฟื้นในระยะเวลาที่สั้นลง อาทิ ผู้ป่วยเนื้องอกในต่อมไทมัส โดยหลังผ่าตัดพักฟื้นเพียง 2 วัน ก็สามารถกลับบ้าน และออกกำลังกายได้ตามปกติ หรือบางเคสหลังผ่าตัดเรียบร้อย ก็สามารถขับรถกลับบ้านต่างจังหวัดได้ เป็นเสียงยืนยันว่าวิธีการรักษาที่ดี เป็นอีกกุญแจสำคัญทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้รวดเร็ว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิระ เลาหทัย อีกหนึ่งศัลยแพทย์ทรวงอก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคปอด เทคนิคส่องกล้องแผลเล็ก และรักษาโรคเหงื่อออกมือ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ที่หันมาเป็นศัลยแพทย์ทรวงอกเพราะผู้ป่วยคนหนึ่ง โดยเขาเล่าว่า การเกิดและเติบโตมาในครอบครัวตระกูลหมอ ทำให้เขาซึมซับความรู้สึกอยากเป็นหมอตั้งแต่อายุยังน้อย

\'นพ.ผดุงเกียรติ - ผศ.นพ.ศิระ\' สองศัลยแพทย์ผ่าตัด ยกระดับการรักษาโรคปอดให้คนไทย

เปลี่ยนมุมมองเพราะผู้ป่วยหนึ่งคน

กระทั่งได้เรียนคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เหตุการณ์ของผู้ป่วยโรคหัวใจรายหนึ่ง ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของเขาในขณะที่เรียนแพทย์ปีที่ 6 เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ทุกเดือน และต้องรอคิวผ่าตัดนานจนผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนได้รับการผ่าตัด

"ผมเจอคนไข้คนหนึ่งที่เขามาตรวจทุกเดือน ต้องรอคิวผ่าตัดนานถึง 3 ปี แล้วเราทำอะไรไม่ได้ เพราะคิวผ่าตัดมันยาว สุดท้ายคนไข้คนนั้นเสียชีวิต กลายมาเป็นแรงผลักดันว่า ถ้าเราผ่าตัดหัวใจและทรวงอกได้ น่าจะช่วยคนได้เยอะมาก เพราะในประเทศไทยมีหมอผ่าตัดหัวใจและทรวงอกน้อยมาก"

\'นพ.ผดุงเกียรติ - ผศ.นพ.ศิระ\' สองศัลยแพทย์ผ่าตัด ยกระดับการรักษาโรคปอดให้คนไทย
 
จุดเปลี่ยนดังกล่าว ทำให้ "ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิระ" เรียนต่อแพทย์ประจำบ้านด้านทรวงอกที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขอเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองพัฒนาการผ่าตัดทรวงอกในประเทศไทย โดยเฉพาะการผ่าตัดส่องกล้อง และเพื่อเป็นการเพิ่มองค์ความรู้จึงสมัครชิงทุนศัลยศาสตร์ทรวงอกเอเชีย จนได้รับโอกาสศึกษาการผ่าตัดส่องกล้องในทรวงอกที่ประเทศเกาหลีใต้เป็นเวลา 1 ปี ซึ่งหลังจากจบการศึกษา ยังได้มีโอกาสไปอบรมไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน เพื่อศึกษาการผ่าตัดเทคนิคต่างๆ รวมไปถึงศึกษาดูงานการผ่าตัดปอดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศัลยศาสตร์ทรวงอก สาขาที่ถูกมองข้าม?

การได้ศึกษาการผ่าตัดปอดทั้งจากซีกโลกตะวันตกและตะวันออก ทำให้ศึกษาองค์ความรู้ที่หลากหลาย จึงกลับมาทำงานด้านการผ่าตัดปอดในประเทศไทย ซึ่งหากย้อนไปราว 10 กว่าปีก่อน จะพบว่าศัลยแพทย์ผู้จบการศึกษาผ่าตัดหัวใจและปอดในแต่ละปีมีอยู่เพียงไม่เกินจำนวนนิ้วมือนับได้

กระทั่งปัจจุบันในประเทศไทย มีแพทย์ผ่าตัดหัวใจและปอดมีเพียงประมาณ 200 คน เท่านั้น เนื่องจากเป็นสาขาที่ใช้เวลาศึกษานานถึง 5 ปี ทำงานหนัก กดดัน และต้องเผชิญความเครียดสม่ำเสมอ

ปัจจุบันผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิระ มีความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดปอด โดยเฉพาะเทคนิคการผ่าตัดปอดด้วยการส่องกล้อง ผ่าตัดเพียงแค่แผลเดียว (Uniportal VATS) โดยอุปกรณ์ทั้งหมดจะผ่านลงไปในแผลขอบหลังของราวนมขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตร 

\'นพ.ผดุงเกียรติ - ผศ.นพ.ศิระ\' สองศัลยแพทย์ผ่าตัด ยกระดับการรักษาโรคปอดให้คนไทย

นอกจากการผ่าตัด มะเร็งปอด นั้น ยังทำการผ่าตัดต่อมไทมัส การผ่าตัดลดเหงื่อออกมือ ด้วยการการผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องทรวงอกเพื่อตัดเส้นประสาท รวมไปถึงการผ่าตัดผู้ป่วยอกบุ๋ม ทำให้ในแต่ละปีได้ผ่าตัดผู้ป่วยกว่า 800 ราย และได้เปลี่ยนชีวิตคนไข้ด้วยการผ่าตัดรวมแล้วมากกว่า 2,000 ราย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า เขาเป็นหนึ่งในศัลยแพทย์ทรวงอกที่ผ่าตัดผู้ป่วยมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิระ บอกว่า สิ่งที่เอื้อให้การผ่าตัดทำได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นั่นก็คือ ศักยภาพของทางโรงพยาบาล โดย โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเครื่องมือทัดเทียมกับโรงเรียนแพทย์ รวมถึงการดูแลหลังผ่าตัด การทำกายภาพให้คนไข้ ที่ทำให้ผู้ป่วยพักฟื้น และกลับไปใช้ชีวิตปกติได้เร็วยิ่งขึ้น

"ผมอยู่ในจุดที่สามารถตัดสินใจได้ว่ารับผู้ป่วยหรือไม่ แต่ก็ระลึกอยู่เสมอว่าผู้ป่วยคนนั้นเปรียบเสมือนพ่อแม่หรือคนในครอบครัวของเรา ถ้าพวกเขาอยู่ในมือผม แล้วเราสามารถช่วยเหลือได้ ผมจะทำ ผมจึงไม่เคยปฏิเสธที่จะรับเคสผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือในการผ่าตัดปอดจากทุกที่ในประเทศ ไม่ว่าจะยากขนาดไหน ไม่ว่าจะไกลขนาดไหน ถ้าคิดว่าสู้ไหว ผมก็พร้อมที่จะสู้ ซึ่งก็ถือว่าผมได้ตอบแทนประเทศชาติ ครูบาอาจารย์ ในชีวิตนี้ถือว่าเกิดมาใช้คุ้มแล้ว" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิระ กล่าวทิ้งท้าย