ฆ่าตัวตายเพราะเศรษฐกิจแย่ หรือสังคมร่อแร่?!
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ 10 กันยายน ของทุกปี เป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก เพื่อรณรงค์ให้รัฐบาลทุกประเทศ ตระหนักต่อปัญหา พร้อมหาแนวทางแก้ไขการฆ่าตัวตายของประชากร
เพราะนอกจากการฆ่าตัวตาย มีผลกระทบร้ายแรงต่อครอบครัวและชุมชน ยังฉุดรั้งเสถียรภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ
ในกรณีสหรัฐอเมริกา การฆ่าตัวตายในแต่ละปีก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ ประมาณ 510 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 172 แสนล้านบาท) ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำลังแรงงานจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การใช้จ่ายด้านการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อการฆ่าตัวตาย Durkheim นักสังคมวิทยาชาวฝรั่งเศสได้อธิบายไว้เมื่อประมาณ 100 กว่าปีที่ผ่านมาว่า สังคมที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น จะมีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำกว่าสังคมที่ผู้คนมีความเป็นปัจเจกสูง
ผลการสำรวจของ Durkheim พบว่า คนที่มีการศึกษาสูง ซึ่งในยุคนั้นก็คือคนร่ำรวย ผู้ชาย และผู้ที่ยังไม่แต่งงาน มีแนวโน้มฆ่าตัวตายมากกว่าคนยากจน ผู้หญิง และคนที่แต่งงานแล้ว
กล่าวคือ ในยุคดังกล่าว แม้ผู้ชายและคนมีการศึกษา มีอิสระและสถานะสูงกว่าผู้หญิงและคนจน แต่ข้อได้เปรียบเหล่านี้ก็นำมาซึ่งความโดดเดี่ยว อ้างว้าง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย
หากไม่นับรวมประเทศรายได้ต่ำถึงปานกลางที่มีสังคมเปราะบาง ซึ่งเป็นผลพวงของความขัดแย้งจากสงคราม นโยบายเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของสีผิว เชื้อชาติ ความแตกแยกของแต่ละชนเผ่า อาทิ เลโซโท และแอฟริกาใต้
จะพบว่า ในภาพรวม ประเทศรายได้สูงมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา (ดูรายละเอียดบางประเทศในตาราง)
เมื่อพิจารณาเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์และไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุด ที่ 11.2 และ 8.8 รายต่อประชากร 100,000 คน ตามลำดับ ในขณะที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย มีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำกว่าประเทศอื่นๆ มาโดยตลอด
ซึ่งชัดเจนว่า สิงคโปร์เป็นประเทศรายได้สูง ที่ประชากรมีความเป็นปัจเจกสูง ในขณะที่อินโดนิเซียและฟิลิปปินส์ แม้เป็นประเทศยากจน แต่ปัจจุบันยังมีกิจวัตรทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ที่ทำให้คนในสังคมมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น
ประชาชนจึงได้รับความช่วยเหลือ ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว หรือถูกทอดทิ้ง เมื่อประสบความยากลำบาก อีกทั้งประชาชนยังมีศรัทธาในศาสนาที่มีหลักการต่อต้านการฆ่าตัวตายอย่างชัดเจน
ดังนั้น แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per capita) ที่ต่ำกว่าสิงคโปร์และไทย แต่อัตราการฆ่าตัวตายก็ต่ำกว่าเช่นกัน
ข้อมูลของกรมสุขภาพจิตชี้ว่า ประเทศไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงปี พ.ศ. 2550-2557 อยู่ที่ประมาณ 5.9-6.2 รายต่อประชากร 100,000 คน ในขณะที่ปี 2565 อยู่ที่ 7.97 ราย
สำหรับสาเหตุของการฆ่าตัวตายนั้น เกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์มากถึงร้อยละ 50 โดยมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาสุขภาพจิต การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การติดการพนัน
เมื่อพิจารณาผลการวิจัยซึ่งใช้ข้อมูลรายจังหวัดของประเทศไทย (ชิดตะวัน ชนะกุล, 2559) พบว่า นอกจากการฆ่าตัวตายมีความเกี่ยวพันกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สัดส่วนของประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น ก็ทำให้อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นเช่นกัน
เพราะคนชรามีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองน้อยลง และหลายกรณีขาดการดูแลจากบุตรหลาน รวมถึงสังคมไทยในปัจจุบันมีลักษณะตัวใครตัวมัน ไม่ได้มีความเอื้ออาทร ช่วยเหลือซึ่งกันและกันดังเช่นในอดีต
สำหรับประเด็นเศรษฐกิจ ผลการศึกษาพบว่า รายได้มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกับอัตราการฆ่าตัวตาย
และน่าสนใจว่า ในอดีตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่แร้นแค้นที่สุดของประเทศ กลับมีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำ แต่ในระยะหลังก็มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้น
แนวคิดทางสังคมวิทยาและข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจไม่ใช่ปัจจัยเดี่ยว ที่ทำให้คนตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่ความยากลำบากของชีวิต โดยไร้ที่พึ่งพิงทางจิตใจ เป็นสาเหตุที่ทำให้คนตัดสินใจจบชีวิต
ดังนั้น หน้าที่ของรัฐบาล จึงไม่ใช่การใช้นโยบายที่มุ่งเน้นเพียงเป้าหมายทางเศรษฐกิจ แต่ควรสร้างกลไกที่ทำให้สถาบันครอบครัวและชุมชนมีความเข้มแข็ง
เพราะหลักทางเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า มนุษย์มีความต้องการไม่มีที่สิ้นสุด ดังนั้น แม้จะมีความมั่งคั่ง หรือเศรษฐกิจดีเพียงใด ก็ยังมิใช่คำตอบว่า บุคคลจะรู้สึกพึงพอใจในชีวิต ดังจะเห็นได้จาก ประเทศที่มั่งคั่งมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง
นอกจากนี้ การหวังพัฒนาเศรษฐกิจด้วยสินค้าอบายมุข ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือ การพนัน เป็นแนวนโยบายสาธารณะที่ผู้แทนปวงชนและรัฐบาลพึงสังวร เพราะมีความเกี่ยวพันกับปัญหาทางจิต และการฆ่าตัวตายของประชากรในประเทศ
สำคัญที่สุด ควรมีการให้ความรู้และความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง เกี่ยวกับการเลี้ยงดูบุตรหลานให้ถูกต้องเหมาะสม โดยเฉพาะในประเด็นการให้เวลา ให้ความอบอุ่น ให้ความเอาใจใส่ มากกว่าการให้ทางวัตถุหรือตัวเงิน
เพื่อให้เยาวชนมีที่พึ่งทางใจ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ สามารถดำรงไว้ซึ่งชีวิตที่มีคุณภาพ เพื่อทำคุณประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติต่อไป!