‘ภาวะซึมเศร้า’ ไม่ใช่ความอ่อนแอ สามารถรักษาให้หายได้
ประมาณการณ์ว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และอาจมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้ารับการบำบัดดูแล คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าภาวะซึมเศร้าเป็นความอ่อนแอ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ในความเป็นจริง มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ต่างจากโรคทางกายอื่นๆ
KEY
POINTS
- ผู้ป่วยจิตเวชในไทย เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 ประมาณการณ์ว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน และอาจมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้ารับการบำบัดดูแล
-
คนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าภาวะซึมเศร้าเป็นความอ่อนแอ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ในความเป็นจริง ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ต่างจากโรคทางกายอื่นๆ
-
ขณะที่หลายคนคิดว่า ห้ามพูดคำว่า “สู้ๆ” กับผู้ป่วยซึมเศร้า แต่แท้จริงแล้วคำว่า สู้ๆ สามารถพูดได้ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเขากำลังสู้อยู่กับอะไร ความเข้าใจและรับรู้ถึงสถานการณ์ก่อนจึงสามารถให้กำลังใจได้อย่างเหมาะสม
ข้อมูลจาก กรมสุขภาพจิต เผยว่า ปัจจุบันคนไทยมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากปัจจัยการใช้ชีวิตในสังคมปัจจุบันที่แสดงผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเสรีมากขึ้น ซึ่งโรคซึมเศร้าเป็นสาเหตุหลักนำไปสู่การฆ่าตัวตาย โดยในแต่ละปีมีอัตราการฆ่าตัวตายเฉลี่ย 6 คนต่อปีจากประชากรหนึ่งแสนคน และมีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าพยายามฆ่าตัวตาย 6 คนต่อชั่วโมง หรือทั้งปีมากกว่า 53,000 คน และเสียชีวิตราว 4,000 คน ถือว่าเป็นอัตราที่สูงและน่าเป็นห่วง
กรุงเทพประกันภัย และ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงเห็นความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะสถานการณ์ของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและกำลังเป็นปัญหาทางสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขและป้องกันไม่ให้ขยายวงกว้าง จึงร่วมจัดงานแถลงข่าวพร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อการส่งเสริมสุขภาพใจ ใส่ใจสุขภาพจิต เพื่อการป้องกันอย่างยั่งยืน เน้นสร้างการตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ให้คนรอบข้างและครอบครัวสามารถดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าได้อย่างเข้าใจด้วยวิธีที่ถูกต้องและเหมาะสม
พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาที่สะท้อนถึงภาวะซึมเศร้าซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาทางจิตใจแต่เป็นโรคที่รักษาหายได้จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวโดย นายปองกูล สืบซึ้ง (ป๊อบ-ปองกูล) ศิลปินอารมณ์ดี และยังมี นายนที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดด้าเบลส) ร่วมเผยประสบการณ์ในฐานะนักบำบัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รู้สึกไม่มีค่า ไม่ดีพอ ? เช็กอาการ เข้าข่าย ‘โรคเกลียดตัวเอง’
- คุณมี ความสุข ครั้งล่าสุดเมื่อไร? สำรวจ 'ภาวะสิ้นยินดี' เร่งฟื้นใจให้ฟู
- รู้หรือไม่ ในแต่ละปี ทั่วโลกมีคน 'ฆ่าตัวตาย' สำเร็จกว่า 1 ล้านคน
ผู้ป่วยทางจิตเวชในไทย เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า
นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะซึมเศร้าของไทยว่า แม้โลกจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ให้เข้ามามีส่วนช่วยในทุกระบบ แต่พบว่าคนไทยยังคงเผชิญกับภาวะปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น ประชาชนใช้ชีวิตท่ามกลางความเครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า เจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติด จะเห็นได้จากจำนวนผู้ป่วยทางจิตเวชในไทย เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564
จากข้อมูลล่าสุดบนระบบรายงาน HDC ของกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 พบว่าผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่รักษาแบบผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นกว่า 3 แสนรายหรือคิดเป็นร้อยละ 12.09 รวมถึงประมาณการณ์ว่าคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ถึง 1.5 ล้านคน และอาจมีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เข้ารับการบำบัดดูแล ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้น
ซึมเศร้า นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
เนื่องจากพบสถิติว่าโรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักนำไปสู่การฆ่าตัวตายของคนไทย และผู้ป่วยซึมเศร้ามีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนทั่วไป และมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงร้อยละ 70 โดยพบว่าอัตราส่วนจิตแพทย์ 1.25 คน ต้องดูแลคนไทยถึง 1 แสนคน
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะขยับเข้ามามีส่วนร่วมในช่วยเหลือให้คนไทยมีสุขภาวะทางจิตที่ดีอย่างถ้วนหน้า โดยไม่จำเป็นว่าต้องเป็นภาคส่วนที่มาจากด้านสาธารณสุขเพียงอย่างเดียว แต่อาจมาจากภาคเอกชนที่มีความสนใจและใส่ใจในการมีสุขภาวะทางจิตที่ดีของสังคมไทย
สร้างภูมิคุ้มกัน ด้านสุขภาพจิต
ด้าน ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อํานวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยนโยบายด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจที่ยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีคุณภาพ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนในสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทฯ ได้มุ่งเน้นการให้ความร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายต่างๆ โดยให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อดูแลช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนพร้อมการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสังคมอย่างแท้จริง
“จากสภาพสังคมที่เปราะบางด้วยปัญหาและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ส่งผลให้คนในสังคมไทยประสบกับสภาวะทางความเครียดสะสม มีความอ่อนแอทั้งร่างกายและจิตใจจนเกิดเป็นภาวะซึมเศร้า ทั้งที่แบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ส่งผลให้เกิดภาพในจินตนาการต่อตนเองในแง่ลบ และหากไม่ได้รับการแนะนำหรือการดูแลอย่างเหมาะสมหรือถูกวิธี อาจจะนำไปสู่การทำร้ายตนเอง และเลวร้ายที่สุดคือการฆ่าตัวตาย ซึ่งเป็นการสูญเสียทรัพยากรที่มีค่าของสังคมอย่างน่าเสียดาย"
โดยในปัจจุบันผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรุงเทพประกันภัย จึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนช่วยรณรงค์เพื่อลดปัญหาดังกล่าว กอปรกับการร่วมส่งเสริมด้านสุขภาพจิตที่ดีเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิต โดยเฉพาะกับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า และคนรอบข้างที่ต้องดูแลผู้ที่มีอาการอย่างใกล้ชิด เพราะภาวะซึมเศร้าถือเป็นอาการของโรคอย่างหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายได้โดยการรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
บริษัทฯ จึงได้จัดทำสื่อรณรงค์ในรูปแบบภาพยนตร์โฆษณาเพื่อการสื่อสารได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนยังมีแผนการจัดกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี เพื่อให้คนไทยเข้าใจถึงปัญหาและรับรู้ถึงแนวทางการดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ไม่ใช่เพียงแต่ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนรอบข้าง ทั้งครอบครัวและเพื่อนๆ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้เข้าใจ สามารถสื่อสารและดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งยังมีส่วนช่วยป้องกันปัญหาได้ในระยะยาว
เป็นซึมเศร้าไม่ผิด สามารถรักษาให้หายได้
นอกจากนี้ กรุงเทพประกันภัย และ กรมสุขภาพจิต ยังได้เปิดตัวภาพยนตร์โฆษณาสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าที่ถือว่าเป็นอาการของโรคที่สามารถรักษาได้ เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าภาวะซึมเศร้าเป็นความอ่อนแอ ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ แต่ในความเป็นจริง ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ต่างจากโรคทางกายอื่นๆ ซึ่งสาเหตุเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น ทางกาย ด้านจิตใจ และสภาวะแวดล้อมต่างๆ
โดยสิ่งที่ภาพยนตร์โฆษณาต้องการจะสื่อคือการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนรับรู้ว่า ภาวะซึมเศร้าเป็นอาการของโรคที่ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอหรือไม่ใช่แค่ความรู้สึก และอยากให้เขาเหล่านั้นได้เข้าไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323 โดยเล่าเรื่องราวนี้ผ่านนายปองกูล สืบซึ้ง (ป๊อบ-ปองกูล) ศิลปินอารมณ์ดี
จากศิลปิน สู่การเป็นนักบำบัดภาวะซึมเศร้า
นายนที เอกวิจิตร (อุ๋ย บุดด้าเบลส) ศิลปินและนักแต่งเพลง เผยว่า เริ่มสนใจภาวะซึมเศร้าจากการเป็นพิธีกรในรายการ Talk Show จากเหตุการณ์ที่มีคนโทรมาเล่าว่าตนเองเคยเป็นซึมเศร้า จนคิดที่จะฆ่าตัวตายมาก่อน หลังจากที่เข้ารับการรักษาจนหายเป็นปกติ จึงตั้งใจเรียนเพื่อเป็นนักจิตบำบัด จนปัจจุบันแขกรับเชิญคนนี้มีอาชีพเป็นนักจิตบำบัดอาสาช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
นอกจากเหตุการณ์นี้ ยังได้เจอจิตแพทย์หลายท่านจากการทำรายการ จึงได้เห็นวิธีการสื่อสารของจิตแพทย์ที่ให้คำแนะนำกับผู้ป่วย จึงสนใจและเริ่มศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะอยากรู้ว่าวิธีการบำบัดอย่างถูกวิธีที่ไม่ใช่แค่การรับฟังหรือให้คำแนะนำเพียงอย่างเดียว เพื่อนำความรู้ที่ได้มานี้ไปต่อยอดในการบำบัดผู้ป่วยซึมเศร้าด้วยวิธีการรักษาที่เป็นสากล
คำแนะนำแบบไหน ? ที่ดีต่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวให้ความรู้ในเรื่องการดูแลผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า ว่า “สถานการณ์ของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นและกำลังเป็นปัญหาทางสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขและป้องกันอย่างเร่งด่วนนั้น มีทางออกแรกที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้และไม่ใช่เรื่องยาก เพราะการให้ผู้ที่อยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ได้มีโอกาสที่จะเล่าระบายความในใจ
ที่สำคัญต้องสร้างบรรยากาศของการเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการบอกเล่า เพียงเท่านั้นก็สามารถคลี่คลายได้อย่างมาก ส่วนการให้คำแนะนำว่า “สู้ๆ” สามารถทำได้ แต่เราต้องเข้าใจเสียก่อนว่าผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ากำลังต่อสู้และเผชิญกับปัญหาอะไร ให้เรารับฟังก่อนว่าเขากำลังทุกข์ใจเรื่องอะไร
คนส่วนใหญ่มักบอกว่าห้ามพูดคำว่า “สู้ๆ” แต่แท้จริงแล้วคำว่า สู้ๆ สามารถพูดได้ ก็ต่อเมื่อเรารู้ว่าเขากำลังสู้อยู่กับอะไร ถ้าเราฟังเขาจนเข้าใจแล้วรู้ว่า เขากำลังสู้อยู่กับปัญหาอะไร ปัญหาแบบนี้ในมุมมองของเขาเป็นอย่างไร ความเข้าใจและรับรู้ถึงสถานการณ์ก่อนจึงสามารถให้กำลังใจได้อย่างเหมาะสม หรือว่าบางทีการนั่งอยู่เฉยๆ เพื่อรับฟังก็ถือว่าเป็นการให้กำลังใจได้อีกช่องทางหนึ่ง หรือที่เรียกว่า แค่เล่าก็เบาแล้ว เพราะคนเราไม่ได้โชคดีที่จะมีคนรับฟัง แต่ถ้าคุณสามารถเป็นคนคนหนึ่งที่รับฟังใครสักคนได้นั่นถือเป็นการช่วยเหลือที่ดีมากที่สุดแบบหนึ่งทีเดียว”