SIT-TO-STAND TRAINER นวัตกรรมช่วยสูงวัยลุกนั่งได้ด้วยตัวเอง
ด้วยสถานการณ์ผู้สูงอายุทั่วประเทศไทย มีประมาณ 12.7 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1.2 ล้านคน หรือกว่า 10% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือกทม.มีความจำเป็นต้องการงานวิจัยหรือนวัตกรรม
KEY
POINTS
- ผู้สูงอายุไทยป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สถิติพบว่ามีถึงประมาณ 2.5 แสนคนต่อปี และในจำนวนนี้มีถึง 70% ที่ยังมีความพิการหลงเหลือหลังจากรักษาหาย หากไม่ได้รับการฟื้นฟูดูแลอย่างถูกต้อง
- SIT-TO-STAND TRAINER เครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัด สำหรับการฝึกลุกยืนเพื่อผู้สูงอายุ ช่วยพัฒนาความแรงความคล่องแคล่วว่องไว และลดโอกาสการหกล้มลงได้
- Arm Booster สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่อาจจะเหลือแขนข้างที่ดีอีกข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างอาจจะใช้งานไม่ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุได้กายภาพบำบัด ฟื้นฟูให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ด้วยสถานการณ์ผู้สูงอายุทั่วประเทศไทย มีประมาณ 12.7 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 1.2 ล้านคน หรือกว่า 10% อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้พื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือกทม.มีความจำเป็นต้องการงานวิจัยหรือนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาทั้งด้านการใช้ชีวิต และสุขภาพของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเรื่องของการพลัดตกหกล้ม
จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย พบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุหกล้มทุกปี หรือปีละกว่า 3 ล้านราย หรือ 20%ของผู้หกล้มเกิดการได้รับบาดเจ็บ โดยปี 2565 มีรายงานผู้ป่วยใน (IPD) จากสาเหตุพลัดตกหกล้ม จำนวนสูงถึงเกือบเก้าหมื่นราย ผู้สูงอายุกว่าหมื่นรายบาดเจ็บบริเวณต้นขา ข้อสะโพก และ 20%ของผู้ที่สะโพกหัก มีโอกาสเสียชีวิตภายใน 1 ปี การพลัดตกหกล้มเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสอง รองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน (ในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ)
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการลื่น สะดุด ก้าวพลาด ส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ ทุพพลภาพและเสียชีวิตกระทบต่อเศรษฐกิจของครอบครัว คนรอบข้าง และผู้ดูแล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
มธ.มอบนวัตกรรมสูงวัยแก่กทม.
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนางานวิจัย และวิชาการเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และในวาระโอกาสของการเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปี การสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ธรรมศาสตร์จึงได้ประสานความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จัด “มหกรรมงานวิจัย 90 ปี นวัตกรรมธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน” ขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) ระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน 2567 เวลา 10.00-16.00 น.
ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ รักษาการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการจัดแสดงนวัตกรรมที่เกี่ยวกับสังคมสูงวัยดังกล่าว ซึ่งถือเป็นโจทย์ท้าทายของประเทศไทย เพราะขณะนี้ไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ที่จะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ต่อไปภายใน 10-15 ปีข้างหน้า การจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลประชากรสูงอายุ
“ผู้สูงอายุในประเทศไทย ส่วนหนึ่งจะมีภาวะพึ่งพิงและกลุ่มนี้คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประชากรวัยทำงานลดน้อยลง รวมถึงอัตราการเกิดที่น้อยลงด้วย เท่ากับว่าภาระของประเทศทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ หรือสุขภาพจะมีมากขึ้น ฉะนั้น โจทย์ใหญ่ที่สำคัญของไทยจึงเป็นเรื่องของการทำให้ผู้สูงวัยในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่กลายเป็นผู้ป่วยหรือผู้ติดเตียง สามารถช่วยเหลือดูแลตัวเองได้ยาวนาน และนวัตกรรมที่ มธ. นำมาจัดแสดง และมอบให้กับ กทม. เพื่อตอบโจทย์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง”ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าว
สูงวัยป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 2.5 แสนคนต่อปี
ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้พัฒนาอุปกรณ์ออกกำลังกายและฟื้นฟูสำหรับการฝึกลุกยืนสำหรับผู้สูงอายุ: SIT-TO-STAND TRAINER กล่าวว่า ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงมีผู้สูงอายุจำนวนมากในประเทศมีปัญหาเกี่ยวกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องของปัญหาในการลุกนั่ง ซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อของผู้สูงอายุมีความเสื่อมถอยลง
ขณะเดียวกันผู้สูงอายุไทยป่วยโรคหลอดเลือดสมอง สถิติพบว่ามีถึงประมาณ 2.5 แสนคนต่อปี และในจำนวนนี้มีถึง 70% ที่ยังมีความพิการหลงเหลือหลังจากรักษาหาย หากไม่ได้รับการฟื้นฟูดูแลอย่างถูกต้อง สม่ำเสมอได้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล เพราะไม่เฉพาะค่าใช้จ่ายจากการรักษาเท่านั้น แต่ยังเป็นในเชิงสังคมภาพรวมที่ต้องสูญเสียกำลังแรงงานไปกับการดูแลผู้ป่วยด้วย
“SIT-TO-STAND TRAINER เป็นนวัตกรรมเครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัด สำหรับการฝึกลุกยืนเพื่อผู้สูงอายุ โดยได้พัฒนาร่วมกับรศ.ดร.สายรัก สอาดไพร อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและออกกำลังกาย คณะสหเวชศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อเป็นเครื่องสามารถพยุงน้ำหนักตั้งแต่ 20-50 กิโลกรัม ที่สามารถปรับแรงช่วยของเครื่องได้ 9 ระดับ และมีระบบเซฟตี้ในการฝึกลุกยืน คือ เครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัด สำหรับการฝึกลุกยืนเพื่อผู้สูงอายุมีเข็มขัดนิรภัยในการป้องกันผู้สูงอายุล้มลง เครื่องนี้ใช้งานง่ายแค่เพียงเสียบปลั๊ก ปรับแรงโดยใช้รีโมทคอนโทรล ซึ่งผู้สูงอายุสามารถทำได้ด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ยังปรับระดับของเบาะให้เหมาะสมกับสรีระได้”
ทั้งนี้ จากประสบการณ์พบว่า สาเหตุที่ผู้สูงวัยหรือผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการฟื้นฟูดูแลกายภาพที่ดีได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากอุปกรณ์ที่มีในประเทศนั้นไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ส่วนนวัตกรรมทันสมัยที่นำเข้าจากต่างประเทศก็มีราคาสูงมาก คืออย่างต่ำ 3-4 ล้านบาท ส่วนใหญ่จึงมีอยู่ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น เกิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยตามมา จึงอยากตอกย้ำว่าแนวทางในการแก้ปัญหานั้น จำเป็นจะต้องนำนวัตกรรมฟื้นฟูดูแลกายภาพเหล่านี้กระจายลงไปถึงในระดับชุมชน หรือถ้าให้ดีคือมีการพัฒนาเป็นเวอร์ชันที่ใช้ในครัวเรือนได้ด้วย
ผศ.ดร.บรรยงค์ กล่าวต่อว่าอุปกรณ์ SIT-TO-STAND นี้ เราตั้งต้นจากโจทย์ปัญหาการพลัดตกหกล้มของผู้สูงวัย ที่เกิดขึ้นมากถึง 1 ใน 4 ของผู้สูงวัย ซึ่งปัญหาหลักมาจากความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ จึงต้องการพยายามส่งเสริมให้ผู้สูงวัยลุกนั่งได้ด้วยตัวเอง เพราะตราบใดที่ยังทำได้ ก็จะสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับปกติ โดยข้อดีของเครื่องนี้คือสามารถปรับแรงดันท้ายที่ช่วยให้ลุกยืนได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องใช้แรงมาก จึงสามารถฝึกได้บ่อยถึง 50 ครั้งต่อรอบ เทียบกับฝึกด้วยเก้าอี้ธรรมดาที่ผู้สูงวัยอาจลุกยืนได้เพียง 4-5 ครั้งก็เหนื่อย
กลไกช่วยเคลื่อนที่หลายทิศทาง
อย่างไรก็ตาม เครื่องออกกำลังกายและกายภาพบำบัด สำหรับการฝึกลุกยืนเพื่อผู้สูงอายุ ช่วยพัฒนาความแรงความคล่องแคล่วว่องไว และลดโอกาสการหกล้มลงได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยเสริมสร้างร่างกาย เสริมกล้ามเนื้อ เสริมสร้างกระดูกและข้อ รวมถึงทำให้ผู้สูงอายุลุกยืนได้เป็นอย่างดี อย่างเป็นธรรมชาติ ถูกต้อง และปลอดภัย ผู้สูงอายุทั่วไป ควรจะฝึกลุกยืน ไม่ต่ำกว่าวันละ 60 ครั้งต่อวัน เพื่อคงสภาพของกล้ามเนื้อที่แข็งไว้
นอกจากนั้น ได้มีการพัฒนา “Arm Booster” สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกที่อาจจะเหลือแขนข้างที่ดีอีกข้างหนึ่ง ส่วนอีกข้างอาจจะใช้งานไม่ได้ เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้สูงอายุได้กายภาพบำบัด ฟื้นฟูให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งปัจจุบันแม้จะมีอุปกรณ์ใช้อยู่แล้ว เพียงแต่มีความซับซ้อนและราคาสูง คือ ระบบที่ใช้ Power Assist เครื่องได้ใช้มอเตอร์ 3-4 ตัว ในการควบคุมการเคลื่อนไหว หากมีการควบคุมแขนทั้งสองข้างอาจจะต้องใช้มอเตอร์ถึง 8 ตัว ความซับซ้อนเหล่านี้ ทำให้มันมีราคาแพง
ทีมวิจัยจึงได้แทนที่ด้วยการใช้มอเตอร์เป็นพาวเวอร์ในการขยับแขน ก็ใช้แขนข้างที่ดีที่ยังมีแรงปกติ ช่วยขยับแขนข้างที่ไม่ดี ซึ่งไอเดียนี้พบเห็นง่ายๆ ในการชักรอก ที่เขาเอาแขนข้างดี ชักรอกแขนข้างที่ไม่ดี แต่ปัญหาของแขนชักรอกนั้นอยู่ที่ว่า มันทำได้ทิศทางเดียวคือยกขึ้นกับยกลง ไม่สามารถกวาดไปข้างหน้าหรือข้างหลังได้ ทีมวิจัยจึงต้องออกแบบกลไกพิเศษ เพื่อช่วยให้สามารถเคลื่อนที่ได้หลายทิศทาง
"กลไกช่วยเคลื่อนที่หลายทิศทาง จะเป็นระบบชดเชยน้ำหนักแรงโน้มถ่วง คือ แทนที่น้ำหนักทั้งหมดนั้น คนที่ออกแรงยกจะต้องมาออกแรงยกโครงสร้าง เราก็ให้แรงสปริง เป็นตัวยกแรงโครงสร้างแทน เพราะโครงสร้างจะเบา หลักๆ แล้วเครื่องของเราจึงจะออกแรงแขนข้างดีเพื่อยกข้างไม่ดี ส่วนน้ำหนักของโครงสร้างอื่น จะถูกชดเชยด้วยการใช้ระบบสปริงเข้ามาช่วย"
เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมสำหรับสูงวัย
รวมถึงมีการใส่เซนเซอร์ Load Cell บริเวณมือจับทั้ง 2 ข้าง และส่งข้อมูลประมวลผลผ่าน DAQ ด้วย LabVIEW โปรแกรม เมื่อผลถูกประมวลเรียบร้อย จะแสดงผ่านหน้าจอขณะผู้ป่วยกำลังฝึก ทำให้ผู้ฝึกหรือนักกายภาพบำบัดเห็นว่า ผู้ฝึกได้ออกแรงแขนด้านที่อ่อนแอไหม โดยเทียบกับแขนข้างที่ดี เช่น ถ้าพยายามออกแรงเท่ากับแขนข้างที่ดี ไฟเขียววัดแรงอาจจะขึ้นมาเต็มหลอดเลย แต่ถ้าออกแรงน้อย ไฟเขียวจะลดลงมา
ดังนั้น Arm Booster จะสามารถเคลื่อนไหวได้ 3 ระนาบการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่ได้ใน 3 ทิศทาง (3 Degree of Freedom) คือ ยืดแขน (Y-Direction), ยกแขน (Z-Direction) และกางแขน (X-Direction) และหลังจากนี้จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้ดีขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ม.ธรรมศาสตร์ จะเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสอดคล้องและตอบโจทย์ต่อการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย