รักในที่ทำงาน ? คนไม่โสด 33% อยากนอกใจแฟนมากิ๊กเพื่อนร่วมงาน
Bangkok Matching เผยผลสำรวจความรักในที่ทำงานพบว่า วัยทำงาน 47.2% พบรักในออฟฟิศ ขณะที่คนไม่โสด 33.5% มีโอกาสนอกใจแฟนมากิ๊กเพื่อนร่วมงาน
รักในที่ทำงาน ไม่ใช่เรื่องผิด เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ในโลกการทำงาน คู่รักวัยทำงาน บางคู่ยิ่งทำงานด้วยกันชีวิตก็ยิ่งราบรื่น แต่ขณะเดียวกัน คนที่มีคู่อยู่แล้วบางคนอาจเผลอนอกใจแฟนมาแอบกิ๊กกับเพื่อนร่วมงานก็มีให้เห็นเช่นกัน ว่าแต่..เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ในที่ทำงานเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนกัน?
ล่าสุด บริษัทจัดหาคู่ Bangkok Matching ได้หาคำตอบเรื่องนี้มาแล้ว โดยทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน ไปสู่การเป็นแฟนและคู่ชีวิต จากกลุ่มตัวอย่างวัยทำงานกว่า 500 คน เพื่อค้นหาว่าคนวัยทำงานในยุคปัจจุบันมีประสบการณ์ความสัมพันธ์แบบคนรักในที่ทำงานมากน้อยแค่ไหน มีมุมมองความสัมพันธ์ในที่ทำงานอย่างไร และมีโอกาสนอกใจในที่ทำงานได้หรือไม่
ผู้เข้าร่วมตอบแบบสำรวจแบ่งเป็น เพศหญิง 49% เพศชาย 34.4% และ LGBTQA+ 16.6% ทั้งหมดมีอายุตั้งแต่ 21 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุของ First Jobber เด็กจบใหม่ ไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ใกล้เกษียณอายุ 60 ปี และส่วนใหญ่ 75.4% เป็นวัยทำงานจากพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร และกลุ่มตัวอย่าง 80% ประกอบอาชีพ “พนักงานบริษัท”
วัยทำงานกว่า 47.2% เคยพบรัก หรือกำลังมีความรักในที่ทำงาน
จากการรวบรวมข้อมูลและสรุปผลสำรวจ (เผยแพร่ ณ มิถุนายน 2567) พบว่า 52.8% ไม่เคยมีความสัมพันธ์เชิงคนรักกับเพื่อนร่วมงาน ขณะที่ 47.2% เคยมีความสัมพันธ์ หรือกำลังมีความรักกับเพื่อนร่วมงาน
นอกจากนี้ผลสำรวจยังเปิดเผยถึงระยะเวลาในการคบหาดูใจของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในที่ทำงาน ระหว่างคนโสดคบกับคนโสด พบว่ามีระยะการคบหาในช่วงเวลาแตกต่างกันไป ได้แก่ 42.1% คบกันนานกว่า 1 ปีขึ้นไป, 36.6% คบกันจนกลายเป็นคู่จริง (แต่งงาน สร้างครอบครัว), 9.4% คบกันไม่เกิน 1 ปี
จากข้อมูลข้างต้นทำให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ที่เกิดจากที่ทำงาน เป็นความสัมพันธ์ที่สามารถไปต่อได้ในระยะยาวและพัฒนาไปสู่การลงหลักปักฐานเป็นคู่ที่จริงจังได้ในอนาคต นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้สำรสวจความเห็นจากมุมมองของบุคคลที่ 3 พบว่า กลุ่มคนทำงานกว่า 92.1% ให้คำตอบในทิศทางเดียวกันว่าพวกเขา “เคยเห็น” ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานที่เกิดขึ้นในออฟฟิศจนเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปกติ
วัยทำงาน 33.5% ยอมรับว่ารู้สึก “อยากนอกใจ” ในที่ทำงาน
ในทางกลับกัน ผลการสำรวจครั้งนี้ยังพบด้วยว่า วัยทำงานที่ “ไม่โสด” บางส่วนก็มองหาความสัมพันธ์ “ซ้อน” ในสถานที่ทำงานด้วยเช่นกันโดยพบว่า
วัยทำงานที่ไม่โสดกว่า 33.5% ยอมรับว่ารู้สึก “อยากนอกใจ” ในที่ทำงาน
แม้จากผลสำรวจด้านความต้องการอยากนอกใจในที่ทำงาน จะพบว่าคนมีคู่แล้ว 66% ตอบว่า พวกเขาไม่ได้รู้สึกอยากจะนอกใจไปกับเพื่อนร่วมงาน แต่ว่ายังมีอีก 33.5% ที่ยอมรับว่าพวกเขาเคยรู้สึกอยากนอกใจไปกับเพื่อนร่วมงานในบริษัท หรือในออฟฟิศของตัวเองอยู่บ้าง และมีบางส่วนที่มีพฤติกรรม “นอกใจ” คนรักของตัวเองแล้วมากิ๊กกับเพื่อนร่วมงาน
คนที่มีการนอกใจในที่ทำงานส่วนใหญ่ มักจะกิ๊กกับเพื่อนร่วมงาน
นอกจากนี้ ในรายงานยังระบุด้วยว่า ส่วนใหญ่แล้วคนที่มีการนอกใจในที่ทำงาน จะนอกใจไปกับบุคคลดังต่อไปนี้
51.4% นอกใจไปกับเพื่อนที่ทำงานร่วมกัน
18.6% นอกใจไปกับคนที่เป็นหัวหน้างาน
17.1% นอกใจไปกับลูกน้อง
10% นอกใจไปกับน้องฝึกงานที่ตัวเองดูแลอยู่
จากผลสำรวจหัวข้อย่อยข้างต้น โดยสรุปจะเห็นว่าคนไม่โสดที่นอกใจแฟนส่วนใหญ่จะเลือกนอกใจไปกับคนที่เป็นเพื่อนร่วมงานที่มีความสนิทสนม มีการร่วมงานกันมากที่สุด เพราะมีช่องทางในการพูดคุย พัฒนาความสัมพันธ์ซ่อนเร้นได้ง่ายกว่า รองลงมาคือหัวหน้างาน ลูกน้อง และเด็กฝึกงาน โดยผลสำรวจยังพบด้วยว่า ร้อยละ 52.9 ของคนที่นอกใจไปกับเพื่อนร่วมงาน และมักจะนัดเจอกันนอกออฟฟิศหลังเลิกงาน โดยสถานที่ที่นิยมนัดเจอหลังเลิกงาน ได้แก่
ร้านอาหาร 25.38%
คอนโด หรือบ้าน 20.89%
ห้างสรรพสินค้า 10.45%
ร้านกาแฟ 8.96%
โรงหนัง 8.96%
โรงแรม 8.96%
อื่น ๆ 14.91%
คบซ้อน-นอกใจในที่ทำงาน สุดท้ายก็ไปไม่รอด!
อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมของโอกาสการพัฒนาความสัมพันธ์ที่เกิดจาก การนอกใจในที่ทำงาน ไปสู่การเป็นคู่จริงในชีวิตจริงนั้น มีน้อยกว่าการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างคนโสดสองคน อยู่ถึง 32.2%
เนื่องจากผลสำรวจดังกล่าวทำให้พบว่า คู่ที่เริ่มต้นคบกันจากการนอกใจจะสามารถพัฒนาไปเป็นคู่จริงได้เพียง 4.3% เท่านั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะคบกันไม่เกิน 1 ปี หรือคบกันได้ยาวนานที่สุดเพียงประมาณ 1 ปี เท่านั้น
กล่าวโดยสรุปคือ ในปัจจุบันการพัฒนาความสัมพันธ์จากเพื่อนร่วมงานสู่คนรักในสถานที่ทำงานนั้น เป็นเรื่องที่พบเห็นได้มาก และเป็นเรื่องปกติ ในสายตาคนวัยทำงานส่วนใหญ่ รวมถึงมีคนไม่โสดวัยทำงานบางส่วนเช่นกัน ที่แอบมีความสัมพันธ์ซ่อนเร้นกับเพื่อนร่วมงาน แต่ว่าอัตราความสำเร็จในการพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่ระยะยาวนั้น เกิดขึ้นน้อยกว่าการคบกันระหว่างคนโสดกับคนโสดด้วยกันเอง