ทวงคืนเวลา 30% ที่หายไปจากสังคมออนไลน์

ในระยะหลังจะได้ยินเสียงบ่นว่าเวลาที่มีอยู่ 24 ชั่วโมงนั้น มักจะไม่ค่อยพอสำหรับการทำสิ่งต่างๆ ทั้งเรื่องของการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว หลายคนอยากจะมีเวลาในแต่ละวันให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จเสร็จสิ้นไปได้

    สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เวลาในแต่ละวันหมดไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นและรู้สึกว่าเวลาไม่พอ เนื่องมาจากสังคมออนไลน์มีบทบาทสำคัญในชีวิตมากขึ้น มีงานวิจัยจำนวนมากที่พบผลกระทบของสังคมออนไลน์ต่อทั้งสมาธิและเวลาในชีวิต มีงานหนึ่งที่ระบุว่าเมื่อถูกรบกวนในขณะทำงาน

คนจะต้องใช้เวลาประมาณ 23 นาทีกว่าที่จะสามารถดึงสมาธิและกลับมาทำงานได้เหมือนเดิมอีกครั้ง อีกงานวิจัยที่พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วคนใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงต่อวันกับโทรศัพท์มือถือ และประมาณ 30% ของเวลาดังกล่าวหมดไปกับสังคมออนไลน์

    สังคมออนไลน์เป็นเพียงแค่ปัจจัยเดียว มีปัจจัยอื่นอีกที่เข้ามาทำให้เวลาที่มีอยู่หายไป มาดูว่าถ้าจะทวงคืนเวลาที่หายไปให้กลับมา มีแนวคิดและเทคนิคใดบ้าง

แนวคิดและเครื่องมือเหล่านี้สามารถใช้ได้กับทั้งการทำงานและชีวิตประจำวัน

    1. จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำ - ถ้าเคยมีความรู้สึกว่าในเวลา 1 วันนั้นมีสิ่งที่จะต้องทำอย่างมากมาย การจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำ จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น

    เทคนิคหนึ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลายคือ Eisenhower Matrix ซึ่งเป็น Matrix แบบ 2x2 ที่จัดแบ่งสิ่งที่จะทำออกตาม “ความสำคัญ” และ “ความเร่งด่วน” ก็ทำให้มีทางเลือกอยู่ 4 ประการ

เรื่องที่ “สำคัญและเร่งด่วน” ก็จะต้องทำทันที

เรื่องที่ “สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน” สามารถที่จะจดไว้เพื่อทำภายหลังได้

เรื่องที่ “ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน” ก็มอบหมายหรือฝากให้ผู้อื่นทำ

เรื่องที่ “ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน” ก็อาจจะลืมไปหรือทำเมื่อว่างจริงๆ

 2. สำรองเวลาให้กับตัวเอง - โดยปกติในการทำงานนั้น ผู้บริหารมักจะสำรองเวลาให้กับงานที่ต้องอาศัยสมาธิ สำหรับชีวิตส่วนก็เช่นเดียวกัน ที่จะต้องสำรองเวลาไว้ให้กับความเป็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะเป็นเวลาที่ใช้กับสิ่งที่ตนเองสนใจ ให้กับสิ่งที่ต้องอาศัยสมาธิ ให้กับการอ่านหนังสือ ให้กับงานอดิเรก หรือ ให้กับคนที่ใกล้ชิด โดยเป็นช่วงเวลาที่จะต้องป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกรบกวนทั้งจากบุคคลอื่น หรือ เสียงเตือนที่ดังเข้ามาทางมือถือ

    3. ทำให้ตัวเลือกเหลือน้อยที่สุด - เมื่อเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นทำให้เรามีทางเลือกในเรื่องต่างๆ มากขึ้น ทั้งอาหารที่จะกิน สิ่งที่จะทำ หนังที่จะดู สิ่งที่จะซื้อ สถานที่จะไปเที่ยว ฯลฯ การมีตัวเลือกมากอาจจะเป็นสิ่งที่ดีตามทฤษฎีการตัดสินใจ

แต่การมีตัวเลือกที่เยอะเกินไป จะทำให้ทั้งเสียเวลาในการหาข้อมูลและประเมินทางเลือกแต่ละทาง และใช้พลังงานไปกับการตัดสินใจท่ามกลางทางเลือกที่มากมาย

    แนวทางที่เหมาะสมคือการพยายามทำให้ทางเลือกต่างๆ เป็นการตัดสินใจเลือกที่ง่าย มีตัวเลือกที่น้อยที่สุด แต่เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งจะช่วยทั้งประหยัดเวลาและพลังงาน และนำเวลากับพลังงานไปใช้กับงานที่มีความสำคัญมากขึ้น

4. กำหนดเวลาของกิจกรรมให้สั้นและกระชับ - เนื่องจากสมาธิที่สั้นลงและมีโอกาสถูกรบกวนมากขึ้น แทนที่จะทำกิจกรรมหนึ่งที่ยาวและนาน ก็ควรจะแบ่งกิจกรรมที่จะทำให้สั้นและกระชับลง 

เทคนิคหนึ่งที่นิยมใช้คือ Pomodoro ที่ใช้เวลากับกิจกรรมหนึ่งต่อเนื่องอย่างมีสมาธิเป็นเวลา 25 นาที จากนั้นให้หยุดพักหรือทำอย่างอื่นเป็นเวลา 5-10 นาที แล้วก็กลับไปทำกิจกรรมต่อเป็นเวลา 25 นาที จากนั้นก็พักเป็นรอบๆ ไปเรื่อยๆ

ดังนั้น ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ทำงานบ้าน ทำงานอดิเรก บันทึกรายรับรายจ่ายของบ้าน ฯลฯ ก็สามารถนำเทคนิคนี้มาปรับใช้ได้  จะช่วยทำให้เกิดแรงจูงใจ และลดความเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้น

    5. ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี - เทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้ารู้จักใช้ก็สามารถนำเอาเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในชีวิตประจำได้ด้วยเช่นกัน เมื่อเลือกใช้อย่างเหมาะสม AI จะทำให้ชีวิตง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสุดท้ายจะช่วยทำให้ประหยัดเวลาในการทำสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น

    แนวทางข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อลองนำไปปรับใช้ดูจะพบว่าสามารถทวงคืนเวลาในแต่ละวันกลับมาได้ไม่น้อยทีเดียว.