การเสพติดงาน ปัญหาที่มักถูกมองข้าม | พสุ เดชะรินทร์

การเสพติดงาน ปัญหาที่มักถูกมองข้าม | พสุ เดชะรินทร์

ปัจจุบันนอกจากการดูแลสุขภาพกายแล้ว องค์กรยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตใจของพนักงานด้วย ซึ่งมีหลากหลายรูปแบบในการดูแลสุขภาพจิตพนักงาน บางแห่งถึงขั้นให้มีนักจิตวิทยาประจำด้วย

การเสพติดกับงาน หรือ workaholics เป็นหนึ่งในปัญหาด้านสุขภาพจิตที่มักจะถูกมองข้าม และผู้บริหารบางท่านอาจจะมองด้วยว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะประโยชน์กับองค์กร แต่จริงๆ แล้วการเสพติดกับงานก็มีผลเสียทั้งต่อพนักงานและองค์กรอย่างมหาศาล

สำหรับพนักงานจะส่งผลต่อสุขภาพกายทั้งความเครียด ความกดดัน การนอนไม่หลับ สุขภาพ นำไปสู่การหมดไฟ หมดแรงจูงใจในการทำงาน ส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวกับบุคคลใกล้ชิด

สำหรับผลเสียต่อองค์กรนั้น เมื่อเสพติดกับงานไปนานๆ จะนำไปสู่คุณภาพของงานที่ลดลง ความผิดพลาดที่มากขึ้น อาจจะนำไปสู่การลาออกและไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่เป็นพิษ

มักจะได้ยินข่าวของต่างประเทศที่พนักงานเสียชีวิตเนื่องจากทำงานหนักและมากเกินไป ล่าสุดก็เกิดขึ้นที่ประเทศอินเดีย ส่วนในญี่ปุ่นก็ถึงขั้นมีการบัญญัติศัพท์ Karoshi (Death from Overwork) ขึ้นมา และมีเหตุการณ์การเสียชีวิตเนื่องจากทำงานที่หนักเป็นระยะๆ

ในหนังสื่อ Never Not Working เขียนโดย Malissa Clark ได้ระบุว่าการเสพติดกับงานหรือ workaholic ไม่ได้หมายถึงการทำงานเป็นเวลานานเท่านั้น แต่เป็นการที่บุคคลไม่สามารถแยกงานออกจากเรื่องอื่นได้

เมื่อใดก็ตามที่มีแต่เรื่องงานอยู่ในความคิดและสมองตลอดเวลา รวมทั้งในทุกๆ กิจกรรมที่ทำก็จะมีแต่งานเข้ามาเกี่ยวข้อง จนกระทั่งส่งผลเสียต่อชีวิตในด้านอื่นๆ และสุขภาพ แสดงว่าบุคคลผู้นั้นมีแนวโน้มที่จะเสพติดกับงาน

สาเหตุที่ทำให้เสพติดกับงานนั้น ก็มาจากทั้งสาเหตุส่วนบุคคลและจากองค์กรที่ทำงานอยู่ด้วย โดยสาเหตุส่วนบุคคลนั้นมาจาก

1.เป็นคนที่ต้องการความสมบูรณ์พร้อมหรือ Perfectionism ต้องการให้งานออกมาสมบูรณ์พร้อม และมีความคิดว่าคนอื่นไม่สามารถทำงานได้ดีเท่าตนเอง ทำให้ต้องทำงานเองตลอดเวลา ไม่สามารถมอบหมายหรือไว้วางใจให้กับคนอื่นทำได้

2.มุ่งเน้นที่ความสำเร็จหรือกลัวความล้มเหลว จึงมุ่งมั่นกับงานจนถึงขั้นเสพติดเพื่อให้บรรลุความสำเร็จที่ต้องการ

3.ไม่ต้องจะทำให้ผู้อื่นผิดหวัง ไม่สามารถที่จะปฏิเสธผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อมีเรื่องงานเข้ามาเกี่ยวข้องแม้เป็นเวลาส่วนตัว

4.มุ่งทำแต่งานเพื่อเป็นทางออกในการแก้ปัญหาอื่นที่มีอยู่

5.มองว่าการทำงานเป็น Passion แต่ขาดความสามารถในการปิด Passion นั้นเป็นระยะๆ

6.ทำงานแล้วรู้สึกอิ่มเอม โดยเฉพาะงานด่วน งานแก้ปัญหา เนื่องจากเมื่อมีเรื่องด่วนหรือปัญหาเกี่ยวกับงานเข้ามา อะดรีนาลีนจะหลั่ง นำไปสู่การเสพติดต่อการหลั่งอะดรีนาลีนด้วยการทำงานไม่หยุด

ส่วนสาเหตุที่มาจากองค์กรนั้น หนีไม่พ้นมาจากผู้บริหาร วัฒนธรรมและวิถีในการทำงาน พอแบ่งออกได้เป็น

1. แนวคิดของผู้บริหาร ที่ให้ความสำคัญกับชั่วโมงการทำงาน การเสนอหน้า (Face time) มากกว่าผลลัพธ์ของงาน

2.ผู้บริหารที่ไม่ได้คำนึงถึงพนักงาน โดยให้ความสำคัญกับตนเองเป็นหลัก คิดว่าเมื่อพนักงานเป็นลูกน้อง จะสั่งและเอางานเมื่อไรก็ได้ ในหลายเรื่องที่ไม่ได้ด่วนก็จะไม่เคารพเวลาส่วนตัวของลูกน้อง ทำให้พนักงานเกิดภาวะ Always On ตลอดเวลา

3.ระบบการจูงใจและวัฒนธรรมในการทำงานที่ให้ความสำคัญกับเวลาในการทำงานมากกว่าผลลัพธ์ รวมถึงการขาดการกำหนดกรอบกติกาที่ชัดเจนในเรื่องเวลาส่วนตัวของพนักงาน

4.จำนวนพนักงานที่ไม่เหมาะสมกับภาระงาน และกระบวนการในการทำงานที่ไม่เหมาะสม

การแก้ไขปัญหาข้างต้น สำหรับระดับองค์กรนั้น ผู้บริหารจะต้องเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่ เปลี่ยนระบบและวัฒนธรรมในการทำงานไม่ให้นำไปสู่การเสพติดกับงาน รวมทั้งดูแลจำนวนพนักงานให้มีจำนวนที่เหมาะสมกับภาระงาน

ในระดับบุคคลก็ต้องเริ่มต้นจากการรู้ตนเองก่อนว่าเริ่มมีภาวะเสพติดกับงานหรือไม่ ถ้าคิดว่าเป็นก็ต้องมีวินัยในตนเองให้มากขึ้น ทั้งรู้จักที่จะปฏิเสธ และเปลี่ยนมุมมองต่อคำว่า “ด่วน” เสียใหม่ เรียนรู้ที่จะมอบหมายและไว้วางใจผู้อื่น ที่สำคัญสุดคือจะต้องรู้ว่าในชีวิตนี้ยังมีเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจและสำคัญนอกเหนือจากงาน.