พนักงานชาวเยอรมันมีเฮ เงินเดือนเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี!

พนักงานชาวเยอรมันมีเฮ เงินเดือนเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี!

ลูกจ้าง และพนักงานบริษัทชาวเยอรมัน มีความหวัง ล่าสุดรายงานจากธนาคารกลางเยอรมนี เผย อัตราค่าจ้างไตรมาส 3 ของปีนี้ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี! แต่ผู้เชี่ยวชาญมอง อาจเพิ่มขึ้นแค่ระยะสั้นๆ

KEY

POINTS

  • ไตรมาสสามของปีนี้ เยอรมนีมีการเติบโตของค่าจ้างแรงงานที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 30 ปี อยู่ที่ 8.8% แม้ว่าเศรษฐกิจยังติดหล่ม
  • เยอรมนีรอดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาสที่ 3 โดยขยายตัว 0.2% แต่ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่า โมเมนตัมพื้นฐานทางเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น
  • ตลาดแรงงานในเยอรมนียังแย่ แม้ปีนี้แนวโน้มค่าจ้างแรงงานจะเพิ่มขึ้นสูงตามรายงานดังกล่าว แต่ไม่น่าจะคงอยู่ยาวนานนัก 

ไม่นานมานี้สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานอ้างถึงข้อมูลแนวโน้มค่าจ้างแรงงานในเยอรมนีของ Bundesbank ซึ่งเป็นธนาคารกลางของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบธนาคารกลางในยุโรป (ESCB) ระบุว่า ในไตรมาสสามของปีนี้ ประเทศเยอรมนีมีการเติบโตของค่าจ้างที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบกว่าสามทศวรรษ หรือ 30 ปี แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะยังติดหล่มอยู่ในภาวะถดถอย 

หลังจากผู้กำหนดนโยบายหลายฝ่ายหารือกันในไตรมาสที่ 3/2567 รวมถึงข้อตกลงอื่นๆ สำหรับค่าจ้างแรงงาน พบว่า ปีนี้อัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับอัตราค่าจ้างในปีก่อน ซึ่งถือเป็นอัตราที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1993 ขณะที่หากไม่รวมการจ่ายเงินพิเศษ ค่าจ้างโดยรวมก็ยังสูงอยู่ดี โดยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.6%

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวไม่น่าจะคงอยู่ยาวนานนัก โดยตามรายงานของ Bundesbank ระบุว่า ช่วงเวลาดังกล่าวอาจเป็นจุดสูงสุดของการปรับขึ้นค่าจ้างในปีนี้แล้ว

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงที่กำลังจะมีการเคาะตัวเลขเงินเดือนของลูกจ้างเพียงวันเดียว ซึ่งเป็นช่วงที่มีการกำหนดแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางแห่งยุโรป หลังจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะปรับลดลงในการประชุมเดือนธันวาคม

แม้ค่าจ้างแรงงานจะพุ่ง แต่ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของเยอรมนี น่าจะยังมีอยู่ต่อไป

นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่า การที่ค่าจ้างหรือเงินเดือนของพนักงานชาวเยอรมัน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนั้น (ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ในเยอรมนีด้วย) อาจทำให้หน่วยงานด้านการกำหนดนโยบายทางการเงินต่างๆ ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการผ่อนคลายนโยบาย และต้องเข้มงวดยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ยังมีนายจ้างบางส่วนกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ 

Bundesbank คาดว่า การขับเคลื่อนของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปในช่วงถัดไปอาจจะซบเซา หลังจากการเติบโตอย่างไม่คาดคิดในไตรมาสที่สาม ในเวลาเดียวกัน อัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคีย์สำคัญของรายงานระบุไว้ด้วยว่า "ความอ่อนแอทางเศรษฐกิจของเยอรมนีน่าจะยังคงดำเนินต่อไป"

เนื่องจากมีปัจจัยต่างๆ เข้ามาส่งผลกระทบ เช่น ความไม่แน่นอนสูง ต้นทุนการเงินที่ค่อนข้างสูง และอัตราการผลิตต่ำในอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุน สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่

ในภาพรวม ตลาดแรงงานในเยอรมนียังคงอ่อนแอ

“เยอรมนีรอดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในไตรมาสที่ 3 โดยขยายตัว 0.2% แต่ทั้งนี้ ยังคงเป็นเรื่องยากที่จะสรุปว่าโมเมนตัมพื้นฐานกำลังดีขึ้นจากผลการดำเนินงานดังกล่าว เนื่องจากเศรษฐกิจมีผลงานแย่กว่าที่รายงานในช่วงก่อนหน้านี้มาก” Bundesbank กล่าว

เมื่อมองไปข้างหน้าจะเห็นได้ว่า มีสัญญาณการฟื้นตัวของอุปสงค์จากต่างประเทศ และการบริโภคภาคเอกชนในเยอรมนีอาจฟื้นตัวขึ้นบ้าง โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับขึ้นค่าจ้างอย่างรวดเร็ว แม้ว่าตลาดแรงงานจะแย่ลงก็ตาม 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์