ห่วงงานไม่กล้าสังสรรค์ ภาวะ 'ใส่ใจงานมากเกินไป' ทำลายสมดุลชีวิตกว่าที่คิด
ห่วงงานเท่าชีวิต ไม่กล้าหยุดทำงานในวันหยุด ภาวะ “ใส่ใจงานมากเกินไป” ทำลายสมดุลชีวิตมากกว่าที่คิด ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมมนุษย์เปิด 4 สัญญาณอันตรายที่วัยทำงานต้องรู้
KEY
POINTS
- หากนึกถึงงานที่ต้องทำระหว่างทานอาหารเย็นกับครอบครัวอยู่เป็นประจำ, เช็กอีเมลงานทุกเช้าก่อนทำอย่างอื่น, เคยปฏิเสธแผนไปสังสรรค์เพราะคุณ “จำเป็น” ต้องทำงานให้เสร็จ ฯลฯ เหล่านี้บ่งชี้ถึงภาวะ "ใส่ใจงานมากเกินไป"
- โค้ชด้านผู้นำและอาจารย์สอนพฤติกรรมมนุษย์ เผย ความมุ่งมั่นอันแรงกล้าในการทำงานส่งผลต่อความเป็นเลิศในงาน แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำลายความเป็นอยู่ที่ดีของคุณได้
- 4 สัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีภาวะ “ใส่ใจงานมากเกินไป” ได้แก่ คิดว่าคำติชมเรื่องงานเป็นการตัดสินคุณค่าของคุณเสมอ, เอางานกลับบ้านด้วย คิดเรื่องงานตลอดเวลา, เล่นบทบาทฮีโร่ในที่ทำงานอย่างบ้าคลั่ง, ชีวิตนี้เกิดมาเพื่อทำงานอย่างเดียว ฯลฯ
ปีใหม่แล้วแต่มีวัยทำงานหลายคนที่ยังคงทำงานในวันหยุด ด้วยภาระหน้าที่ของบางอาชีพ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่เลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับใครที่รู้สึกว่าต้องทำงานตลอดเวลาทั้งที่สามารถหยุดพักผ่อนได้ สิ่งนี้อาจเป็นปัญหาเรื้อรังในอนาคต โดยเฉพาะคนที่มักจะนึกถึงงานที่ต้องทำระหว่างทานอาหารเย็นกับครอบครัวอยู่เป็นประจำ, เช็กอีเมลงานทุกเช้าก่อนทำอย่างอื่น, เคยปฏิเสธแผนไปสังสรรค์เพราะ “จำเป็น” ต้องทำงานให้เสร็จ ฯลฯ
หากเคยทำพฤติกรรมเหล่านี้บ่อยๆ นั่นแปลว่าคุณอาจมีความผูกพันทางอารมณ์กับงานของคุณมากเกินไป และมันกำลังทำให้คุณสูญเสียความเป็นอยู่ที่ดีมากกว่าที่คุณคิด “เมโลดี้ ไวลด์ดิ้ง” (Melody Wilding) โค้ชผู้เชี่ยวชาญสำหรับผู้บริหาร และเป็นอาจารย์สอนพฤติกรรมมนุษย์ อธิบายว่า วัยทำงานที่ประสบความสำเร็จสูงนั้น โดยธรรมชาติแล้วมักจะมีความอ่อนไหวและผูกพันทางอารมณ์กับงานได้มากกว่า แต่การลงทุนทางอารมณ์ในการทำงานมากเกินไปอาจกลายเป็น Toxic ในชีวิตได้
จริงอยู่ว่าความมุ่งมั่นอันแรงกล้าในการทำงาน มีข้อดีคือทำให้เรามีผลักดันในการทำงาน ส่งผลต่อความเป็นเลิศในงาน ทำให้เรามีส่วนสนับสนุนในงานอย่างมีความหมาย แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อเสียคือ มันมักจะสร้างวงจรอุบาทว์ที่ทำลายความเป็นอยู่ที่ดีของคุณได้ และประสิทธิภาพการทำงานของคุณก็อาจแย่ลงตามไปด้วย
4 สัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีภาวะ “ใส่ใจงานมากเกินไป”
การจะรู้ว่าเมื่อใดที่คุณก้าวจาก “ความพอดี” เข้าสู่ “ความมากเกินไป” ในการทำงาน อาจเป็นเรื่องยาก ต่อไปนี้เป็นสัญญาณทั่วไปบางอย่างที่สังเกตเห็นได้ ได้แก่
1. คิดว่าคำติชมเรื่องงานเป็นการตัดสินคุณค่าของตัวเอง
เมื่อคำวิจารณ์เกี่ยวกับงานกระตุ้นให้เกิดกระแสอารมณ์ความเคร่งเครียดในการทำงานทั้งวัน นั่นเป็นสัญญาณว่าตัวตนของคุณเริ่มพันเกี่ยวเข้ากับอาชีพการงานแล้ว อีเมลธรรมดาๆ ที่บอกว่า “มาคุยกันหน่อย” ไม่ควรทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นหรือกังวล แต่สำหรับหลายๆ คนแล้ว มันกลับทำให้รู้สึกแบบนั้น ปัญหาที่แท้จริงอยู่ที่การคิดว่า คำพูดเหล่านั้นเป็นคำติชม หรือรู้สึกเหมือนเป็นการตัดสินคุณค่าของคุณในฐานะปัจเจกบุคคล
2. งานตามคุณกลับบ้าน (ไม่ใช่แค่การส่งอีเมลหลังเลิกงานเป็นครั้งคราว)
ใครที่มีเรื่องงานอยู่ในใจตลอดเวลา แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่ควรเป็นเวลาส่วนตัว นี่อาจเป็นสัญญาญที่ไม่ดี หากคุณกำลังตรวจสอบข้อความจากกลุ่มงาน หรือเช็กอีเมลเรื่องงานตลอดเวลา แม้ในขณะทานอาหารเย็นกับครอบครัวหรือสะดุ้งตื่นตอนตีสามเพราะกังวลกับรายการสิ่งที่ต้องทำในวันพรุ่งนี้ แสดงว่าคุณสูญเสียขอบเขตที่สำคัญระหว่างงานกับชีวิตไปแล้ว
3. มักจะ Say Yes เรื่องงาน เอาใจคนอื่นก่อนตัวเองเสมอ
หลายคนอาจพบว่าตัวเองเล่นบทบาทฮีโร่ในที่ทำงานอย่างบ้าคลั่ง เช่น ไม่เคยปฏิเสธเลยเรื่องงาน คอยให้ความช่วยเหลือคนอื่นเสมอ ให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้อื่นก่อนความต้องการของตนเองเสมอ พฤติกรรมเหล่านี้แสดงว่าคุณกำลังมีอารมณ์ร่วมในงานมากเกินไป ซึ่งมันเกิดจากความกลัวต่อการไม่เห็นด้วยหรือกลัวความขัดแย้งในที่ทำงานอย่างลึกซึ้ง
4. งานกำลังกลายเป็นตัวตนของคุณ
หากคุณไม่มีแนวคิดเรื่องอื่นเกี่ยวกับตัวเองเลย นอกเหนือไปจากสิ่งที่คุณทำเพื่อการยังชีพ คุณก็อยู่ในเขตอันตรายแล้ว การวิจัยแสดงให้เห็นว่าความซับซ้อนในตัวเองในระดับต่ำ เช่น ขาดการเชื่อมโยงตัวตนเข้ากับลักษณะเด่นของตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ทำให้เกิดความเครียดที่มากขึ้นและไม่รู้จักยืดหยุ่น
หากใครมีพฤติกรรมเข้าข่ายทั้ง 4 ข้อข้างต้น ก็ชี้ชัดว่าคุณกำลังลงทุนทางอารมณ์ในงานมากเกินไป (ใส่ใจกับงานมากเกินไป) อาจส่งผลอันตรายได้หลายประการ ได้แก่
- ก่อให้เกิดวัฏจักรแห่งความพ่ายแพ้ตนเอง
- กลายเป็นคนที่ไม่กล้าเสี่ยง หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจเผชิญกับคำวิจารณ์
- คุณทำงานหนักเกินไปเพื่อพิสูจน์ว่าคุณ “ดีพอ”
- ชีวิตส่วนตัวต้องประสบปัญหา เนื่องจากงานกินพื้นที่ทางจิตใจมากขึ้น
- การตัดสินใจมักถูกบดบังด้วยความผูกพันทางอารมณ์กับงาน
วัยทำงานต้องรู้! วิธีการค้นหาสมดุลชีวิตที่ดีกว่าเดิม
อาการและพฤติกรรมจากภาวะ “ใส่ใจงานมากเกินไป” สามารถแก้ไขได้ เพื่อให้วัยทำงานมีสุขภาพกายและจิตใจที่ดีขึ้น ทั้งนี้เป้าหมายไม่ได้อยู่ที่การใส่ใจงานของคุณน้อยลง แต่เป็นการใส่ใจอย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น โดยมีวิธีการดังนี้
1. สร้างระยะห่างทางจิตใจ
แยกแยะระหว่าง “คำวิจารณ์เรื่องงาน” กับ “คำวิจารณ์ตัวเอง” ครั้งต่อไปที่คุณได้รับคำติชม เมโลดี้ ไวลด์ดิ้ง แนะนำว่าให้ลองทำแบบฝึกหัดนี้ เริ่มจากสร้างสี่คอลัมน์บนกระดาษหรือเอกสารหนึ่งแผ่น จากนั้นในคอลัมน์แรก ให้เขียนรายละเอียดงานที่คุณได้รับ, ในคอลัมน์ที่สอง ให้ระบุสิ่งที่รู้สึกไม่ถูกต้องหรือรู้สึกแย่, ในคอลัมน์ที่สาม ระบุสิ่งที่อาจมีประโยชน์, ในคอลัมน์สุดท้าย ให้กำหนดขอบเขตงานให้ชัดเจน
2. กำหนดขอบเขตงานที่ชัดเจน
ให้กำหนดกิจวัตรประจำวันในการ “ทำงานของคุณให้เสร็จ” คุณอาจใช้เวลา 10 นาทีในการเขียนแผนการทำงานของวันพรุ่งนี้ เคลียร์โต๊ะทำงาน และ/หรือ ปิดแท็บเบราว์เซอร์ทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ การทำความสะอาดทางกายภาพและดิจิทัล สามารถทำความสะอาดจิตใจให้โล่งขึ้นได้ ให้สร้างช่วงเวลาสรุปงานที่ชัดเจนและลงมือทำมันอย่างจริงจังเหมือนกับการประชุมสำคัญที่คุณไม่ควรพลาด
3. เพิ่มความหลากหลายให้กับตัวตนของคุณ
สร้างความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองให้มากกว่าแค่มีชีวิตเพื่องาน เพราะงานของคุณคือสิ่งที่คุณทำ ไม่ใช่สิ่งที่คุณเป็น! วัยทำงานควรแสวงหาความสนใจอื่นๆ สิ่งที่ตัวเองชอบอื่นๆ นอกเหนือจากงาน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนปั้นหม้อ เรียนภาษาต่างประเทศ หรือเป็นอาสาสมัครให้กับท้องถิ่น ฯลฯ การมีตัวตนที่หลากหลายช่วยสร้างความยืดหยุ่นได้
4. ความรู้สึกเคียดแค้นเป็นสัญญาณเตือน ต้องระวัง
เมื่อคุณรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการชื่นชม ทั้งๆ ที่ทำได้มากกว่าคนอื่น นั่นไม่ใช่แค่ความหงุดหงิด แต่กำลังมีอารมณ์เคียดแค้น นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าคุณต้องให้ความสำคัญกับการสร้างขอบเขตของตัวเอง ใช้ความรู้สึกนี้เป็นแนวทางในการประเมินการมีส่วนร่วมในงานอีกครั้ง หากรู้สึกว่างานก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวมากไป ควรถอยออกมาและปรับขอบเขตงานใหม่
ในที่สุดแล้วควรจำไว้ว่า การรักษาขอบเขตทางอารมณ์ไม่ให้เอาใจลงไปในงานมากเกินไป จะช่วยที่ปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของคุณได้ และท้ายที่สุดก็จะนำมาสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นนั่นเอง