กินอย่างไรให้ถูกธาตุ

กินอย่างไรให้ถูกธาตุ

ร่างกายคนเรานั้นประกอบไปด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ แต่ละคนมีสัดส่วนของธาตุไม่เท่ากัน

ส่งผลให้มีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน ทว่าสิ่งที่ทุกคนมีเหมือนกัน คือ โครงสร้างของ ดิน น้ำ ลม ไฟ จะได้รับการควบคุมด้วยระบบและกลไก 3 ประการ คือ ปิตตะ (ระบบแห่งความร้อน) วาตะ (ระบบการเคลื่อนไหว) และ เสมหะ (ระบบการควบคุมสารเหลว)

ปิตตะ วาตะ เสมหะ ทางการแพทย์แผนไทยถือว่าเป็น ตรีโทษ ที่ดลบันดาลให้เกิดการเจ็บป่วยในร่างกาย

ตรีโทษ น่ากลัวจริงหรือ ? แล้วเราจะรับมือกับโทษ 3 ประการนี้ได้อย่างไร ไปหาคำตอบกันที่วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร

รู้จักเจ้าเรือน

ก่อนทำความรู้จักกับตรีโทษ อ.ชลาลัย โชคดีศรีจันทร์ แพทย์แผนไทยประยุกต์ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร บอกว่าจำเป็นต้องทำความรู้จักกับเจ้าเรือนก่อน

เจ้าเรือนคือหนึ่งวิธีทางการแพทย์แผนไทยที่ใช้เพื่อให้หมอเข้าใจคนไข้ เข้าใจความปกติของคนไข้แต่ละบุคคลเพื่อประกอบการวางแผนการรักษา การเข้าใจเจ้าเรือนนอกจากนําไปสู่การรักษาแล้ว ยังนําไปสู่การแนะนําการรับประทานอาหารด้วย หลายท่านอาจเคยได้ยินเรื่องการรับประทานอาหารตามธาตุ โดยกําหนดเป็นรส และยกตัวอย่างอาหารที่ควรรับประทาน แต่ในรายละเอียดที่ลึกไปกว่านั้นคือเจ้าเรือนไม่ได้บอกแค่ว่าให้เรารับประทานอะไร

แต่บอกลงไปถึงว่ารับประทานอย่างไร ได้มากน้อยแค่ไหน และเมื่อไรที่ควรหรือไม่ควรรับประทาน

ส่วนตรีโทษนั้น อ.ชลาลัยกล่าวว่า "ระบบปิตตะ วาตะ และเสมหะจะคุมทุกการทํางานในร่างกาย ถ้าทํางานสอดประสานกันได้อย่างลงตัวเราก็จะไม่มีอาการเจ็บป่วย แต่หากมีระบบใดระบบหนึ่งถูกกระทบจากพฤติกรรมสุขภาพที่ผิด เช่น การกิน การนอน ความเครียด หรือจากอุบัติเหตุ หรือเสื่อมไปตามอายุ จะทําให้ร่างกายเกิดความเจ็บป่วย เราจึงจัดหมวดหมู่ของปิตตะ วาตะ เสมหะ ว่าตรีโทษ คือสามสิ่งที่สามารถทําให้ร่างกายเกิดความเจ็บป่วยหรือเกิดโทษกับร่างกายได้"

ในส่วนของทางเดินอาหาร ปิตตะ วาตะ และ เสมหะ แบ่งงานกันทำ กล่าวคือ

ปิตตะ รับผิดชอบระบบการย่อยและการเผาผลาญอาหาร อันมีไฟย่อยเป็นหลัก

วาตะ ควบคุมการลำเลียง ขับเคลื่อนอาหาร ทั้งนำเข้าและขับออก ดูดซึมเข้าไปตามส่วนต่างๆของร่างกาย

เสมหะ ดูแลระบบการสะสม เติมเต็มของร่างกาย หรือ การห่อหุ้มให้สารอาหารนั้นดำรงอยู่เพื่อหล่อเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย

ค้นหาธาตุเจ้าเรือน

เมื่อรู้จักการทำงานของระบบทางเดินอาหารแล้ว คราวนี้เรามาดูกันสิว่า ธาตุเจ้าเรือนของแต่ละคนเป็นอย่างไร และ แต่ละธาตุจะกำหนดการกินการอยู่เช่นไร

การแพทย์แผนไทยแบ่งธาตุเจ้าเรือนออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ปิตตะ (ไฟ) วาตะ (ลม) และ เสมหะ (น้ำ) ส่วนดิน คือ โครงสร้างและร่างกาย อันได้แก่ กระดูก กล้ามเนื้อ ฯ

การค้นหาเรือนฐานของแต่ละคน แพทย์จะสอบถามวัน เดือน ปี เกิด ซักประวัติ และตรวจ เพื่อประเมินการรักษา ซึ่งจะได้ผลลัพธ์อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ดีการแพทย์แผนไทยได้อธิบายถึงบุคลิกลักษณะของบุคคลแต่ละเรือนธาตุเอาไว้ สำหรับผู้ที่ต้องการค้นหาว่าตนนั้นอยู่มีธาตุใดเป็นเจ้าเรือน พร้อมคำแนะนำในเรื่องการกินการอยู่และการออกกำลังกายที่เหมาะสม

ลองค้นดูว่าคุณอยู่ในธาตุใด

ธาตุเจ้าเรือนแบบ ปิตตะ (ไฟ)

คนธาตุไฟมักมีรูปร่างปานกลาง ผิวมัน แพ้ง่าย เส้นผมละเอียด มีระบบการย่อยอาหารและการเผาผลาญดูดซึมดี หิวบ่อย กินจุ ท้องเสียได้ง่าย จับตัวดูแล้วรู้สึกอุ่น

เป็นคนพูดเสียงดังฟังชัด กล้าหาญ สติปัญญาดี ทำอะไรมีจุดมุ่งหมาย มีความเป็นผู้นำ ชอบความท้าทาย เป็นนักวางแบบ ไม่เกรงกลัวอุปสรรค มีความรับผิดชอบ จริงจัง มีกฎเกณฑ์

อารมณ์ร้อน หงุดหงิดง่าย หลับง่าย ตื่นไว นานๆถึงจะฝันสักที

อาการเมื่อผิดปกติ มักเกิดจากความร้อน ทำให้เกิดการอักเสบ คอแห้ง ร้อนรุ่ม ทำให้เป็นโรคกระเพาะ ดีซ่าน

ข้อควรปฏิบัติ

-หลีกเลี่ยงอากาศร้อน หรือ การอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

-ควรอยู่ในสถานที่มีอากาศเย็นสบาย ถ่ายเทได้สะดวก สัมผัสใกล้ชิดกับธรรมชาติ เช่น ร่มไม้ แม่น้ำ

-ไม่ควรกินอาหารมัน ของทอด อาหารรสจัด รสเผ็ดร้อน เปรี้ยว และเค็ม

-ควรกินอาหารรสฝาด ขม จืด เย็น ควรกินอาหารที่ไม่ผ่านการปรุง เช่น ผักสด ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี ผักใบเขียว เช่น ผักบุ้ง แตงกวา คะน้า ตำลึง ไม่ควรกินผักที่มีรสร้อนและรสเปรี้ยว เช่น หน่อไม้ กุ้ยช่าย มะเขือเทศ รวมทั้งอาหารหมักดอง

-ผลไม้ที่เหมาะสมได้แก่ผลไม้รสหวานเย็น เช่น องุ่น ส้ม มังคุด แตงโม หลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานร้อน เช่น ขนุน ทุเรียน ลำไย

-หลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเบาๆในที่เย็นสบาย เช่น ว่ายน้ำ การฝึกสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออก เป็นวิธีที่จะช่วยผ่อนคลายให้กับคนใจร้อนอย่างธาตุไฟได้เป็นอย่างดี

ธาตุเจ้าเรือนแบบ วาตะ(ลม)

โดยทั่วไปมักมีรูปร่างผอม สูง น้ำหนักขึ้นยาก ผิวหนัง ผม ค่อนข้างหยาบ

ช่างพูด พูดเร็ว เดินเร็ว ไม่ชอบอยู่นิ่ง ช่างคิดช่างฝัน บางครั้งฟุ้งซ่าน นอนหลับยาก หลับไม่สนิท ฝันบ่อย ท้องผูกง่าย

เป็นคนตัดสินใจไม่เด็ดขาด มีความอดทนต่ำ ชอบการเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง ไม่ชอบทำอะไรซ้ำซาก ไม่ชอบกฎเกณฑ์ รักอิสระ ชอบเข้าสังคม นิยมความสนุกสนาน

อาการเมื่อผิดปกติ อ่อนเพลีย สั่น หมดแรง ปวดเมื่อย น้ำหนักลด ท้องผูก มึนงง นอนไม่หลับ

ข้อควรปฏิบัติ

-รักษาร่างกายให้อบอุ่นและชุ่มชื้น เช่น การใช้น้ำมันนวด หลีกเลี่ยงอากาศเย็น ไม่ควรดื่มน้ำเย็น

-ควรกินอาหารรสหวาน เปรี้ยว เค็ม อาหารที่ให้ความอบอุ่น เช่น หน่อไม้ มัน เผือก แครอท และอาหารที่ให้ความชุ่มชื้น จำพวกอาหารรสมัน เช่น ข้าวเจ้า ข้าวสาลี เมล็ดพืช ถั่ว งา อย่างเหมาะสม

-ควรกินอาหารประเภทต้ม นึ่ง อาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ผ่านการปรุง เช่นอาหารสด ดิบ

-ไม่ควรกินอาหารรสเผ็ดร้อนจัด ขม ฝาดปริมาณมากๆ ไม่ควรกินผักใบเขียว ผักกินใบ เช่น มะระ ผักบุ้ง กะหล่ำ

-ผลไม้ที่เหมาะสม ได้แก่ องุ่น สับปะรด กล้วยสุก ส้ม มะพร้าว ไม่ควรกินผลไม้ดิบและมีรสฝาด เช่น ฝรั่ง มะม่วงดิบ และผลไม้อบหรือตากแห้ง

-แนะนำให้ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ไม่เร่งรีบ ไม่ควรเล่นกีฬาหักโหม การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีจังหวะเป็นสิ่งที่เหมาะสม เช่น โยคะ วิ่งเหยาะ หรือ ฤาษีดัดตน

ธาตุเจ้าเรือนแบบ กผะ (เสมหะ/น้ำ)

คนธาตุน้ำผิวพรรณดี มีขนและผมดกดำเป็นเงา ข้อต่อกระชับ น้ำหนักขึ้นง่าย ลงยาก นอนหลับสนิท ทำให้นอนได้มาก เหงื่อออกน้อย ขัยถ่ายปกติ

นิสัยเป็นคนอดทน ใจเย็น น้ำเสียงไพเราะ พูดช้า ตัดสินใจช้า เคลื่อนไหวช้า ชอบอยู่นิ่งๆ เป็นนักปรองดองที่ดี เรียบง่าย เก็บอารมณ์เก่ง ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ตามที่ดี ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี อยู่ในกฎระเบียบ ไม่นอกกรอบ มีความเป็นมิตร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

อาการเมื่อผิดปกติ ซึมเซา เฉื่อย บวม ไอ นอนมาก รู้สึกหนักเนื้อหนักตัว

ข้อควรปฏิบัติ

-หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศเย็น ชื้น ควรอยู่ในที่มีอากาศอบอุ่น

-ควรกินอาหารรสเผ็ดร้อน ฝาด ขม เช่น พริก ขิง ข่า ตะไคร้ ดีปลี พริกไทย กะหล่ำ แครอท ผักบุ้ง มะระ เห็ด

-ไม่ควรกินอาหารรสเปรี้ยว เค็ม หวานมากน้ำ รวมถึงผักชุ่มน้ำ เช่น มันเทศ แตงกวา มะเขือเทศ รวมถึงผักดองต่างๆ

-หลีกเลี่ยงอาหารมัน ของทอด ไม่ควรกินธัญพืชและเนื้อสัตว์ในปริมาณมาก

-ไม่ควรกินผลไม้รสหวานจัด เช่น มะม่วงสุก ควรกินผลไม้รสหวานไม่มากและมีรสฝาด เช่น ทับทิม แอปเปิล ฝรั่ง

-ไม่ควรอยู่นิ่งๆ เฉยๆ การออกไปผจญภัย หากิจกรรมท้าทาย คือสิ่งที่ควรทำ เช่นเดียวกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ประเภทที่ต้องเคลื่อนไหวตัวเองมากๆ เช่น ฟุตบอล แบดมินตัน หรือ กิจกรรมกลางแจ้ง

อาหารสำหรับคนธาตุปิตะ หรือ ไฟ

ซุปพญายอ

ส่วนประกอบน้ำคั้นเสลดพังพอน1ถ้วย

เห็ดฟางหั่นบางๆ1ถ้วย

แป้งสาลีอเนกประสงค์ 2ช้อนโต๊ะ

น้ำสต๊อกไก่3ถ้วย

วิปปิ้งครีม เกลือ พริกไทยป่น

วิธีทำ-ตั้งกระทะใช้ไฟอ่อนๆใส่เนยลงไป 1 ช้อน พอเนยละลายใส่เห็ดลงไปผัดจนสุกแล้วใส่ถ้วยพักไว้

-ตั้งกระทะใช้ไฟอ่อนๆใส่เนย 2 ช้อนโต๊ะ แป้ง 2 ช้อนโต๊ะ ผัดให้เข้ากัน จากนั้นเทน้ำสต๊อกไก่ใส่ลงไป ตามด้วยน้ำคั้นเสลดพังพอน คนตลอดเวลาให้ทั่วจนแป้งสุกและซุปเริ่มข้น ชิมรสก่อนปรุงด้วยเกลือ พริกไทย

-เมื่อได้รสชาติตามต้องการแล้ว ปิดไฟยกลงจากเตา ก่อนเสิร์ฟใส่วิปปิ้งครีมลงไป ใส่ทีละน้อยคนให้เข้ากัน

-เตรียมเสิร์ฟด้วยการตักเห็ดที่ผัดไว้ใส่ลงในถ้วยแล้วเติมน้ำซุปลงไป

น้ำรากบัว-บัวบก

ส่วนประกอบรากบัว บัวบก เกสรบัว ใบเตย น้ำผึ้งมะนาว น้ำ 1 ลิตร

วิธีทำ-นำใบบัวบกและใบเตยมาล้างให้สะอาด นำไปปั่นแล้วคั้นเอาแต่น้ำ

-ต้มรากบัวและเกสรบัวในน้ำ 1 ลิตรจนเดือ

-นำน้ำคั้นบัวบกกับใบเตยมาผสมกับน้ำรากบัวและเกสรบัว คนจนเข้ากัน

-ปรุงรสด้วยน้ำผึ้งมะนาว คนให้ส่วนผสมละลายเข้ากัน ชิมรสตามชอบ

อาหารสำหรับธาตุวาตะ หรือ ลม

ซุปหัวหอม

ส่วนประกอบหอมหัวใหญ่ 1 กิโลกรัม

กระเทียม200กรัม

กระดูกหมู500กรัม

รากผักชี พริกไทยป่น เกลือ

วิธีทำ-ปอกเปลือกหอมใหญ่ กระเทียม นำไปล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นบางๆ

-นำกระดูกหมูไปเคี่ยว 15-20 นาที ใช้ไฟปานกลาง

-นำหอม กระเทียม รากผักชี ใส่ลงไปในหม้อ เคี่ยวไปเรื่อยๆ 30-40 นาที หรือ จนกว่าเนื้อจะเปื่อย

-ใส่พริกไทยป่น เกลือ ชิมรสตามชอบ ต้มต่ออีก 5 นาที แล้วตักใส่ถ้วยรับประทานได้

น้ำสะเลเต - บุนนาค

ส่วนผสมเหง้าสะเลเต ข่า ดอกบุนนาค น้ำตาล

วิธีทำ-ล้างเหง้าสะเลเต ข่า ให้สะอาด แล้วหั่นหรือทุบ

- นำไปต้มกับน้ำ 1 ลิตร พร้อมใส่ดอกบุนนาคลงไป 1 หยิบมือ ต้มกระทั่งน้ำเดือด

-ปรุงรสด้วยน้ำตาล ชิมรสตามชอบ

อาหารสำรับธาตุเสมหะ หรือ น้ำ

แกงเลียงผักรวม

ส่วนประกอบ กุ้งแห้ง50กรัม

กะปิ1ช้อนชา

กระชาย1ก้าน

หอมแดง3หัว

พริกไทย10เม็ด

น้ำซุปกระดูกหมู1ถ้วยซุป

น้ำตาลทราย ?ช้อนชา

ซีอิ๊วขาว1ช้อนโต๊ะ

น้ำปลา1ช้อนโต๊ะ

กุ้งสด4-5ตัว

ผักสดต่างๆได้แก่ หัวปลี บวบ เห็ดฟาง ตำลึง ใบแมงลัก ข้าวโพดอ่อน

วิธีทำ-เตรียมพริกแกง ด้วยการโขลกพริกไทยให้ละเอียด หั่นหอมแดงใส่ลงไป ตามด้วยกระชาย และกะปิ โขลกรวมกันให้ละเอียด ใส่กุ้งแห้งป่นและเกลือลงไปโขลกให้เข้ากัน

-นำน้ำซุปกระดูกหมูใส่หม้อตั้งไฟจนเดือด เครื่องแกงเลียงที่โขลกไว้ลงไปคนให้ละลาย ใส่กุ้งสด และผักตามลงไป

-ปรุงรสตามชอบ ดับไฟ โรยใบแมงลักก่อนเสิร์ฟ

ประโยชน์ ช่วนประสะน้ำนมสำหรับสตรีหลังคลอด แก้ไขหวัดได้

น้ำขิง-แมงลัก

ส่วนประกอบขิงแก่ น้ำตาลกรวดหรือน้ำตาลทรายแดง แมงลัก น้ำ 1 ลิตร

วิธีทำ - ล้างขิงแก่ให้สะอาด ทุบให้แตกใส่ลงในหม้อต้มกับน้ำ จนน้ำมีสีเข้มขึ้น และมีรสขิง

-ตักขิงและช้อนฟองออก ปรุงรสด้วยน้ำตาล

-รับประทานกับแมงลัก

ประโยชน์ ขับลม แก้จุกเสียด เพราะมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกระเพาะและลำไส้ได้ดี ทำให้การย่อยดีขึ้น เหมาะสำหรับธาตุเสมหะ ซึ่งเป็นคนเจ้าเนื้อ อ้วนง่าย การย่อยไม่ค่อยดี