Gregory Porter ความสุกฉ่ำของพลังเสียง
นับจากได้รับรางวัลแกรมมี่ เส้นทางชีวิตของเขาเจิดจรัสขึ้นทุกที เขาขยายอาณาจักรความสุนทรี ด้วยส่วนผสมทางดนตรีที่คลุกเคล้าอย่างรื่นรมย์
เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่มาตั้งแต่อัลบั้มชุดแรก (2010) ที่ออกกับสังกัดอิสระ ‘โมเทมา มิวสิค’ แต่พลาดไปให้แก่นักร้องรุ่นตำนาน ดีดี บริดจ์วอเตอร์ (Dee Dee Bridgewater) ทว่า ในที่สุด เกรกอรี พอร์เทอร์ (Gregory Porter) ก็คว้ารางวัลแกรมมี่ในสาขา ‘อัลบั้มเพลงร้องแจ๊สยอดเยี่ยม’ เป็นผลสำเร็จ เมื่อปี 2014 จากผลงานชุดที่ 3 ที่มีชื่อว่า Liquid Spirit
โดยพื้นฐานเดิม เกรกอรี พอร์เทอร์ มุ่งมั่นเอาดีทางด้านกีฬา เขาฝันจะเป็นนักอเมริกันฟุตบอล แต่ด้วยอุบัติเหตุบาดเจ็บที่หัวไหล่ตอนเรียนมัธยม ทำให้ต้องหันเหเส้นทางชีวิตเสียใหม่ จากเมืองเบเกอร์สฟีลด์ แคลิฟอร์เนีย วันหนึ่ง เขาย้ายมาอยู่บรู้คลิน นิวยอร์ด ช่วงปี 2004 โดยหาเลี้ยงชีพด้วยการเป็นพ่อครัว และบางครั้งรับงานร้องเพลงไปด้วย ค่อยๆ พัฒนาตัวเอง จนกระทั่งมีโอกาสได้ออกอัลบั้มสองชุดแรก กับค่ายเพลงอินดี้
นับจากได้รับรางวัลแกรมมี่ จากอัลบั้มที่ 3 เส้นทางชีวิตของเขาก็เจิดจรัสขึ้นทุกที ไม่เพียงในแวดวงแจ๊สเท่านั้น แต่หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบกว่าคนนี้ได้ขยายอาณาจักรความสุนทรีของเขาไปยังแวดวงดนตรีอื่นๆ อีกด้วย ด้วยส่วนผสมทางดนตรีที่คลุกเคล้าองค์ประกอบต่างๆ อย่างรื่นรมย์
ไม่เพียงในสหรัฐอเมริกาบ้านเกิด ในแวดวงดนตรีที่อังกฤษ นักร้องร่างหนา เกรกอรี พอร์เทอร์ เจ้าของลุคหมวกผ้า ‘แฟล็ทแก็ป’ ยังได้ขึ้นเวทีหลัก “ปิรามิด สเตจ” ของเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุด อย่าง ‘กลาสตันเบอร์รี’ เคียงข้างศิลปิน อย่าง อเดล, โคลด์เพลย์, มิวส์ และ เบ็ค มาแล้ว
เมื่อปีกลาย (2015) เกรกอรี ร่วมแต่งเพลงและทำเพลง กับ ดิสโคลสเชอร์ (Disclosure) ศิลปินแนวอิเล็กทรอนิกาจากอังกฤษ ผลลัพธ์ที่ออกมา คือเพลง Holding On ซึ่งกลายเป็นซิงเกิลนำในอัลบั้ม Caracal ของศิลปินอังกฤษรายนี้
ด้วยเสน่ห์เฉพาะตัวของเพลง Holding On เกรกอรี กับ คาโม เคนยัตตา (Kamau Kenyatta) โปรดิวเซอร์ จึงหยิบมาเป็นแทร็คเปิดตัวของอัลบั้มชุดที่ 4 ที่มีชื่อว่า Take Me to the Alley ผลงานปี 2016 ที่ออกกับค่าย ‘บลู โน้ต’
งานนี้ เขาปรับอะเรนจ์เมนต์ของเพลงเสียใหม่ ตั้งแต่ริธึ่มของเพลง การเปิดสเปซที่กว้างขึ้น เสียงทุ้มต่ำของเบสที่วอล์คไปตามเฟรสซิงของโมทิฟ เสียงคอร์ดจากเปียโน กับไลน์โซโลของมิวท์ทรัมเป็ต จากฝีมือของ เคยอน แฮร์โรลด์ (Keyon Harrold) มือทรัมเป็นรุ่นใหม่ ที่ฝากฝีมือไว้ในซาวด์แทร็คของหนังเรื่อง Miles Ahead
เหนืออื่นใด คือพลังของเสียงร้องที่มีไดนามิกในตัวเอง ทั้งหนักหน่วงในอารมณ์ และนุ่มนวลหมดจดอยู่ในที นี่กลายเป็นแทร็คที่สะกดคนฟังได้ในทันที
ในอัลบั้ม Take Me to the Alley มีมนต์เสน่ห์จากอดีตที่ฟื้นคืนกลับมาอย่างมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเป็นไลน์ออร์แกน จากฝีมือของ ออนเดรจ พิเวค (Ondrej Pivec) กับโซโล่แซ็กเนียนๆ ในเพลงโรแมนติก อย่าง Consequence of Love หรือจะเป็นบัลลาดที่กระเดียดไปทางอาร์แอนด์บี อย่าง Sanity โดยเฉพาะในเวอร์ชั่นร้องคู่ ระหว่าง เกรกอรี กับ ลาลาห์ แฮทธาเวย์ (Lalah Hathaway) ซึ่งน่าจะการจับ ‘คู่เอ็ท’ ที่งดงามที่สุดในช่วงทศวรรษนี้
หลายเพลงในอัลบั้ม สะท้อนถึงอิทธิพลของคุณแม่ของเกรกอรี แม่ของลูก 7 คน เธอเป็นนักบวชและนักกิจกรรมทางสังคม ตลอดจนถึงอิทธิพลที่ได้รับจากสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส เมื่อคราวเสด็จเยือนนครบิ๊กแอปเปิล (นิวยอร์ก ซิตี) ไม่ว่าจะเป็นไตเติลแทร็ค Take Me to the Alley ที่สุขุมลุ่มลึก หรือลีลาที่ขับเคลื่อนด้วยจิตวิญญาณแบบ ฮาร์ด บ็อพ ในเพลง Fan Flames ที่เชี่ยวกรากในกระแสสำนึก
นอกจากนี้ เกรกอรี ยังมีเพลงน่ารัก อย่าง More Than a Woman และ In Heaven ที่อุทิศให้แก่คุณแม่ที่จากไป ส่วน French African Queen เป็นบทเพลงที่มีเนื้อหาด้านสังคมการเมือง เกี่ยวข้องกับคลื่นการอพยพของฝูงชน บนจุดยืนทางความคิดที่ว่า “เรามาจากต้นไม้เดียวกัน” โดยภาคดนตรีของเพลงนี้ นำเสนอชีพจรเพลงที่หนักหน่วง เริ่มต้นด้วยโน้ตจากเสียงเบสที่รุกเร้า เสริมทัพด้วยกลุ่มฮอร์นเซ็คชั่น และพลังคอร์ดจากเปียโน บางบทตอนชวนให้นึกถึงภาษาทางดนตรีของ ชาร์ลส์ มิงกัสอีกด้วย
แม้เราจะคุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของ เกรกอรี ในฐานะนักร้องเสียงทุ้มนุ่มลึก ผู้ถ่ายทอดบทเพลงซึ้งๆ ได้อย่างถึงหัวจิตหัวใจ เช่น ในเพลง Don’t Be a Fool ที่ให้ความอิ่มล้ำในการฟัง แต่ในลีลาการร้องที่หลากหลาย เกรกอรีมีช่วงเสียงที่ค่อนข้างกว้าง สามารถปรับระดับการร้องได้อย่างน่าทึ่ง ดังปรากฏในเพลงกรู้ฟสนุกๆ อย่าง Don’t Lose Your Stream ที่แต่งร่วมกับลูกชายวัย 3 ขวบ ด้วยส่วนผสมของ แจ๊ส ร็อค โซล ที่ประสมประสานกันอย่างลงตัว
ในมุมมองส่วนตัวของผม การปรากฏขึ้นของ เกรกอรี พอร์เทอร์ กับผลงานทั้ง 4 อัลบั้ม นับจากปี 2010 เป็นต้นมา สร้างกระแสความสนใจในวงกว้างได้อย่างน่าทึ่ง เขาเป็นนักร้องแจ๊สที่มียอดอัลบั้มขายดีเป็นพิเศษ นับจากความสำเร็จของนักร้องแจ๊สอังกฤษ อย่าง เจมี คัลลัม เป็นต้นมา ทั้งหมดนี้อาจจะอธิบายได้ด้วย ‘อัตลักษณ์’ ที่ไม่เหมือนใคร
บางที ความสำเร็จของ เกรกอรี พอร์เทอร์ อาจตอบคำถามแก่ผู้คนบางส่วนได้บ้างกระมังว่า ทำไม ‘ผลไม้ป่า’ (wild fruit) จึงมีรสชาติถูกใจกว่า ‘ผลไม้สวน’ (farm fruit) แต่นั่นก็ยังเป็นเพียงสมมติฐาน ที่เราคงต้องหาคำตอบกันต่อไป