กาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ อีกทางเลือก' ฟื้นฟูป่า'!
งานวิจัยมหาวิทยาลัยดังในอังกฤษระบุ ประโยชน์ปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ช่วยอนุรักษ์ป่า เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ พ่วงคุณภาพด้านรสชาติกาแฟดีขึ้น
'การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่' (Shade-grown coffee) ไม่เพียงแต่ดีต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังดีต่อรายได้ของเกษตรกรชาวสวนอีกด้วย ถ้าลงลึกไปในรายละเอียดก็จะพบข้อดีอีกหลายประการด้วย เช่น เป็นกาแฟแนวเกษตรอินทรีย์จึงไม่มีการใช้สารเคมี, เป็นกาแฟที่มีคุณภาพทางรสชาติสูงเพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์และอยู่ภายใต้สภาพอากาศที่เย็น และเป็นกาแฟที่มีราคาสูงซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (อียู)
ยิ่งกว่านั้น ไร่กาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ยังมีส่วนช่วย 'ฟื้นฟู' ระบบนิเวศป่าธรรมชาติโดยเฉพาะป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญมาก ๆ ทั้งช่วยลดการ 'พังทลาย' ของหน้าดินโดยเฉพาะตามพื้นที่ลาดชันของยอดดอยต่าง ๆ ที่มักประสบปัญหาดินถล่มจากการถางป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว รวมไปถึงช่วยลด 'มลพิษ' ทางอากาศ เพราะไม่จำเป็นต้องเผาไร่ซ้ำซากกันทุกปีเหมือนปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างพวกข้าวโพดที่ก่อปัญหาเชิงสุขภาพตามมา เป็นต้น
นี่เป็น 'ข้อดี' ของการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ที่ผู้เขียนพอจะนึกภาพออกซึ่งอาจจะยังไม่ครบถ้วนรอบด้านนักในมิติทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม หลังจากที่ได้รับโจทย์ยากมากข้อหนึ่งจากคอกาแฟรุ่นน้องที่ตั้งคำถามแบบอินเทรนด์มาก ๆ ว่า "ถ้าอยากเลิกปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้วจะหันหน้าไปทำอะไรหรือทำไร่อะไรดี"
ผู้เขียนตอบกลับรุ่นน้องแบบไม่ลังเลเลยว่า "ถ้าเป็นพี่ จะเลือกทำสวนกาแฟแทนปลูกพืชเชิงเดี่ยว" แต่ขอเป็นสวนกาแฟออร์แกนิคที่ปลูกและเติบโตใต้ร่มเงาไม่ใหญ่ตามวิถี 'วนเกษตร' หรือไร่นาป่าผสม (Agro-forestry) นะ แม้จะให้ผลผลิตช้ากว่า แต่มั่นใจได้ในความยั่งยืน เก็บกินได้ในระยะยาว แบบที่เรียกกันว่าปลูกกาแฟเพื่ออนุรักษ์ป่า เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประมาณนั้นนั่นแหละ
การปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ให้ผลผลิตช้ากว่าไร่กาแฟแบบพืชเชิงเดี่ยว แต่มั่นใจได้ในความยั่งยืน เก็บกินผลผลิตได้ในระยะยาว (ภาพ : pexels.com/Jvalenciazz Jhon)
เพื่อป้องกันการสื่อสารที่ผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการสนทนา ผู้เขียนก็เลยย้ำชัดแบบเน้น ๆ ไปว่า ที่โปรยไอเดียไปให้นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะให้เข้าไปตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกกาแฟนะ หรือรุกเข้าไปปลูกในพื้นที่ป่าอนุรักษ์โดยไม่ได้รับอนุญาต นั่นมัน 'ผิดกฎหมาย' เห็น ๆ แต่ขอให้เอาพื้นที่เดิม ๆ นั่นแหละไปปรับปรุงฟื้นฟูให้เหมาะสมกับวิธีปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ เริ่มจากปลูกต้นกาแฟควบคู่ไปกับปลูกไม้พื้นถิ่นเพื่อความหลากหลายทางนิเวศ คัดเลือกไม้ที่ให้ร่มเงาในระดับที่แตกต่างกัน นอกจากกาแฟแล้วก็อาจปลูกพืชเกษตรกรอื่น ๆ เสริมด้วยก็ได้
แน่นอนว่าการทำสวนกาแฟก็ไม่ต่างไปการปลูกพืชเกษตรกรรมอื่น ๆ มีหลายปัญหาต้องเผชิญและแก้ไข ทั้งโรคพืช, ภัยธรรมชาติ และราคาตลาด เรื่องนี้ต้องศึกษาและวางแผนให้ดี เพราะแต่ละพื้นที่ มีสภาพแวดล้อมและสภาวะอากาศต่างกันออกไป
แล้วปกติต้นกาแฟจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี นับตั้งแต่ปลูกจนให้ผลผลิต แต่ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และพื้นที่สภาพแวดล้อมที่เพาะปลูกด้วย ถ้ามีงบประมาณน้อย ก็เริ่มลงมือปลูกแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำพร้อม ๆ กันทั้ง 'ปลูกกาแฟ' และ 'ปลูกป่า' การหาจุดสมดุลในการบริหารจัดการ คนทำสวนคนทำไร่จะเข้าใจดีที่สุด
ในส่วนสายพันธุ์กาแฟ ก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับระดับความสูงของพื้นที่ปลูก ส่วนใหญ่กาแฟ 'อาราบิก้า' ปลูกบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ขึ้นไป ลองปลูกหลาย ๆ สายพันธุ์ นอกเหนือจากพันธุ์สามัญประจำดอยอย่าง คาติมอร์, ทิปปิก้า, คาทูร่า และเบอร์บอน แล้ว ตัวท็อป ๆ ดัง ๆ เป็นที่ต้องการของตลาด ก็ควรมีไว้ แต่อาจจะหาต้นกล้ายากสักหน่อย กาแฟ 'โรบัสต้า' บนที่สูงก็ไม่ธรรมดา ให้รสชาติดีทีเดียว ราคาก็ดีด้วย กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทุกขณะ
กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ มีประโยชน์หลายด้าน ช่วยอนุรักษ์ป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ลดปัญหาหน้าดินพังทลาย ลดการใช้สารเคมี (ภาพ : commons.wikimedia.org/John Blake)
แล้วยุคนี้ชาวไร่ชาวสวนส่วนใหญ่ปลูกเอง, ผลิตเอง, แปรรูปเอง, คั่วเอง และขายเองกันหมดแล้ว ใช้โซเชียลมีเดียที่เล่นอยู่ทุกวันนั่นแหละทำการตลาด ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง องค์กรความรู้ด้านวิธีโพรเซสและการคั่วรูปแบบต่าง ๆ ก็มีให้เรียนรู้และค้นคว้ามากมาย ถ้าทำกาแฟออกมาดีจริง รับรองมีคนอยาก 'ผูกปิ่นโต' เหมาซื้อทั้งไร่ล่วงหน้ากันเป็นปี ๆ ทีเดียว
กาแฟเหล่านี้ถ้าผลิตอย่างพิถีพิถันในรูป 'กาแฟพิเศษ' (Specialty coffee) ราคาขายก็จะสูงกว่าราคากาแฟทั่วไป นอกจากนั้นยังต่อยอดได้อีก ด้วยส่งสารกาแฟเข้าประกวดตามเวทีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นบ่อย ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่แน่ว่าถ้าได้คะแนนคัปปิ้งสกอร์สูง ๆ ติดแรงกิ้งต้น ๆ ราคาก็จะพุ่งขึ้นอีกหลายเท่าตัว ไม่ต้องถึงหลัก 3-4 แสนบาทต่อกิโลกรัม อย่างปานามา เกสชา/เกอิชา หรอก แค่ 2-3 หมื่นบาทต่อกิโลกรัม ก็ดีใจน้ำตาไหล เหมือนถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่เข้าแล้ว
เอ...ไม่แน่ใจว่ารุ่นน้องคอกาแฟเจ้าของโจทย์ยากโจทย์ใหญ่ในวันนี้ จะมองว่าผู้เขียนพูดจาอะไรเรื่อยเปื่อยไปหรือเปล่า หลักฐานสนับสนุนแนวทางแนวคิดก็ไม่เห็นจะมีสักอย่าง จึงจำเป็นต้องเข้าไปค้นหาหลักฐานประกอบการพิจารณาในโลกอินเตอร์เน็ต ไปเจองานวิจัยฝีมือคนไทยเพียบเลย งานของนักวิจัยต่างชาติก็มาก
แต่ที่เห็นแล้วอยากนำเสนอให้รุ่นน้องและท่านผู้อ่านรับรู้ คือ งานวิจัยในหัวข้อ 'ผลกระทบของร่มเงาไม้ต่อความหลากหลายทางชีวภาพภายในไร่กาแฟ: การวิเคราะห์อภิมาน' จากมหาวิทยาลัย 'ออกซ์ฟอร์ด บรูกส์' (Oxford Brookes) ในประเทศอังกฤษ
การผลิตกาแฟตามแบบพืชเชิงเดี่ยวเรียงเป็นแถว ๆ เสี่ยงต่อการพังทลายของดิน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ตามไหลเขาสูงชัน (ภาพ : commons.wikimedia.org/José Reynaldo da Fonseca)
ก่อนอื่นขออนุญาตอธิบายความหมายกันนิดนึง เพราะผู้เขียนเองก็งงเหมือนกันว่า 'การวิเคราะห์อภิมาน' คืออะไร แล้วทำกันอย่างไร
การวิเคราะห์อภิมานหรือ meta-analysis เป็นวิธีการสังเคราะห์งานวิจัยเชิงปริมาณแบบหนึ่ง มีเป้าหมายเพื่อหาข้อสรุปอย่างเป็นระบบ จากงานวิจัยที่ศึกษาปัญหาวิจัยเดียวกัน โดยใช้รายละเอียดจากงานวิจัยและผลวิจัยเป็นข้อมูล
ดังนั้น เมื่อเป็นงานวิจัยเชิงการวิเคราะห์อภิมาน ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บรูกส์ จึงเริ่มต้นด้วยการค้นหา 'คำที่เป็นคีย์เวิร์ด' ในงานวิจัยทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบของร่มเงาไม้ต่อความหลากหลายทางชีวภาพในไร่กาแฟที่มีมากถึง 1,900 ฉบับ จากนั้นจึงคัดเลือกให้เหลือ 69 ฉบับ เพื่อดำเนินการประมวลผลหาข้อสรุปต่อไป
ผลการวิจัยดังกล่าวมีการเผยแพร่ตามเว็บไซต์วิชาการหลายแห่งเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง ได้ข้อสรุปว่า กาแฟมีศักยภาพสูง 'เป็นพิเศษ' ในการผสานผสาน 3 สิ่งเข้าด้วยกัน คือ การอนุรักษ์ป่า, ความหลากหลายทางชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตร นอกจากนั้น ยังลงรายละเอียดเจาะลึกว่าการอนุรักษ์ป่าและเกษตรกรรม ต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้อย่างไร
มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด บรูกส์ ในอังกฤษ ทำวิจัยในหัวข้อ ผลกระทบของร่มเงาไม้ต่อความหลากหลายทางชีวภาพภายในไร่กาแฟ (ภาพ : Francisco Corado Rivera จาก Pixabay)
ทีมวิจัยชุดนี้มีผลงานเข้าไปทำโครงการหนึ่งในเกาะชวาของอินโดนีเซีย ชื่อโครงการว่า "ร่มเงาไม้ใหญ่กับความอยู่รอดของสัตว์หากินกลางคืน"
ผู้อ่านท่านใดสนใจฉบับเต็มของงานวิจัยเรื่องประโยชน์ของไร่กาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่กับการอนุรักษ์ป่า สามารถเข้าไปดาวน์โหลดมาอ่านได้ที่เว็บไซต์ www.sciencedirect.com แต่เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ละเอียดและยาวมาก ผู้เขียนยอมรับอ่านไม่ไหวจริง ๆ เลยขออนุญาตหยิบไฮไลต์ของงานวิจัยที่มีหลายเว็บไซต์สรุปไว้ให้มาเล่าสู่กันฟัง ขอขอบคุณเว็บไซต์เหล่านี้มา ณ ทีนี้ด้วย
- ต้นกาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ซึ่งมีร่มเงามากกว่า 30% ขึ้นไป ก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น ช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าจากภาคเกษตรกรรม
- กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มคุณภาพกาแฟ แต่ยังเสริมความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ควบคุมศัตรูพืชตามธรรมชาติ และลดการใช้สารเคมี
กาแฟมีศักยภาพสูงมากในการผสมผสาน 3 สิ่งเข้าด้วยกัน คือ การอนุรักษ์ป่า, ความหลากหลายทางชีวภาพ และผลผลิตทางการเกษตร (ภาพ : .pexels.com/Thủy Papaya)
- แมลง, นก, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพืชอิงอาศัย จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากร่มเงาของต้นไม้สูง
- การปกป้องสายพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เช่น แมลงผสมเกสร ช่วยรักษาแหล่งอาหารของโลก ขณะเดียวกันก็สนับสนุนระบบนิเวศที่สมบูรณ์และหลากหลาย
- หัวใจของการอนุรักษ์ป่าอยู่ที่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ควบคู่ไปกับความหลากหลายทางชีวภาพ
- ความหลากหลายทางชีวภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไร่กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ของละตินอเมริกา ตรงกันข้ามกับไร่กาแฟบางส่วนในแอฟริกา
- ประโยชน์ของกาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ดังนั้น แผนอนุรักษ์ป่าผ่านการปลูกกาแฟจึงต้องออกแบบให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่นั้นๆ
- เกษตรกรรมเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อทั้งสัตว์และพืช แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงดูโลก ดังนั้น การหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพทั้งการผลิตอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงถือเป็นแนวทางที่ win-win สำหรับทุกสายพันธุ์
- การผสานเกษตรกรรมเข้ากับแนวคิดริเริ่มในการอนุรักษ์ผ่านทางภาคปฏิบัติ เช่น กาแฟที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาะระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ไว้ได้
การผลิตกาแฟแบบพิเศษ นอกจากราคาขายสูงกว่ากาแฟทั่วไปแล้ว ยังเพิ่มมูลค่าได้ด้วยการส่งเข้าประกวดตามเวทีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี (ภาพ : Avery Evans on Unsplash)
ข้อสรุปของงานวิจัยก็ชัดเจนดีนะครับ 'หัวใจ' ของการอนุรักษ์ป่าตอนนี้ อยู่ที่วิธีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่ไม่ได้หมายถึงปริมาณแต่คือความยั่งยืนในการผลิต ซึ่งอยู่ร่วมควบคู่ไปกับความหลากหลายทางชีวภาพ
พอแตะไปถึงเรื่อง 'กาแฟกับป่า' จะบังเอิญหรือเปล่าไม่ทราบ บทสรุปนี้ดันไปเชื่อมโยงเข้าอย่างมีนัยสำคัญต่อธุรกิจกาแฟในยุโรป รวมไปอุตสาหกรรมกาแฟทั่วโลกด้วย หลังจากอียูเตรียมออกระบบระเบียบใหม่ ห้ามนำเข้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) ซึ่งกาแฟก็ติดโผสินค้าส่อโดนแบนด้วยเช่นกัน เป้าหมายของกฎหมายฉบับนี้อยู่ที่ความยั่งยืนของโลกและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
เดิมอียูมีแผนจะเริ่มประกาศใช้ในสิ้นปี 2024 นี้ แต่ดูเหมือนจำเป็นต้องเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีกหนึ่งปี หลังโดนกดดันหนักจากบริษัทค้ากาแฟรายใหญ่ ๆ เข้า
การช่วยกันรักษาป่าโดยเฉพาะป่าต้นน้ำและป่าชุมชน หรือเปลี่ยนภูเขาหัวโล้นให้เป็นป่าตามวิถีวนเกษตรหรือไร่นาป่าผสม นอกจากต้องมีจิตใจอนุรักษ์เป็นทุนเดิมแล้ว ก็ควรมีแรงจูงใจด้านรายได้เข้ามาเสริมด้วย อย่างการปลูกกาแฟใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกฟื้นฟูป่าธรรมชาติ มีประโยชน์สองทาง ทั้งการสร้างป่าและสร้างรายได้
บอกเลยว่าใครดื่มกาแฟจากสวนหรือไร่ที่ปลูกใต้ร่มเงาไม้ ใจผู้เขียนถือว่ามีส่วนช่วยสร้างป่า สร้างรายได้ให้กับชุมชนคนรักษ์ป่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้เมืองไทยเรานั่นเอง
.......................
เขียนโดย : ชาลี วาระดี