นิคมฯใหม่มาเลย์เน้นดึงดูดเม็ดเงินลงทุนญี่ปุ่น

นิคมฯใหม่มาเลย์เน้นดึงดูดเม็ดเงินลงทุนญี่ปุ่น

กลุ่มทุนญี่ปุ่นบุกตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ของมาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลกัวลาลัมเปอร์หวังเพิ่มผลิตภาพให้กับภาคการผลิตของประเทศ

เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานวานนี้ (11 มิ.ย.) ว่า นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในรัฐมะละกา ทางภาคใต้ของมาเลเซีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เปิดทำการแล้วเมื่อวันจันทร์ (10 มิ.ย.) พร้อมกับโรงงานแห่งใหม่ของบริษัทญี่ปุ่นอย่าง “โคนิก้า มินอลต้า” ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์และ “คามิกูมิ” ผู้ดำเนินการท่าเรือ

ทั้ง 2 บริษัทเป็นหนึ่งในผู้เช่าพื้นที่ 8รายแรกในนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวชื่อว่า “ศูนย์อุตสาหกรรมอัจฉริยะ” (เอสไอซี) ซึ่งถูกออกแบบเพื่อให้บริษัทต่าง ๆ ใช้คลังสินค้าและแบ่งปันข้อมูลอื่น ๆ ร่วมกับบรรดาซัพพลายเออร์ท้องถิ่น นอกจากนั้นยังมีการดำเนินงานโลจิสติกส์ภายในนิคมฯ เพื่อประหยัดต้นทุนเพิ่มขึ้น

“เพซสตาร์ อินดัสทรีส์” ผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะของมาเลเซียก็เป็นหนึ่งในผู้เช่าพื้นที่กลุ่มแรกในเอสไอซีเช่นกัน

รายงานระบุว่า บริษัทอีก 5 รายจะเข้ามาตั้งโรงงานในศูนย์เอสไอซี ซึ่งจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าเป็นประมาณ 2.7 แสนตร.ม. ภายในปลายปี 2563 คาดว่ามูลค่าการลงทุนทั้งหมดในเอสไอซีจะอยู่ที่ 600 ล้านริงกิต

นายกรัฐมนตรีมหาธีร์ โมฮัมหมัด ผู้นำมาเลเซีย ซึ่งไปร่วมพิธีเปิดนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ระบุว่า นโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาลชุดนี้มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นห่วงโซ่มูลค่าการผลิตของประเทศ ด้วยการเสริมทักษะด้านระบบอัตโนมัติและทักษะอื่น ๆ จากบรรดาบริษัทข้ามชาติ

เหล่าผู้ผลิตรถและผู้ผลิตด้านอื่น ๆของญี่ปุ่น ได้นำกลยุทธ์การลดต้นทุนในการจัดการคลังสินค้าที่ผลิตตามปริมาณความต้องการของลูกค้า มาใช้กับประเทศปลายทางต่าง ๆ ทั่วเอเชีย ซึ่งทุนญี่ปุ่นได้เข้ามาลงทุนสร้างโรงงานไว้แล้ว

ขณะที่โคนิก้า มินอลต้าตั้งเป้าที่จะใช้ประโยชน์จากกระแสข้อมูลร่วมกับซัพพลายเออร์ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่นี้

“เราหวังที่จะริเริ่มรูปแบบการผลิตใหม่ในมาเลเซีย และถ่ายทอดโนว์ฮาวนั้นไปยังญี่ปุ่นและจีน” อัตสึโอะ ทาเคโมโตะ เจ้าหน้าที่บริหารของโคนิก้า มินอลต้า เผยกับสื่อท้องถิ่น

โคนิก้า มินอลต้าจะแบ่งปันทักษะการเพิ่มผลผลิตให้กับบรรดาซัพพลายเออร์ท้องถิ่น ที่กำลังหาทางพึ่งผลประโยชน์จากการลดต้นทุนและการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์

ขณะที่คามิกูมิ หนึ่งกลุ่มโลจิสติกส์ชั้นนำของญี่ปุ่นซึ่งดำเนินการศูนย์พักตู้คอนเทนเนอร์ที่ท่าเรือกรุงโตเกียวและเมืองโกเบ จะให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่นิคมอุตสาหกรรมมะละกาแห่งนี้